กรุงเทพธุรกิจ
3 มิถุนายน 2549 20:43 น.
ถือเป็นความยุ่งเหยิง ซับซ้อนในการโต้แย้งปมกฎหมายที่แก้ไม่ตกง่ายๆ โดยมีเหตุจาก กกต.ชุดนี้โดยแท้ ที่หลายคนเฝ้ารอการตัดสินใจปลดระเบิดเวลาด้วยตัวเอง ยอมไขกุญแจปลดล็อกทางตันได้หรือยัง
* ประชุม ประทีป
------------------
หลังจาก นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา มีหนังสือชี้แจงเหตุผล มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่สรรหา 2 กกต.แทนตำแหน่งที่ว่าง ตามที่ นายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
เป็นคำชี้แจงแถลงเหตุผล ที่มีสาระสำคัญว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับ กกต.ชุดเดิมที่เหลืออยู่ 3 คน เพราะเห็นว่าไม่มีความชอบธรรม เป็นกลาง เป็นที่ประจักษ์อีกต่อไป พร้อมแนะนำให้ 3 กกต. ลาออก
โดยสาระสำคัญระบุว่า "...ในการพิจารณาดังกล่าวที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และนำมาซึ่งความผาสุกของอาณาประชาราษฎร ทั้งต้องคำนึงถึงพันธกิจของผู้พิพากษาและตุลาการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏในคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 252 ว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ ดังนั้น เมื่อปัจจุบันประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง ประชาชนแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน มีผลกระทบกระเทือนต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความผาสุกของอาณาประชาราษฎรอย่างรุนแรง จึงนับเป็นสถานการณ์พิเศษ ที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องพิจารณาด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยมองผลที่จะตามมาในอนาคตด้วย"
"..อนึ่ง เมื่อครั้งที่นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี กกต.ถึงแก่อนิจกรรม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาสรรหาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา138 (2) และเสนอชื่อนายเกษม วีรวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้สมควรเป็น กกต.ต่อประธานวุฒิสภา เมื่อ24 พ.ย.2548 แต่ประธานวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการสรรหาตามมาตรา138 (1) ได้ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหา กกต.ไม่ครบองค์ประกอบ กระทั่งครบกำหนด 30 วัน ประธานวุฒิสภาพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่อาจดำเนินการสรรหาตามมาตรา 138 (3) ได้ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามหนังสือวุฒิสภา
"...จนถึงบัดนี้วุฒิสภายังไม่สามารถดำเนินการเลือก กกต.ในกรณีดังกล่าว และยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นายเกษม วีรวงศ์ ก็ได้ถอนตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2549 ยิ่งกว่านั้น ขณะนี้มีปัญหาข้อขัดข้องเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อผู้แทนพรรคการเมืองให้เลือกกันเองเหลือสี่คน คณะกรรมการสรรหา กกต.ตามมาตรา138 (1) จึงไม่อาจครบองค์ประกอบได้ เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเสนอชื่อผู้สมควรเป็น กกต.อีก ก็จะประสบปัญหาเช่นเดิมซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข"
"..เมื่อการสรรหาตามมาตรา 138 (1) และ (3) ไม่อาจดำเนินการได้ตามที่ประธานวุฒิสภา เคยให้ความเห็นไว้เช่นนั้นแล้ว การสรรหาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามมาตรา138 (2) ก็ไม่มีประโยชน์ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (2) จนกว่าจะไม่มี กกต.เหลืออยู่ทำหน้าที่ต่อไป จึงจะสามารถนำมาตรา138 (3) มาใช้โดยอนุโลม เพื่อแก้ปัญหาสุญญากาศทางการเมืองให้แก่ประเทศ"
นับเป็นการย้อนศร"สุชน" ที่ทำไว้เป็นดับเบิ้ลสแตนดาร์ดนั่นเอง ซึ่งต่อมา เขาได้ให้สัญญาณ"ไอ้เสือถอย" ยุติการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อสรรหา กกต.
แต่ฝุ่นวิพากษ์วิจารณ์กลับตรลบขึ้นในแวดวงนักนิติศาสตร์เป็นด้านหลัก โดยหาว่าศาลฎีกาล้ำเส้น และชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะพิจารณารับคำร้องของ ส.ว.35 คนที่เข้าชื่อเสนอผ่านรักษาการประธานรัฐสภา(สุชน) เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้ กกต.พ้นจากตำแหน่งโดยเร็ว เนื่องจากขาดคุณสมบัติไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง และขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136
ขณะที่ อีกหลายคดี ที่ระดมใส่ กกต. ซึ่งแม้กระบวนการทางศาลจะนาน แต่ก็น่าหวาดเสียว...หวาดเสียวที่หากดื้อดึงต่อไป ความขัดแย้งทางสังคมก็จะไม่จบสิ้น
โดยเฉพาะ กกต.เป็นจำเลยในคดีไม่ดำเนินการสอบสวนการว่าจ้างพรรคเล็กจัดคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งศาลอาญาจะไต่สวนนัดที่สอง 5 มิ.ย.นี้ หากมีความผิดจริง ไม่เพียง กกต.จะต้องถูกจำคุก แต่ยังชิ่งไปถึงพรรคไทยรักไทยให้มีผลอาจถึงขั้นยุบพรรคอีกด้วย แม้ว่าจะต้องสู้ถึงที่สุดไปถึงชั้นศาลฎีกา นี่ยังไม่นับถึงคดีอื่นที่ข้อหาฉกรรจ์ไม่แพ้กัน
ซึ่งมองเป้าประสงค์ของศาลแล้ว ไม่ต้องการแตะไปที่พ.ต.ท.ทักษิณ ดังที่ศาลปกครองกลาง ไม่รับคดีที่ "การุณ ใสงาม" และตัวแทนพีเน็ต ยื่นฟ้องเอาผิดต่อคณะรัฐมนตรี และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โยนให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ศาลต้องการล้างไพ่ กกต.ใหม่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นให้ถูกครรลอง ด้วยการสรรหา กกต.ชุดใหม่ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ซึ่งได้เวลาที่ กกต.จะยอมเสียสละกู้ระเบิดการเมือง ปลดล็อกประตูทางตันได้แล้ว
ส่วนความซับซ้อน ยุ่งเหยิงในการตีความข้อกฎหมายเข้าข้างตัวเองตลอดห้วงสถานการณ์นี้ ถือเป็นสถานการณ์พิเศษจริงๆ
เป็นการเกิดสันดาปทางความคิด สันดาปของสังคม ที่น่าจะถือโอกาสเป็นบทเรียน เพื่อปฏิรูปวางรากฐาน "นิติรัฐ" กันเพิ่มเติมใหม่ไปพร้อมกันด้วย