มติชน
บทนำมติชน
ยังไม่ทีท่าจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3 คนอันประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ว่าจะน้อมรับมติของที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้เสียสละเพื่อชาติด้วยการลาออกจากตำแหน่ง กกต.
ทั้งนี้ 72 เสียงของผู้พิพากษาของศาลฎีกาอันเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้ลงมติ ไม่รับพิจารณาข้อเสนอของนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ต้องการให้ศาลฎีกาเสนอรายชื่อบุคคลรวม 4 คนไปให้วุฒิสภาพิจารณาเพื่อคัดเลือกไว้เพียง 2 คนสำหรับการเข้าไปสมทบกับ กกต.ปัจจุบัน 3 คนจะได้มีครบ 5 คน มีผู้พิพากษาเพียง 4 เสียงเท่านั้นที่เห็นว่าควรดำเนินการสรรหาตามที่นายสุชนเสนอมา และ 6 คน งดออกเสียง
คล้ายกับทางตันของวิกฤตการเมืองจะยังคงถูกปิดตายอยู่เหมือนเดิม เมื่อ กกต.3 คนยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับท่าทีของผู้พิพาษาศาลในศาลฎีกาอันเป็นศาลสูงสุดของศาลยุติธรรมซึ่งใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางสถาบันตุลาการ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาประมุขของศาลยุติธรรม (ประธานศาลฎีกา) ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลรัฐธรรมนูญเคยมีความเห็นร่วมกันหลังจากประชุมปรึกษาหารือกันแล้วว่า กกต.ควรเสียสละลาออกจากตำแหน่ง แต่มีเพียง พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ คนเดียวที่ตอบรับด้วยการลาออก ส่วนอีก 3 คนที่เหลืออยู่ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป
ในขณะที่กาลเวลาล่วงผ่านไปแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ จนล่วงเข้าเป็นเดือน การเมืองไทยก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องราวเก่าๆ ที่ปัญหาใจกลาง อยู่ตรงที่ กกต.3 คนไม่ได้แสดงอาการสะทกสะท้านที่จะต้องเห็นความสับสน ปั่นป่วน วุ่นวายหากการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไปจะต้องล้มครืนลงอีกครั้งด้วยเหตุแห่งการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เกิดความไม่สุจริตและเที่ยงธรรมขึ้น และ กกต.ขาดความเป็นกลาง ไร้ประสิทธิภาพในการจัดและควบคุมการเลือกตั้ง ไหนจะต้องเสียเงินจัดการเลือกตั้งอีก 2,000 กว่าล้านบาท ไหนจะทำลายความศรัทธาเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบต่างๆ และสถาบันสำคัญของบ้านเมือง ไหนจะฉุดโอกาสที่ประเทศควรจะตั้งหลักและก้าวเดินไปข้างหน้าเสียที
การเป็น กกต.ของ พล.ต.อ.วาสนา นายปริญญา และนายวีระชัย การเป็นประธานวุฒิสภาของนายสุชน หาได้ทำให้บุคคลเหล่านี้มีอำนาจทำอะไรได้ แม้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอาจจะบัญญัติไว้ สิ่งสำคัญที่นอกเหนือไปกว่าตัวบทกฎหมายก็คือความชอบธรรม ในเมื่อสถาบันศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา ผู้รักประชาธิปไตย ฯลฯ ต่างเรียกร้องให้ กกต.ลาออกเพื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะได้เริ่มต้นดำเนินการสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 วงเล็บ 3 เพื่อจะเสนอให้วุฒิสภาคัดเลือก กกต.จากที่เสนอ 10 คนให้เหลือ 5 คน โดยที่นายสุชนก็ขานรับดำเนินการโดยมิได้คำนึงถึงกระแสเสียงจากสังคมและเจตนารมณ์ของประมุข 3 คน ดังนั้น หากเกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองขึ้นจากการดันทุรังต่อไปเช่นนี้ กกต. และนายสุชนจะต้องรับผิดชอบ
การรับผิดชอบทางกฎหมายที่มีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญานั้นเป็นแนวทางที่พอจะหวังพึงพิงได้ในยามบ้านเมืองประสบภาวะวิกฤต โทษทัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นการจำคุกหรือการปรับเป็นเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายก็ยังไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าจะเป็นอย่างไร จะเป็นธรรมหรือไม่ แต่ กกต.ทั้ง 3 คน รวมถึงนายสุชนควรจะทบทวนอีกครั้งว่า การดำรงตำแหน่งที่ขาดการยอมรับและจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ภาวะวิกฤตรอบสองเป็นสิ่งที่คุ้มกันหรือไม่ ยังไม่สายเกินไปที่จะลาออกเสียในวันนี้ พรุ่งนี้ นานไปกว่านี้อาจจะต้องเสียใจและหาคนเห็นใจไม่ได้ เพราะถือว่าได้แนะนำด้วยความปรารถนาดีมาจากฝ่ายต่างๆ หลายครั้งหลายหนแล้ว