“อัมมาร”ชี้รัฐบาลนอมินีไม่มีนโยบายเชิงรุก ชี้ธปท.ไม่ทำหน้าที่ตัวเองในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ พร้อมให้คะแนนรัฐบาลสอบตกการแก้ไขปัญหาราคาข้าว “ปรีดิยาธร”ไม่เห็นด้วยนโยบายแจกคูปอง สอดคล้องกับ“ศ.รังสรรค์”ที่ระบุว่า รัฐจะใช้นโยบายดังกล่าวหาเสียงในอนาคต
(14มิ.ย.)คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจรัฐบาล" ในโอกาสเตรียมการฉลองครบรอบ 60 ปี โดยได้เชิญนักวิชาการเข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ดร.อัมมาร สยามวาลา รักษาการประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธปท.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีรศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.อัมมารกล่าวว่า การเข้ามาของรัฐบาลนี้ เหมือนกับการเป็นนอมินี หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นนอมิเนเตอร์ ทางการเมือง ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนในการเข้ามาสู้คดีในเวทีต่างๆให้พ้นจากศาลและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็เป็นเป้าหมายชัดเจน และทุกคนก็สมัครสมานสามัคคีในการทำงานด้านนี้ ฉะนั้น รัฐบาลก็มีเวลาน้อยในช่วงแรกในการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ และการดำเนินนโยบายส่วนใหญ่ก็เป็นการสานต่อนโยบายรัฐบาลเดิมและลบล้างทุกอย่างที่รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำไว้
“เมื่อไม่มีจุดหมายที่ชัดเจนและไม่มีเวลาออกแบบระบบเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาก็คือ รัฐบาลก็ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ ขณะที่ รัฐบาลก็เผชิญกับปัญหารุมเร้าเศรษฐกิจไทย การทำงานของรัฐบาลก็เลยเหมือนกับรัฐบาลเลือกตั้งก่อนๆ คือ เป็นรัฐบาลปฏิกิริยา ไม่ได้มีนโยบายเชิงรุก แต่เป็นนโยบายเชิงรับ”เขากล่าว
เขากล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของไทย เป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เพราะปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เป็นปัญหาระดับมหภาค แต่คนที่เข้ามาแก้ไขปัญหาของไทยเป็นระดับจุลภาค ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแล กลายเป็นผู้พยากรณ์และสังเกตการณ์ และเมื่อครั้งที่อัตราเงินเฟ้อไม่มีปัญหา ก็ตีฆ้องร้องป่าวว่าเป็นหน้าที่ของธปท.ในการดูแล แต่ตอนนี้ มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ธปท.หายไปไหน เวลาสัมภาษณ์ก็ทำหน้าที่เป็นผู้พยากรณ์ และบอกด้วยว่า ปีหน้าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อเป็นเลขสองหลัก ทำให้ไม่เข้าใจในหน้าที่ของธปท. และเห็นว่า ธปท.หน่อมแน้มเกินไปในการเข้ามาดูแลอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้
ส่วนที่รัฐบาลมีบทบาทจริงๆคือ นโยบายเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลได้บทเรียนมาจากรัฐบาลไทยรักไทย คือ การเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร และต้องใช้เวลากว่าจะล้างหนี้สินกันหมด ซึ่งก็ขอให้คะแนนในการทำงานด้านนี้ เป็น B- หรือพอใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่เข้าใจในท่าทีของรัฐบาลเกี่ยวกับการที่ให้ปตท.ลดราคาน้ำมัน ซึ่งถือว่า กำลังขูดรีดผู้ถือหุ้นรายเล็ก ส่วนนโยบายข้าวนั้น ขอให้คะแนนFหรือสอบตก เพราะยังมีความสับสนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรกันแน่ โดยเฉพาะเรื่องของการขายข้าวให้ต่างประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกไม่แน่ใจในนโยบาย แต่ก็มีข้อดีของนโยบายคือ ไม่มีการจำกัดการส่งออก
เขากล่าวว่า ปัญหาโลกาภิวัตน์ได้กระทบถึงการกระจายรายได้ ส่วนนโยบายในการกระจายรายได้ของรัฐบาลนั้น ขอเสนอว่า เราคงต้องไปในแนวทางรัฐสวัสดิการ ซึ่งต้องทำในลักษณะที่ดีขึ้น โดยนโยบายการแจกคูปองของรัฐบาลที่กำลังจะทำในขณะนี้ ซึ่งมีเป้าหมายจะแจกในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปีนั้น รัฐบาลทำเหมือนกับว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว คนจนจะหายไปจากประเทศไทย ซึ่งคิดว่า เป็นเรื่องที่ประหลาดมาก สิ่งที่ควรทำคือ จะต้องพุ่งเป้าไปที่คนจนจริงๆ แต่ปัญหาขณะนี้ คือ คนจนคือคนกลุ่มไหน ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดกลุ่มคนจนให้ชัดเจน เช่น คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น คนสูงอายุ และคนพิการ เป็นต้น
“ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่การประกาศเป็นนโยบาย แล้ว หาเงินมาใช้ เราต้องสร้างระบบที่สามารถรู้ความต้องการจริงของประชาชน โดยเข้าถึงประชาชนจริงๆ เพราะเราไม่สามารถจ่ายเงินให้คนเป็นโหลๆ หรือ เป็นล้านๆคนได้ เราต้องให้เป็นรายๆไป ขณะที่ เราก็ต้องมีองค์กรที่เข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะด้วย เพื่อดูว่า ใครควรจะได้”เขากล่าวและว่า การจัดสรรคูปองแก่คนจนของรัฐบาลจะต้องผ่านกระบวนการทางการเมืองมากกว่าผ่านระบบที่ถูกต้องด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวให้คะแนนการทำงานของกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า ให้คะแนนกระทรวงคมนาคมดีที่สุด เพราะเห็นความคืบหน้าในการทำงานในโครงการต่างๆโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ และ เซาว์เทิร์น ซีบอร์ด เป็นต้น ซึ่งกระทรวงนี้ ทางนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาดูแลโดยตรง กระทรวงที่ได้รางวัลชมเชย คือ กระทรวงพลังงาน ซึ่งรัฐมนตรีที่กำกับได้เดินตามนโยบายได้ดีมาก และไม่มีปมด้อย นโยบายไหนที่ดีก็เดินหน้า นโยบายไหนที่ไม่ดีก็แก้ไข ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมดีกว่ารัฐบาลเดิม แต่เอะใจกับการขึ้นราคาน้ำตาลถึง 5 บาท ขณะที่ กระทรวงไอซีที ให้คะแนนใช้ได้ เพราะสามารถเดินตามแผนที่วางไว้ กิจการโทรคมนาคมก็คึกคัก
ส่วนกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะดี แต่เป๋ในช่วงหลัง โดยการดำเนินนโยบายช่วงแรกถือว่า ดี สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่มาเจอกับ 2 นโยบายหลัง คือ เรื่องของการแจกคูปอง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับนโยบาย และ การให้กรมธนารักษ์นำที่ดินมาแจกคนจน ซึ่งไม่รู้ว่า ใช้เกณฑ์อะไร ถึงมือใครกันแน่ หรือ ถึงคนที่จะหาเสียงในอนาคต ส่วนกระทรวงพาณิชย์นั้น ถือว่า สอบตก โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาข้าว ซึ่งเข้าไปยุ่งจนเละ ขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ดูไม่ออก และไม่มีผลงาน
เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ มีนิมิตหมายที่ดี คือ การที่ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นในรอบนี้ แต่ราคาสินค้าเกษตรปรับขึ้นมากกว่า ทำให้รายได้ภาคเกษตรปรับขึ้นมากกว่ารายได้ภาคแรงงาน คนในชนบทจะมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ปัญหาขณะนี้ คือ กระทรวงพาณิชย์จะต้องดูแลไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรลงเร็ว ซึ่งเข้าไปแก้ไขอำนาจเอกชนในการดึงราคาลง ถ้าทำได้ดี ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ไม่น่าจะลงเร็ว นอกจากนี้ ภาคราชการจะต้องเข้าไปมีบทบาทไม่ให้ภาคธุรกิจในกรุงเทพมหานครเข้าไปกระทบภาคธุรกิจในชนบท เช่น การเข้าไปมีบทบาทในธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อาชีพของคนท้องถิ่นหายไป
สำหรับการให้ความเห็นของดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธปท.เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้ออาจขยับสูงถึงเลขสองหลัก เขากล่าวว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวมากกว่า 3.5%อย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ได้ซึมเข้าไปในสินค้าทุกอย่างแล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องปรับขึ้น
ด้านศาสตราจารย์รังสรรค์กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายแจกคูปองของรัฐบาลว่า รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูว่า ใครคือคนจน และกังวลว่า รัฐบาลจะทำเรื่องนี้ไม่ได้ดี อย่างไรก็ตาม คิดว่า รัฐบาลมีกลไกที่จะเข้ามาทำเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลทักษิณได้เข้าไปจดทะเบียนคนจน ซึ่งก็คือทะเบียนสมาชิกพรรคไทยรักไทยนั่นเอง ซึ่งสามารถเอาไปใช้ในการจัดสรรคูปองได้ และก็คิดว่า รัฐบาลจะไม่ใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นกลไกในการจัดสรร ซึ่งรัฐบาลจะต้องผ่าตัดในเรื่องนี้ และเชื่อว่า จะต้องมีกลไกใหม่ ซึ่งก็คือ ผู้นำพรรคไทยรักไทยหรือพลังประชาชน
“ดังนั้น นโยบายรัฐสวัสดิการสังคม จะต้องมองด้วยความเป็นจริงทางการเมือง ซึ่งจะเป็นกลไกในการสะสมคะแนนนิยมทางการเมือง และหากรัฐบาลใช้กลไกดังกล่าวดำเนินนโยบายนี้ ก็จะถือว่า เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนจนจริงๆ”เขากล่าว
ทั้งนี้ เขาเห็นว่า กฎกติกาสังคมการเมืองในปัจจุบัน ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และ ปล่อยให้มีการรวบอำนาจทางการเมืองและนำไปใช้ในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของระบบเศรษฐกิจ กฎนี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองตราบเท่าที่เราไม่สามารถสถาปนากฎกติกาให้แข่งขันอย่างเป็นธรรมได้ ฉะนั้น ความขัดแย้งจะยังคงอยู่ แม้ปัญหาการกระจายรายได้จะดีขึ้น คนจนน้อยลงก็ตาม แต่การกระจายรายได้จะซ้ำเติมความขัดแย้งทางการเมือง และภายใต้กฎกติกานี้คนจนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ที่สุด ดังนั้น ระบอบทักษิณถือเป็นระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งและใช้เงินนอกงบประมาณมาสร้างประโยชน์ ขณะที่ การขึ้นภาษีจะถือเป็นการทำลายคะแนนนิยมทางการเมือง
“ระบบการคลังของประเทศน่าเป็นห่วง เพราะการใช้เงินนอกงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งในที่สุดก็จะกลายมาเป็นภาระทางการคลัง”เขากล่าว