"หมอเลี้ยบ"เร่งเดินเครื่องนโยบายประชานิยม แจกคูปองเงินสดช่วยคนจน
เผยรูปแบบอาจใช้เป็นบัตรเติมเงินเดือนละ 300-400 บาท ขณะที่นักวิชาการ-ผู้คร่ำหวอดแวดวงการค้า แนะรัฐควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่าใครเป็นผู้มีรายได้น้อย หวั่นระบบรั่วไหล ประชาชนนำคูปองไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เผยหากรัฐบาลมุ่งแต่เรื่องเพิ่มกำลังซื้อ สุดท้ายประชาชนจะจนลง
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กล่าวถึงนโยบายการแจกคูปองช่วยค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันของ 3 หน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อกำหนดกรอบรายได้ของผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือดังกล่าว โดยจะมีการกำหนดระดับเส้นความยากจนที่เหมาะสม เพราะคนจนในชนบทจะมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่าคนจนในเมือง ซึ่งอาจนำฐานข้อมูลของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาปรับปรุงและเทียบเคียงใช้ในโครงการดังกล่าว แต่จะเปิดให้มีการลงทะเบียนเพิ่มเติมและจะมีกระบวนการตรวจสอบรายได้ที่รัดกุมด้วย
"ก่อนหน้านี้เราเคยมีโครงการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย แม้ฐานข้อมูลจะไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นฐานที่พอใช้ได้ แต่จะต้องปรับปรุงเพื่อมาปรับใช้" นพ.สุรพงษ์กล่าวและว่า จะคำนวณจากค่าใช้จ่ายที่จะดำรงชีพในแต่ละวันว่าต้องใช้เงินเท่าไร ใครที่มีรายได้น้อยกว่าตรงนั้น ก็ถือว่ามีความลำบากมากในภาวะปัจจุบัน โดยโครงการนี้จะทำเพียงชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะนี้ไปจนถึงจุดที่ทุกคนสามารถปรับตัวได้โดยคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี
รมว.การคลังกล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะต้องพิจารณาวงเงินที่จะใช้ในโครงการดังกล่าวด้วย
ส่วนรูปแบบอาจจะเป็นบัตรเติมเงินเป็นรายเดือน เช่น ขณะนี้ประชาชนจำนวนหนึ่งมีบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว ก็อาจปรับมาใช้เป็นบัตรเติมเงินได้ แต่ไม่ใช่การพิมพ์คูปองแจก เพราะอาจจะมีโอกาสให้เกิดช่องทางในการรั่วไหลและการทุจริตได้ แต่อาจจะใช้ในลักษณะของบัตรเติมเงินที่จะทยอยเติมเงินให้เดือนละ 300-400 บาท เพื่อให้ประชาชนสามารถเบิกเป็นเงินสด แล้วนำไปซื้ออาหารและเป็นค่าเดินทางได้ตามต้องการ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ชนบทห่างไกลก็อาจจะจ่ายเป็นเงินสด
“ค่าใช้จ่ายที่จะให้การช่วยเหลือประชาชนมี 2 ส่วนหลัก คือ ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และค่าเดินทาง โดยระยะเวลาช่วยเหลือจะอยู่ระหว่าง 6 เดือน-1 ปี ซึ่งถือเป็นมาตรการชั่วคราว เพราะการช่วยเหลือนี้เป็นการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ประชาชนมีรายได้ไม่ทันกับค่าครองชีพ ซึ่งคาดว่าประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ และดำเนินไปจนกว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายคิดว่าคงไม่เกิน 1 ปี” นพ.สุรพงษ์กล่าว
ส่วนกังวลว่าการแจกจ่ายความช่วยเหลืออาจจะรั่วไหลนั้น นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า
ในการลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือ ผู้รับความช่วยเหลือจะต้องมาแสดงตนและต้องมีคำรับรองจากผู้นำชุมชนและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องทำทั้งในส่วนของราชการและชุมชน ดังนั้น เชื่อว่าจะสามารถดูแลได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยอมรับว่าอาจมีผู้ที่ไม่อยู่ในข่ายจะได้รับการช่วยเหลือหลุดรอดเข้ามาได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามาตรการนี้อาจรั่วไหล ในเรื่องการนำคูปองไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยได้ แต่การเติมเงินให้ทุกเดือนผ่านบัตรประชาชนจะมีระบบตรวจสอบย้อนหลังอยู่แล้ว โดยเฉพาะใครรับรองก็สามารถติดตามจากผู้รับรองและตรวจสถานะได้ทุกเดือนอยู่แล้ว