แนวหน้า
ธีรยุทธ บุญมีองคมนตรีประณาม"รวยแล้วโกง" อัดทุนนิยมสามาลย์พาชาติล่มจม
ธีรยุทธหนุนตุลาการกำจัดอำนาจลัทธิรัฐสภา หม่อมอุ๋ยรับปาหี่การเมืองทำนักลงทุนสับสน
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอทเอราวัณ มีการจัดเสวนาเรื่อง "วิกฤตประเทศไทย ยุคทุนนิยมไล่ล่า"เนื่องในโอกาสครบรอบ30ปีหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยมีผู้เสวนาประกอบด้วยองคมนตรี นักธุรกิจ นักวิชาการชื่อดัง
ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยว่า กำลังเผชิญกับระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เน้นแต่เรื่องการตลาด เรื่องเงินนิยม เป็นหลัก ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงต่อประเทศชาติเพราะเป็นระบบที่เน้นแต่เรื่องการตลาดโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะตามมา คิดว่าเงินซื้อได้หมด ค่านิยมทางความคิดเปลี่ยนไปจากเดิม แม้โกงแล้วรวยก็ยังทำ ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบสามาลย์ ที่เป็นระบบเห็นแก่ตัว ฉ้อราษฎร์บังหลวง มีการปฏิบัติหลายมาตรฐานและประชานิยมไร้กฏเกณฑ์ และที่น่าห่วงคือบางคนโกหกจนชิน
"โดยเฉพาะคนที่จะก้าวเข้ามาทำงานเพื่อสาธารณะ ให้รู้จักความพอในสิ่งที่ได้ ในสิ่งที่มีคุณธรรม พร้อมที่จะเสียสละ แต่เท่าที่ดูปัจจุบันนี้ยาก กลายเป็นว่าการไปทำงานสาธารณะเพื่อหวังไปโกย" ศ.นพ.เกษม กล่าว
ด้าน นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการเคลื่อนตัวของการเมืองไทย โดยเฉพาะบทบาททางอำนาจตุลาการว่า การที่ทุนเข้าไปคุมอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และการตรวจสอบ ทำให้ระบบการเมืองของไทยเสียดุลยภาพทำให้เกิดวิกฤติที่ผ่านมา เพราะการเมืองที่ยึดเอาความชอบธรรมจาก 16 ล้านเสียงเพียงอย่างเดียวเป็นที่มาของความชอบธรรม อำนาจอธิปไตยจะตกเป็นของนักการเมืองที่ทำทุกอย่างเพื่อพวกพ้องทำให้ระบบรัฐสภากลายเป็นลัทธิรัฐสภา ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีกระบวนการตุลาการที่เข้มแข็ง เพื่อกำจัดอำนาจที่ล้นเกินของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ (อ่านรายละเอียดหน้า2)
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าว ว่า ทุนนิยมมีส่วนที่ดีคือทำให้มีการพัฒนาและมีความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้นในอนาคต แต่สิ่งที่กระทบคือความกดดันให้เกิดผลผลิตมากขึ้น และใครจะทำให้เงินงอกเงยมากกว่ากัน ทำให้ทุนนิยมไล่ล่ากดดันให้เปิดตลาดทั่วโลกเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทุกแหล่งซึ่งกลุ่มที่มีเทคโนโลยีและความรู้มาก กว่าจะได้ประโยชน์มากกว่า คำว่าวินวิน จึงแปลว่าตัวใหญ่กว่าไล่เตะก้นตัวเล็กกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุนนิยมตอบสนองเฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้น
วันเดียวกันที่สโมรสรกองทัพบก มีการสัมมนาเรื่อง"เจาะลึก 4 ปัญหาหลัก ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของประเทศ ดอกเบี้ย, ค่าเงิน, น้ำมัน และการเมือง " โดยนายทนง พิทยะ รมว.คลัง กล่าวแสดงความเป็นห่วงปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะโครงการเมกกะโปรเจคก์ และการจัดงบประมาณปี 2550 ทั้งนี้คาดว่าในปีนี้ การลงทุนจะเติบโตร้อยละ 2 ซึ่งถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งการจัดงบประมาณปี 2550 คงจะล่าช้าไปประมาณ 9 เดือน จึงทำให้เป็นห่วงเศรษฐกิจไทยปี 2550 จะเติบโตต่ำ ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งหาเม็ดเงินฉีดเข้าระบบ รวมทั้งเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ และได้ผู้นำที่กล้าตัดสินใจ แต่ยอมรับว่านักลงทุนต่างประเทศอ่อนไหวต่อปัญหาการเมือง และหันไปลงทุนในประเทศอินเดีย เวียดนาม
อย่างไรก็ตามรมว.คลังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่เกิดวิกฤติ เพราะพื้นฐานยังแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน ในภาวะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์น้ำมัน รัฐบาลก็พยายามที่จะออกมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น
ส่วนม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีผลกระทบหลักจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคชะลอลงบ้าง ทำให้ภาคกระทบภาคการลงทุนบ้าง โดยเฉพาะโครงการเมกกะโปรเจคก์ของรัฐบาลยืนยันว่า.ธปท.ได้ดูแลค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยระยะยาวเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่อัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด เนื่องจาก ธปท. ให้ความสำคัญต่อการดูแลอัตราเงินเฟ้อและผู้ออมเพื่อให้มีรายได้ดำรงชีพในภาวะค่าครองชีพสูง และเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐแม้จะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะไม่เกิดภาวะฟองสบู่แตก
"พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง มีการเติบโตที่ดี ไม่เกี่ยวกับการเมืองที่ตอนนี้การเมืองเหมือนคนดื้อยา เปลี่ยนแปลงยาก ต้องใช้เวลา ทำให้นักลงทุนต่างชาติก็สับสนกับปาหี่ของประเทศไทย ดังนั้น วิธีแก้ไขปัญหาคือ ทำให้การเลือกตั้งจบโดยเร็ว นักลงทุนก็จะไม่ชะลอ และหันกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีก" ผู้ว่าธปท.กล่าว