´ศาลปกครองสงขลา´ตัดสินคดีท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ชาวบ้านชนะ

กรุงเทพธุรกิจ

1 มิถุนายน 2549 18:13 น.
"ศาลปกครองสงขลา"ตัดสินคดีท่อก๊าซฯไทย-มาเลย์ หลักฐานชัดตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน สั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายค่าเสียหายชาวบ้าน 24 รายๆละ10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ปี

"ท่อก๊าซไทย-มาเลย์"เฮศาลปกครองสงขลาพิพากษาชนะคดี
เมื่อเวลา 111.30 น.ที่ศาลปกครองสงขลา ตุลาการศาลปกครองสงขลา ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดีที่ 454/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 กรณีที่นายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ และพวกรวม 30 คน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 1 ,จังหวัดสงขลาจำเลยที่ 2 และกระทรวงมหาดไทยที่ 3 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอัน

เนื่องจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กรณีการสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ที่ผ่านมา เหตุเกิดบริเวณหน้าโรงแรม เจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะที่กำลังมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร โดยศาลมีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องจจำนวน 24 คนเป็นเงินคนละ 10,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จ่ายเงินจริงโดยกำหนดให้ชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

ทั้งนี้จากรายละเอียดคำพิพากษาตอนหนึ่งมีสาระสำคัญว่าแม้หน่วยงานของรัฐ อันประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จ.สงขลา และกระทรวงมหาดไทย จะมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยตามแผนที่วางไว้ในช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลุ่มผู้ชุมนุมได้กระทำในที่ที่เป็นสาธารณะ และแม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะอ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการนำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุมด้วยนั้น

จากการที่ศาลได้ดูหลักฐานเป็นซีดีบันทึกภาพและรายงานผลการสอบสวน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทำการสลายการชุมนุมในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในอาการสงบ

โดยส่วนหนึ่งกำลังทำพิธีละหมาด และไม่ได้มีการนำอาวุธเข้ามาก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจกีดขวางการชุมนุมได้ตามกฎหมาย แต่ต้องเป็นช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะสงคราม หรือมีการประกาศกฎอัยการศึก แต่ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมนั้นบ้านเมืองไม่ได้อยู่ในสภาวะดังกล่าว การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล ภาคใต้ 1 แกนนำคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ในฐานะผู้ยื่นฟ้อง กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลปกครองครั้งนี้นับเป็นชัยชนะของภาคประชาชนที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติไว้ อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเป็นไปโดยบริสุทธิ์และสงบ ไม่ได้มีเจตนากระทำการด้วยความรุนแรงอย่างที่ถูกกล่าวหา

ชัยชนะครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์การทำงานของภาคประช าชนซึ่งเป็นก้าวแรกเท่านั้น เนื่องจากยังมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่อก๊าซฯที่ต้องร่วมกันต่อสู้และเคลื่อนไหวอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย รวมถึงกรณีการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ และการออกเอกสารสิทธิที่ดินปลอมด้วย นายบรรจง กล่าว

นางสาวสุรัตน์ แซ่จุ่ง หนึ่งในผู้ร่วมฟ้อง กล่าวว่า ดีใจมากที่ประชาชนชนะคดีเพราะที่ผ่านมาได้ร่วมกันต่อสู้กันทุกวิถีทางซึ่งถือว่าความเหน็ดเหนื่อยดังกล่าวคุ้มค่าที่รอคอยมานาน และที่สำคัญเป็นการพิสูจน์ความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่าชาวบ้านที่ไปร่วมชุมนุมไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ทั้งนี้เชื่อว่าชัยชนะครั้งนี้จะทำให้ชาวบ้านที่ร่วมกันขับเคลื่อนมานานมีกำลังใจในการทำหน้าที่ในฐานะประชาชนที่รักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติต่อไปอย่างดีที่สุด

"วันนี้เราชะนะจริงแต่สิ่งที่ทุกคนร่วมกันต่อสู้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะเรียกร้องเงินจำนวน 10,000 บาทเท่านั้น แต่ต้องการความยุติธรรมที่เราถูกใส่ร้ายทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐออกมาให้ข้อมูลเชิงลบกับชาวบ้านอย่างตือเนื่องทำให้ชาวงบ้านทุกคนเจ็บปวดกับเหตุการณ์ครั้งนั้นซึ่งนับเป็นความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นเงินได้" น.ส.สุรัตน์ กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์