'จักรภพ'ยังไม่สิ้นเวร ป.ป.ช.เดินหน้าพิจารณาเรื่องปชป. ยื่นถอดถอน 6 ข้อหล่าวหา เผยแม้ลาออกจากรัฐมนตรีแล้ว แต่เรื่องไม่ยุติ เผยถ้าไต่สวนพบมีมูลต้องส่งให้วุฒิสภา-ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเชือด ถูกห้ามเล่นการเมือง 5 ปี -ติกคุก
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เปิดเผย'มติชนออนไลน์'เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 5 มิถุนายน มีวาระการพิจารณาเรื่องการถอดถอนนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าชื่อกันจำนวน 164 คน ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนนายจักรภพ ตามบทบัญญัติมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากมีพฤติการณ์ ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้คาดว่า ที่ประชุมจะแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนนายจักรภพ
แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้นายจักรภพได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่การพิจารณาเรื่องการถอดถอนนายจักรภพต้องดำเนินการต่อไปไม่สามารถยุติได้เพราะ ถ้า ป.ป.ช.พิจารณาข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์แล้วพบว่า มีมูลต้องส่งเรื่องให้วุฒิสภาลงมติว่าจะถอดถอนนายจักรภพออกจากตำแหน่งหรือไม่ซึ่งต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ถ้าวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนนายจักรภพ นายจักรภพต้องถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองนาน 5 ปี
แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อกล่าวหานายจักรภพบางเรื่องอาจเป็นความผิดทางอาญา ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่า มีมูลต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
สำหรับข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยื่นถอดถอนนายจักรภพมี 6 กรณี
ประเด็นแรก ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย มี 3 กรณีคือ
1) กรณีการกำกับดูแลสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ( NBT) ของกรมประชาสัมพันธ์ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 13 นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นธุระให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งทำสัญญาร่วมผลิตข่าวและรายการประเภทข่าวของสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที โดยมีความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการจัดหาจัดจ้างและการทำสัญญา ซึ่งให้เอกชนผลิตข่าวขั้นต่ำวันละ 9 ชั่วโมงครึ่ง แต่เพียงผู้เดียว โดยมีการเสนอผลประโยชน์ให้กรมประชาสัมพันธ์เพียงปีละ45 ล้านบาท แลกกับสิทธิการได้โฆษณา 7 นาทีต่อชั่วโมง หากคำนวณเต็มเวลาแล้วจะพบว่า บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด จะมีโอกาสจัดเก็บรายได้ถึงปีละ 1,500 ล้านบาท แต่ตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐจะมีการจ่ายค่าตอบแทนปีละ 45 ล้านบาท โดยที่บริษัทดังกล่าวสามารถใช้ห้องออกอากาศ เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทอดและการผลิตข่าวและรายการข่าวโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าและค่าเสื่อมราคาแต่อย่างใด
การไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเป็นการกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นผลให้ราคาที่เสนอให้รัฐต่ำมากเกินกว่าปกติเมื่อพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ที่รัฐมอบให้อันทำให้รัฐเสียหายและขาดผลประโยชน์อันพึงได้
นอกจากนี้สัญญาที่ทางบริษัทดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ได้ทำกับกรมประชาสัมพันธ์ อายุสัญญา 2 ปีนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้มีการทำหนังสือค้ำประกันสัญญาในการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดแก่รัฐแต่ประการใด
2) กรณีการประชุมผู้ประกอบการวิทยุชุมชน ในส่วนภูมิภาค หลายครั้ง นายจักรภพ เพ็ญแข มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 มาตรา 79 กล่าวคือ ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ให้อำนาจในการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งรวมถึงกิจการวิทยุชุมชนแก่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดยให้มีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด แต่นายจักรภพกลับประกาศให้ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนเข้ามาเป็นเครือข่ายของรัฐบาล และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ และยังมีพฤติการณ์ข่มขู่ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน ใช้อำนาจบีบบังคับให้เข้ามาเป็นพวกด้วยการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการเข้าแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กทช. เพราะตามบทเฉพาะกาล มาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ได้ให้อำนาจ กทช.จัดตั้งอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้วิทยุกระจายเสียงชุมชน เป็นการชั่วคราว ดังนั้นการที่นายจักรภพต้องการดึงวิทยุชุมชนให้คงอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ต่อไป โดยใช้วิธีการข้างต้น จึงขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว
3) กรณีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ล่าช้า เพื่อเอื้อให้ใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปแทรกแซง ควบคุมวิทยุชุมชน อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยในบทเฉพาะกาลมาตรา 78 มาตรา 79ระบุชัดเจนว่า ระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรอิสระ เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ตามความในมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเฉพาะออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราวฯมีอายุไม่เกินหนึ่ง ปี รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนผังรายการ โดยทำงานผ่านคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
นาย จักรภพ ในฐานะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ต้องนำเสนอรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อคณะรัฐมนตรี กลับละเลยไม่ดำเนินการเสนอเรื่องเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้ง ทำให้การจัดตั้งคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต้องหยุดชะงักลง ซึ่งเมื่อเกิดช่องว่างดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้นายจักรภพ เพ็ญแข และหน่วยงานในกำกับคือ กรมประชาสัมพันธ์ ที่เคยทำหน้าที่จัดระเบียบวิทยุชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 กรกฎาคม 2545, วันที่ ๒๔ มิถุนายน 2546 และ วันที่ 16 สิงหาคม ๒2548 เข้าไปแทรกแซง ควบคุม วิทยุชุมชนได้โดยง่าย
อนึ่ง นายจักรภพ กล่าวในการสัมมนาที่ จ.ขอนแก่นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2551 ว่า “ ...พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551ไม่ได้มาจากรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย แต่มาจากรัฐภายใต้อำนาจ คมช. จึงไม่ขอยอมรับอำนาจที่มาจากเผด็จการ .…..” โดยประกาศจะแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น สะท้อนให้เห็นว่า นายจักรภพ เพ็ญแข จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามมาตรา 79 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
ประเด็นที่สอง ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีพฤติการณ์ที่เข้าข่าย 3 กรณีคือ
1) กรณีการยื่นข้อเสนอต่อผู้ประกอบการวิทยุชุมชน ยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาลที่จะให้เป็นเครือข่ายในการเสนอข่าวสารของรัฐบาลแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 46 ที่ระบุให้หลักประกันในการทำหน้าที่ของพนักงานหรือลูกจ้าง ของเอกชน รวมถึงข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าของกิจการนั้น
2) กรณีสั่งออกระเบียบห้ามสื่อของรัฐสนับสนุนการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2551นายจักรภพ เพ็ญแข ได้กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง 'บทบาทสื่อกับความเป็นกลางในยุคสังคมแตกแยก(ความคิด)' ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ระบุตอนหนึ่งว่า จะสั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ปรับปรุงระเบียบภายใน โดยจะขีดเส้นไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานทางด้านสื่อของรัฐสนับสนุนการรัฐประหารไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 วรรคสอง เพราะเป็นการข่มขู่ และแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อมวลชนของรัฐ ทำให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุกระจายเสียง ของกรมประชาสัมพันธ์ เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้านำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงอย่างอิสระ เที่ยงธรรม และครบถ้วนรอบด้านตามหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
3) กรณีการสั่งถอดผู้ดำเนินรายการและการเรียกคืนคลื่นวิทยุ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลงานด้านสื่อสารมวลชนของรัฐ รวมถึงกรมประชาสัมพันธ์ ได้สั่งให้มีการถอดผู้ดำเนินรายการ ในสถานีวิทยุกระจายเสียง ระบบเอฟเอ็ม ๑๐๕ เมกกะเฮิรซท์ ของ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งผู้ได้รับสัมปทาน คือ บริษัท ฟาติมา บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้ดำเนินรายการ คือ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นำเสนอบทความ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550มาตรา 46
นอกจากนี้ยังแสดงเจตนาเป็นการเปิดทางเข้าแทรกแซงสื่อสารมวลชน โดยการประกาศนโยบายนำสถานีวิทยุกระจายเสียง ของกรมประชาสัมพันธ์ ระบบเอฟเอ็มจำนวน 5 คลื่น ประกอบด้วยคลื่น 88.0 คลื่น 93.5 คลื่น 95.5 คลื่น 97.0 และคลื่น 105.0 ซึ่งออกอากาศครอบคลุมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับคืนมาให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการเอง ทำให้ผู้ได้รับสัมปทานคลื่นวิทยุดังกล่าวเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าเสนอเนื้อหาที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
สรุป การกระทำข้างต้นของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นพฤติการณ์ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และประเทศชาติ อันเป็นความผิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 มาตรา 270 ประกอบมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157และจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายในทางอาญา นำมาใช้โดยอนุโลม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนั้นนายจักรภพยังต้องเป็นเป็นผู้ต้องหาเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่บัญญัติว่า'ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี' เนื่องจากไปบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550