นับถอยหลัง 3 กกต.-ศาลนัดฟังคำสั่งคดีฟ้องย้ายเขตมิชอบพรุ่งนี้

นับถอยหลัง 3 กกต.-ศาลนัดฟังคำสั่งคดีฟ้องย้ายเขตมิชอบพรุ่งนี้

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤษภาคม 2549 15:01 น.

ถาวร เสนเนียม เบิกความอัด กกต. ยืนยันหลักฐานฮั้ว ไทยรักไทยเอื้อประโยชน์เลือกตั้ง ศาลนัดฟังคำสั่งประทับรับฟ้องหรือไม่ 15.00 น.พรุ่งนี้


วันนี้ (29 พ.ค.) เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ คดีที่นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. นายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียร พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ซึ่งเป็น กกต. และ พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการ กกต. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ม.157

โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย.49 จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการลงมติและออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 5 เม.ย.49 เรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่ 38 เขต รวม 15 จังหวัด ตาม ม.74 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 โดยจะเตรียมและกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 23 เม.ย.49 เนื่องจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.49 มีผู้สมัครได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 20 และการรับเลือกตั้งใหม่ดังกล่าวจำเลยทั้งหกได้เปิดรับผู้สมัครใหม่เพิ่มเติมนอกเหนือจากผู้สมัครรายเดิมโดยการกระทำดังกล่าวก่อให้พรรคการเมืองที่ไม่เคยส่งผู้สมัคร และพรรคที่เคยส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. แต่ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ได้ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งใหม่ดังกล่าวในลักษณะของการหมุนเวียนผู้สมัครโดยที่ กกต. ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.อย่างเป็นทางการ

โดยจำเลยทั้งหกยังร่วมกันออกหนังสือเวียน ลงวันที่ 10 เม.ย.49 ถึงประธาน กต.เขตจังหวัดทุกจังหวัดในภาคใต้ว่า ผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. สามารถไปสมัครรับเลือกตั้งใหม่โดยไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม.108 และ 109 ทั้งที่จริงแล้วหนังสือเวียนดังกล่าวขัดต่อประกาศ กกต. ลงวันที่ 1 มี.ค.49 เรื่องการสมัครับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่ต้องให้ผู้สมัครรับสมัครได้เพียงเขตเลือกตั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ.กต.เขต โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ กกต. ลงวันที่ 5 เม.ย.49 เรื่องการรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตใหม่ และให้ยกเลิกกาเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เม.ย.49 รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยที่ 2-6 เป็นเวลา 10 ปี

ปรากฏว่าเมื่อเริ่มการพิจารณา อัยการยื่นแถลงต่อศาลขอเลื่อนนัดการพิจารณาคดีออกไปอีกสักระยะ เนื่องจากจำเลยไม่สามารถจัดเตรียมเอกสารได้ทัน เพราะต้องปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ขณะที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลพิจารณาคำร้องของจำเลยประกอบกับคำแถลงค้านของโจทก์เห็นว่า จำเลยได้รับคำฟ้องตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 49 มีเวลารวบรวมเอกสารนานถึงกว่า 1 เดือน ประกอบกับเอกสารที่จำเลยอ้างก็อยู่ในสำนักงาน ศาลจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดี

นายถาวร เสนเนียม โจทก์เบิกความว่า ระหว่างที่ตนเป็น ส.ส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภา และได้ร่วมกับจำเลยที่ 2-5 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.49 หลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาเพียง 37 วันเท่านั้น ย่อมเป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทย แต่เป็นโทษต่อพรรคการเมืองอื่น เพราะนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สามารถรู้ล่วงหน้าและจัดเตรียมการลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทัน นอกจากนี้ โจทก์ยังเสียประโยชน์ด้วยทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับไปเลือกตั้ง แต่ในที่สุดการจัดการเลือกตั้งครั้งนั้นยังเขตเลือกตั้งถึง 38 เขตที่ผู้สมัครได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 เป็นเหตุให้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เม.ย. 49 แต่ต่อมาศาลปกครองกลางและศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนการเลือกตั้งทั้งหมด

นอกจากนี้ โจทก์เบิกความเรื่อง กกต.จัดคูหาเลือกตั้งที่หันหลังเข้าหากรรมการการเลือกตั้งซึ่งสามารถมองเห็นได้ โจทก์เห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.104 ที่จัดการเลือกตั้งไม่เป็นความลับ และการติดรูปผู้สมัครหน้าคูหาเป็นการชี้นำผู้ไปใช้สิทธิ์ให้เลือกพรรคไทยรักไทย เพราะเขตเลือกตั้งทั้งหมด 400 เขต ในจำนวนนี้มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยลงสมัครโดยไม่มีคู่แข่งถึง 281 เขต พร้อมกันนี้โจทก์ได้ยื่นพยานเอกสารเป็นภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ที่เห็นภาพประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ์กำลังลงคะแนนกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน

โจทก์เบิกความถึงกรณีที่ กกต.ออกหนังสือเวียนถึง กต.เขต ใน 38 เขต 15 จังหวัด ให้รับสมัครผู้สมัครในเขตอื่นได้ ว่ามติดังกล่าวขัดกับประกาศของ กกต.เดิมที่ให้ผู้สมัครสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงเขตเดียว เป็นการจงใจช่วยเหลือให้พรรคไทยรักไทยผ่านเกณฑ์ร้อยละ 20 เพราะประชาชนภาคใต้ไม่นิยมพรรคไทยรักไทยแต่นิยมพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า ซึ่งเขต 6 สงขลา ที่โจทก์เคยเป็น ส.ส.อยู่ ในการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. พรรคไทยรักไทยสมัครพรรคเดียว ได้คะแนนเพียง 7,000 คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ต่อมากกต.ได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่และรับประกาศรับสมัครเพิ่ม ทำให้เขต 6 สงขลา จึงมีคู่แข่ง และพรรคไทยรักไทยจึงชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนเสียง 6,000 คะแนน เทียบได้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ซึ่งคะแนนยังน้อยกว่าครั้งแรก แต่ กกต.กลับรีบรับรองผลทันที

โจทก์เบิกความอ้างคำวินิจฉัยของศาลฎีกา คดีที่ผู้สมัครที่ถูก ผอ.กต.เขตเพิกถอนสิทธิลงรับสมัครได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลขอให้คืนสิทธิ แต่ศาลวินิจฉัยว่า ผู้สมัครดังกล่าวยังเป็นผู้สมัครในเขตเดิมเนื่องจากการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.ยังไม่เสร็จสิ้นเพราะ กกต.ยังไม่ประกาศรับรองผล ดังนั้นศาลจึงให้ยกคำร้อง การกระทำของจำเลยทั้งหมดในฐานะเป็น กกต. โจทก์เห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้สมัครพรรคไทยรักไทย จัดการเลือกตั้งไม่ เป็นไปโดยสุจริตยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136

ต่อมาทนายโจทก์ได้นำนายวิชัย ธรรมโชติ อายุ 55 ปี อาชีพรับราชการครู อดีต ผอ.กต.เขต 3 สงขลา เบิกความว่า ได้รับหนังสือเวียนจาก กกต.ให้รับผู้สมัครใหม่ในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 นอกเหนือจากผู้สมัครรายเดิม คือ พรรคไทยรักไทย ทั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่แต่สุดท้ายก็ยังมีเพียงผู้สมัครรายเดียว คือ พรรคไทยรักไทย เพราะพรรคอื่นขาดคุณสมบัติพยานจึงตัดสิทธิ ทั้งนี้ พยานเห็นว่าคำสั่งของ กกต.ดังกล่าวเป็นการกระทำผิดขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง พยานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จึงขอลาออกจากตำแหน่ง ทั้งที่พยานเคยได้รับเงินเดือนจาก กกต.เดือนละ 9,000 บาท ซึ่งในฐานะคนกลางเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคไทยรักไทย

ภายหลังพยานทั้งสองปากเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ในวันที่ 30 พ.ค.49 เวลา 15.00 น.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์