ปฏิบัติการล่าสมบัติ"ทักษิณ"ข้ามชาติ !- "ไอ้โม่ง"เตรียมยื่นปปง.เช็คบิลหลังสิ้นยุคทรท.
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 27 พฤษภาคม 2549 12:18 น.
นักธุรกิจมือดี รอสิ้นยุคไทยรักไทย เตรียมยื่นปปง.เอาผิด "ทักษิณ" คดีโอนหุ้นโดยมิชอบ แฉผู้นำเดินสายทำธุรกรรม ย้ายเม็ดเงินก้อนโตกว่า 4 แสนล้านจากเกาะบริติชฯซุกเกาะแลงเคิร์ลสไตล์ช่วงเว้นวรรค มือกฎหมายแนะยื่นฟ้องข้อหา "ฉ้อโกงประชาชน"
ไม่เพียงแต่อำนาจตุลาการจากทั้ง 3 ศาล จะเข้าไปทำหน้าที่คลี่คลายปมปัญหาทางการเมือง ด้วยการวินิจฉัยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมายจนเกิดกระแสเรียกร้องให้กกต.ที่เหลืออยู่ 3 คนทบทวนท่าที ยอมเสียสละเพื่อฝ่าทางตันกับวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ ล่าสุดหลังจากการตัดสินของศาลปกครองมีคำสั่งห้ามซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้นและเน็ตเซทเทิลเมนท์ในหุ้น IEC ของ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านมาได้ส่งผลให้เกิดความหวังของคนบางกลุ่มในสังคมไทย ที่ต้องการเห็นอำนาจตุลาการเข้ามาจัดการกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้กลับกลายเป็นความถูกต้องขึ้นมาแทนที่ในที่สุด
และขณะนี้ได้มีความพยายามจากนักธุรกิจมือดี ที่กำลังตระเตรียมหวังพึ่งอำนาจศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ทันทีที่ผู้นำคนที่23 คนนี้มีอันต้องปิดฉากทางการเมืองลง ซึ่งว่ากันว่าแม้ประชาธิปัตย์จะส่งมือดี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและกฎหมายเตรียมถล่มประเด็นการซื้อขายหุ้น ชินคอร์ป ที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวครั้งประวัติศาสตร์นี้ก็ตาม ...แต่เมื่อเทียบกับปฏิบัติการล่าสมบัติของกลุ่มนักธุรกิจกลุ่มดังกล่าวแล้ว ความเป็นไปได้และอานุภาพความรุนแรงที่ทักษิณ อาจได้รับน่าจะแตกต่างกันลิบลับ...
เปิดปฏิบัติการล่าสมบัติ "ทักษิณ"
การเว้นวรรคของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปเป็นระยะเวลานานกว่า1 เดือน นั้นจนถึง ณ เวลานี้น่าจะทำให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะใครก็ตามที่ประเมินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ " พ่ายแพ้ ! " อาจจะต้องรู้สึกผิดหวังไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ทุกอย่างกำลังเดินไปสู่มุมตรงกันข้าม เนื่องจากระหว่างที่ "อำนาจศาล" กำลังทำหน้าที่เพื่อเร่งยุติปัญหาความวุ่นวายของการเมืองอย่างหนัก แต่ขณะเดียวกันพ.ต.ท.ทักษิณ กลับพยายามเปิดเกมใหม่ โดยผ่านกลไกที่มีอยู่ในมือ ทั้งกกต.และตัวประธานวุฒิสภา ก่อนที่จะถูกรุมเร้าจากฝ่ายตรงข้ามจนนำไปสู่การ "ล้มกระดาน" รัฐบาลไทยรักไทย ในที่สุด
การล้มกระดานรัฐบาลเดิม เพื่อนำไปสู่โฉมหน้ารัฐบาลใหม่ ที่คนในสังคมบางส่วนคาดหวัง สำหรับคนอย่างทักษิณแล้ว เขาย่อมให้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่เพียงแต่อำนาจ บารมี จะต้องไปสูญสลายไปต่อหน้าต่อตาเท่านั้น แต่ทว่าสินทรัพย์ที่ทุ่มเทเสาะหามาชั่วชีวิต อาจมีอันต้องอันตรธานไปในพริบตาด้วยเช่นกัน ....!
ระหว่างที่ฝ่ายตรงข้ามพ.ต.ท.ทักษิณ พยายามเดินหน้าลิดรอนกลไก ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นมือเป็นไม้ให้นายกฯคนเดิมได้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง จึงไม่แปลกที่จะเห็นว่าทั้งกกต.และทุกส่วนที่สนองอำนาจรัฐ จะถูกโจมตีอย่างหนักมาโดยตลอดนั้น ยังพบว่าในอีกมุมหนึ่งกลับมีความพยายามของคนบางกลุ่มกำลังรอวันเช็คบิล พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยข้อหาฉกรรจ์ โดยมีการตระเตรียมที่จะนำกฎหมายฟอกเงิน มาใช้ดำเนินการกับนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 คนนี้ทันทีที่ อำนาจ-วาสนา เดินมาถึง "จุดอับปาง"...
" เรายังมีความหวังที่จะได้เห็นผู้นำประเทศที่มีความโปร่งใสอยู่ และเชื่อว่าน่าจะได้มีการเปลี่ยนแปลงในที่สุด เวลานี้ในส่วนของการเมืองก็คงว่ากันไป แต่สำหรับเราได้เตรียมกระบวนการ ตรวจสอบความไม่ถูกต้องในทรัพย์สินของนายกฯทักษิณ ไว้แล้ว เมื่อถึงเวลา เราก็จะออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง "
แฉย้ายเงิน 4 แสนล้าน จากบริติชฯสู่ "แลงเคิลสไตล์"
แหล่งข่าวจากกลุ่มนักธุรกิจ ระบุกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" พร้อมทั้งอธิบายว่า แม้ก่อนหน้านี้จะพบว่าพรรคประชาธิปัตย์เอง ได้เดินหน้าเอาผิดต่อประเด็นทุจริต คอร์รัปชั่นมาโดยตลอดก็ตาม แต่ยังไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบพ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างจริงจัง ส่วนสำคัญน่าจะเป็นเพราะอำนาจและกลไกต่างของรัฐ ยังคงอยู่ในมือของคนที่กำลังจะถูกตรวจสอบ ทุกอย่างจึงวนเวียนและไม่มีความคืบหน้าใดๆออกมา
"ดังนั้น timing ที่เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด คือทันทีที่คุณทักษิณ ถูกโค่นล้มลงเมื่อใด การยื่นเอาผิด กรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ให้กับเทมาเสก จำนวน 7.3 หมื่นล้าน ว่าถูกต้องหรือไม่ ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีใครไปยื่นเพื่อหวังเอาผิด กับคุณทักษิณ ในเรื่องนี้ก็ทำได้ยาก เพราะเขายังคงมีอำนาจบงการทุกอย่าง
แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลไม่ใช่ของไทยรักไทย ผู้นำประเทศไม่ได้ชื่อทักษิณ ชินวัตร การตรวจสอบเรื่องเงิน จะทำได้อย่างจริงจังแน่นอน"
อย่างไรก็ตามในการเอาผิดพ.ต.ท.ทักษิณ กรณีขายหุ้นหุ้น ชิน คอร์ปให้แก่เทมาเซก มูลค่า 73,300 ล้านบาทนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายการฟอกเงินเข้ามาดำเนินการ เนื่องจากเวลานี้แหล่งข่าวเชื่อว่าในระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศเว้นวรรคและเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการเดินทางเพื่อไปทำธุรกรรมส่วนตัวทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์กว่า 7.3 หมื่นล้านบาทที่กำลังเป็นปัญหา รวมทั้งสินทรัพย์ส่วนตัวที่เกิดจากการขายหุ้นตัวอื่น จึงมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทนั้น เวลานี้ไม่ได้อยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จิน หากแต่เม็ดเงินเหล่านั้นได้ถูกเคลื่อนย้ายไปยัง"ประเทศมาริทรัสต์ " และไปยัง "หมู่เกาะแลงเคิลสไตล์" ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้การติดตามเงินเป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากการโอนเงินไปยังบุคคลที่ 3 ไม่สามารถ track down ได้
"หากไม่ใช้กฎหมายฟอกเงินตามเรื่องนี้ คิดว่าไม่มีทางที่เราจะได้เงินกลับมาแน่นอน ซึ่งคาดว่าเวลานี้เงินที่คุณทักษิณ ไปโอนเก็บไว้นอกประเทศ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา มีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 2-4 แสนล้านบาท ส่วนที่เขายังกลับเข้ามาปั่นหุ้น หาเงินจากตลาดหุ้นอยู่ขณะนี้ เป็นเค่เศษๆเงินเท่านั้น ของจริงโอนไปเก็บไว้หมดแล้ว"
นักกฎหมายชี้ช่องเอาผิด "ฉ้อโกงประชาชน"
อย่างไรก็ตามการนำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาใช้ดำเนินการเพื่อหวังยึดทรัพย์ ของพ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากมีคนบางกลุ่มและฝ่ายค้านเชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาโดยมิชอบโดยกฎหมาย ได้ถูกพูดถึงและถูกฝากความคาดหวังมาโดยตลอด ทั้งที่ ณ เวลานี้ผู้นำของประเทศยังชื่อ ทักษิณ ก็ตาม อาจเป็นเพราะสังคมได้เห็นถึงอำนาจจากฝ่ายตุลาการ ว่ามีความเป็นกลางไม่ได้ถูกควบคุมโดยอำนาจรัฐเหมือนเช่นองค์กรอื่น รวมทั้งเหตุการณ์ในอดีตที่ อดีตผู้นำคนสำคัญทั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ล้วนแล้วแต่เคยถูกกฎหมายยึดทรัพย์เล่นงานมาแล้ว ดังนั้นจึงมีหลายคนที่ไม่เชื่อในความโปร่งใสของพ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมหวังที่จะได้เห็นประวัติศาสตร์เดินซ้ำรอยอีกครั้ง...
"ปรีชา สุวรรณฑัต" อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 สภาผู้แทนราษฎร ระบุกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงขอบข่ายและแนวทางการใช้ กฎหมายปปง.ฉบับดังกล่าวว่าเดิมในชั้นกรรมาธิการฯ ได้เคยมีการถกเถียงว่าในเรื่องมูลฐานความผิดนั้นควรเปิดกว้างไว้สำหรับความผิดทางด้านภาษีโดยทั่วไป แต่ในที่ประชุมมีการคัดค้าน และเสนอว่าควรให้จำกัดไว้เฉพาะธุรกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหลบเลี่ยงทางศุลกากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีโอนหุ้นออกนอกประเทศ มีการเลี่ยงภาษี จึงเท่ากับว่า "ช่องทาง"เอาผิด ยิ่งแคบลง
"ซึ่งบรรดากรรมาธิการฯ ที่เคยคัดค้านและเสนอให้เฉพาะเจาะลงไปแค่เรื่องภาษีศุลกากร บางคนก็อยู่ในพรรคไทยรักไทยกันเกือบหมด ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจที่จะเปิดช่องว่างทางกฎหมายเอาไว้ตั้งแต่ต้นหรือไม่"
อย่างไรก็ตามการยื่นให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยกฎหมายปปง.นั้นยังพบว่าขั้นตอนสำคัญอยู่ที่การร่างคำฟ้องว่าทำอย่างไร จึงจะชี้ให้เห็นว่า พฤติการณ์การโอนหุ้น การได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกร้อง นั้นเป็นไปโดยมิชอบ เข้าข่ายความผิดมูลฐานตามกฎหมายปปง.ระบุไว้ทั้งสิ้น 7 ข้อหรือไม่ ซึ่งประกอบด้วย
1. ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
2. ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา
3. ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
4. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
5. ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา
6.ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจร
7. ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
"เท่าที่ดูจากพฤติการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีปัญหาจากการโอนหุ้นแอมเพิร์ลริช ตลอดจนการเลี่ยงภาษีนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะอ้างได้ว่าผู้ถูกร้องเข้าข่ายความผิดการฉ้อโกงประชาชน"
ในกรณีที่พบว่าผู้ถูกร้องมีความผิดจริง ตามกฎหมายปปง. ผู้มีอำนาจคือปปง.จะดำเนิน "ยึดทรัพย์"ในขั้นแรก ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์ ใดๆ ไม่กำหนดไม่เกิน 90 วันตามมาตรา 48 จากนั้นจะไปสู่ขั้นตอนการสอบสวนว่ามีความผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดจริงอาจนำไปสู่การ "ยึดทรัพย์"ให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49
อย่างไรก็ตามแม้บทบาทและอำนาจของคณะกรรมการปปง. จะเคยสำแดงอานุภาพแจ้งยึดทรัพย์นายทุน และผู้มีอิทธิพลมาแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ครั้งนี้อาจแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงเพราะต้องไม่ลืมว่าทุกสิ่งจะสามารถเกิดขึ้นได้ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยเพียงประการเดียว นั่นคือการเมืองสิ้นยุค ทักษิณ ไปแล้วเท่านั้น ...!