เลขาฯยูเอ็นถวายสดุดีในหลวง"กษัตริย์นักพัฒนา"ที่โลกยกย่อง
นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติโดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 พฤษภาคม 2549 13:38 น.
เลขาธิการสหประชาชาติถวายสดุดีในหลวง ร่วมทูลเกล้าฯรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ชี้เป็นรางวัลที่ชาวโลกยกย่องเป็น "พระมหากษัตริย์นักพัฒนา" ขณะที่ "พล.อ.เปรม"ชูพระราชดำรัส 4 ประการคือ ประมาณตน-อุตสาหะ-ปัจเจกชน-ยึดมั่นความเป็นไทย พร้อมเรียกร้องให้คนไทยนำใส่เกล้าฯปฏิบัติ
วันนี้(26 พ.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งในการอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อถวายสดุดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯกับการพัฒนามนุษย์ ว่า ตนได้รับเกียรติที่ยิ่งใหญ่ในการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งตนรู้สึกปิติยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติถวายรางวัลดังกล่าวในโอกาสแห่งการเฉลิมแลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ทั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำรางวัลเกียรติยศขึ้น เพื่อมอบให้กับบุคคลดีเด่น ที่อุทิศตนตลอดช่วงชีวิตและสร้างคุณค่าของผลงานเป็นที่น่าประจักษ์และคุณูปการที่ผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนาคน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน มิใช่เพียงแค่ คนสองสามคน มิใช่เพื่อคนจำนวนมาก แต่เพื่อคนทั้งปวงโดยถ้วนทั่ว โดยผ่านการศึกษา การขยายโอกาสและทางเลือก สุขอนามัยและโภชนาการ ทั้งนี้ยังถือว่าเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถแก่ปัจเจกชนที่จะเลือกให้มีชีวิตยืนยาวด้วยการมีสุขพลานามัยที่แข็งแรง มีความรู้และความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาคนเพื่อให้คนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งพัฒนาความเติบโตทางเศรษฐกิจและอย่างยั่งยืน สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงในชีวิต ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง
นายอันนัน กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยผ่านรายงานของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ทั้งระดับโลกและระดับประเทศ ผ่านโครงการพัฒนาจาก 166 ประเทศ ดังนั้นหากการพัฒนาคน หมายถึงลำดับความสำคัญประชาชนเป็นอันดับแรก ไม่มีสิ่งอื่นใดอีกแล้วที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคน ภายใต้แนวทางการพัฒนาคน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ทั้งนี้จากพระปฐมราชโองการ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงอุทิศพระวรกายและทรงงานมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อพัฒนาชีวิตให้ปวงชนชาวไทย โดยมิเลือกเชื้อชาติ วรรณะและศาสนา จึงทรงได้รับการขนานนามจากชาวโลกว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา นอกจากนี้โครงการที่พระองค์ริเริ่มในการพัฒนาชนบท เช่น มุ่งเน้นพัฒนาการการเกษตรขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมและภัยแล้ง
นายอันนัน กล่าวอีกว่า การพัฒนาพื้นที่สูงในภาคเหนือ เปลี่ยนพื้นที่ปลูกฝิ่นให้กลายเป็นที่ปลูกพืชทดแทน รวมทั้งพัฒนาชนบทเพื่อคนในพื้นที่และผู้อยู่อาศัยบริเวณชายแดนไทยแถบพม่าและลาวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้พระองค์ยังสนับสนุนด้านสุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก มีการรณรงค์ลดภาวะการขาดไอโอดีน ส่งเสริมการศึกษาและยกระดับคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทย จากการที่พระองค์เป็นนักคิดทำให้นานาประเทศตื่นตัวในการปรับรูปแบบการพัฒนาภายใต้แนวคิดใหม่
โดยเฉพาะปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นความสมดุล องค์รวมและยั่งยืน ที่เน้นหลักความพอประมาณ ที่มีภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัฒน์ ถือว่าเป็นแนวทาง การเดินสายกลาง ทำให้องค์การสหประชาชาติมีปณิธานมุ่งมั่นพัฒนาคนให้เป็นศูนย์กลาง และเพื่อจุดประกายแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศ
ขณะที่พล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ขึ้นกล่าวแสดงสุนทรพจน์ในเรื่องเดียวกันตอนหนึ่งว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติในฐานะข้าราชบริพารที่ได้รับสิทธิอันทรงเกียรติในการเฝ้าฯติดตามพระราชกรณีกิจอย่างใกล้ชิด ซึ่งหัวข้อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯกับการพัฒนามนุษย์ ถือว่าเหมาะสมที่สะท้อนพระวิริยะและความมุ่งมั่นในพระองค์และความสำเร็จของประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 60 ปี ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ที่พระองค์มิรู้สึกเหน็ดเหนื่อยซึ่งถือว่าเป็นเรื่องราวที่ควรแก่การเล่าสู่กันฟัง
พล.อ.เปรม ยังกล่าวว่า ยังจำได้ถึงการบุกเบิกของสองพระองค์ในการเสร็จเยือนพื้นที่ชนบทยากจนห่างไกลและทุรกันดารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี 2498 ตลอดระยะ 22 วันที่ยากลำบาก ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จหมู่บ้านต่าง ๆและพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาและข้อห่วงใย และนับแต่นั้นเป็นต้นมาการเยี่ยมชาวบ้านในลักษณะดังกล่าวได้กลายเป็นราชธรรมเนียมปฏิบัติโดยปกติของพระองค์ จนมีการก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อให้ความช่วยเหลือการเงินขั้นต้นแก่โครงการต่าง ๆ และยังมีโครงการพระราชดำริต่าง ๆที่ทรงนำความรู้ไปพัฒนาทั้งในเขตพระราชฐานเพื่อทดลองปลูกพืชพันธุ์ใหม่ๆ ดังสะท้อนอยู่ในพระราชดำรัสที่ว่า การจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องรู้จักประชาชนที่เราประสงค์ให้ความช่วยเหลือเสียก่อน
พล.อ.เปรม ยังเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยน้อมรับพระราชดำรัสของพระองค์ไปใช้ โดยเฉพาะหลักการที่สามารถใช้ในการดำรงชีวิตและการพัฒนา 4 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1. ความสำคัญต่อการรู้จักประมาณตนในการครองชีพ ทางสายกลาง นำไปสู่บุคคล ครอบครัว และชุมชน รวมไปถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ ประการที่ 2.ประชาชนจำต้องมีความอุตสาหะอดทนในการเผชิญกับความทุกข์ยากและควาลำบากตรากตรำ สิ่งท้าทายใดๆต่อความมั่นคงของมนุษยชาติที่เราต้องเผชิญ ล้วนพิชิตได้ทั้งสิ้น หากแต่มีความมุมานะในการเอาชนะอุปสรรค
ประการที่ 3. ประชาชนควรรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกัตภาพหรือปัจเจกชนในการระบุปัญหาและเลือกวิธีแก้ไข อันแสดงถึงอิสรภาพในการเลือกของแต่ละบุคคล หากแต่ต้องรู้จักเลือกอย่างฉลาด ซึ่งจะเกิดขึ้นตราบที่ประชาชนมีความตะหนักรู้ ในขณะที่ประชาชนต้องรู้จักเสียสละเพื่อช่วยเหลือชุมชน หมู่บ้าน และประเทศชาติให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีร่วมกัน ตามที่พระองค์ตรัสไว้ว่า เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีร่วมกันไม่ได้หมายความว่าพวกเราทุกคนต้องเสียสละจนหมดตัว หากแต่หมายความว่า เราควรเสียสละได้เพื่อให้ส่วนรวมอยู่รอด"
ประการที่ 4. ประชาชนควรยึดมั่นในการเป็นคนไทย ที่เรามีชาติที่เก่าแก่ ที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม และร่ำรวยทางภูมิปัญญา ซึ่งควรจะนำความภูมิใจไปดำรงชีวิตด้วยความรู้จากภายนอกเป็นสำคัญ ซึ่งพระองค์ทรงเตือนว่า ให้เรารู้จักนำความรู้ไม่ว่าจากแหล่งใดก็ตาม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยพวกเราก็ต้องรู้จักเลือกในสิ่งที่พวกเราจะนำมาใช้ปฏิบัติ