นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน ว่า ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จะยื่นเรื่องขอใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนากลุ่มมหาประชาชนร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย โดยหยิบยกเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหัวข้อในการสัมมนาด้วย หากทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธก็จะใช้สถานที่สวนลุมพินีแทน ทางกลุ่มยืนยันว่าจะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น และจะชุมนุมอย่างสงบ ไม่มีการปิดถนนหรือเหตุปะทะ เหมือนกรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯวานนี้ ที่พยายามโยงว่าเป็นการกระทำของกลุ่มมหาประชาชนฯ
ล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญ 5 มาตรา
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ได้ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเสนอแก้ไขมาตรา 190 เกี่ยวข้องกับการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ที่กำหนดไว้หยุมหยิมเกินไป มาตรา 266 ที่ห้ามไม่ให้ ส.ส.ติดต่อส่วนราชการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน มาตรา 237 พ่วงมาตรา 68 เกี่ยวกับการที่กรรมการบริหารพรรคทำผิดและทำโทษยุบพรรค และมาตรา 309 ที่มีเนื้อหาทำให้อำนาจเผด็จการเข้มแข็ง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง ทั้งนี้ เป็นการกระทำในนาม ส.ส.คนหนึ่ง ไม่ได้ทำในนามพรรคพลังประชาชน แต่จะเปิดให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมลงชื่อ 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา และเสนอให้ประธานวุฒิสภาบรรจุระเบียบวาระต่อไป
ตัด 309 หวังตรวจสอบองค์กรอิสระ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกฯไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขมาตรา 309 นายวรวัจน์ตอบว่า นายกฯจะคิดเองไม่ได้ นายกฯอยู่ฝ่ายบริหารไม่สามารถสั่งสภาฯได้ โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในแง่ที่กระทบต่อประชาชน นายกฯต้องฟัง ส.ส.ในสภาฯ ต้องเคารพเหตุผลซึ่งกันและกัน เมื่อถามว่ารัฐบาลและพรรคพลังประชาชนต้องการแก้ไขมาตรานี้เพื่อเช็กบิล คตส. นายวรวัจน์ตอบว่า เราประกาศไปแล้วว่าไม่มีการแก้แค้น ต้องการความสมานฉันท์ แต่มาตรานี้กำหนดให้ คตส. ป.ป.ช. กกต. และ สตง. เป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เพราะระบุว่า “...การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ข้อความนี้ชี้ให้เห็นว่าจะตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ มาตรานี้ทำให้องค์กรต่างประเทศจับตาดูอยู่ ไม่ไว้วางใจประเทศไทยจนไม่มีใครอยากมาลงทุน เพราะไม่สามารถตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ได้ แม้ว่าจะทำผิดกฎหมายหรือทำไม่ถูกต้องก็ตาม
ไม่เคารพกฎหมายต้นเหตุวิกฤตการณ์
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เกิดกระแสทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่า ความคิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้โดยชอบ แต่การถกเถียงที่เกิดขึ้นคือความคิดเบื้องต้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อให้การกระทำที่เป็นความผิดพ้นจากความผิด มีการพูดถึงมากพอสมควร และสังคมคงเข้าใจแล้วว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร และเราก็ ได้ให้ทัศนะไปแล้วว่าอย่างน้อยต้องบังคับให้กฎหมายเป็นกฎหมาย ถ้าบ้านเมืองเข้าสู่การเคารพกฎหมายอย่างแท้จริง วิกฤติของบ้านเมืองจะไม่เกิด ไม่ว่าจะมีการยุบ พรรคหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเราเริ่มแนวทางเดิมๆที่ใช้การหลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือการทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความผิดเป็นความผิด วิกฤติจะทับถมกันมากขึ้นและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะเดินไปได้ ยาก จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นคิดว่าจะเจ็บปวดอย่างไร พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องยอมรับการกระทำ ถ้าเป็นการกระทำที่ผิด ก็ต้องยอมรับสิ่งนั้นว่าผิด แต่ถ้าเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายนั้นแรงเกินไป ก็ต้องมาทบทวนแก้ไขกัน เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอีกครั้ง เพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด นายชวนตอบว่า อยู่ที่ประเด็นการขอเสนอแก้ไขว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตยหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือพรรคการเมืองโดยเฉพาะ