ทักษิณ วัดใจกลุ่มก๊วน ทรท.มุ้ง กทม. เผย หญิงหน่อย สุดล้า - วาดะห์ เล็งเว้นวรรค
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 19 พฤษภาคม 2549 11:34 น.
อำนาจศาลเขย่าการเมืองระส่ำ!! กลุ่มก๊วนในไทยรักไทยวิ่งหาสังกัดใหม่ หวั่นพรรคสะดุดขาตัวเอง ก๊วน กทม.ยอมรับ เหนื่อยหนัก หาก หญิงหน่อย วางมือ ด้านกลุ่มเมืองชล รอ สนธยา คุณปลื้ม ตัดสินอนาคต วาดะห์ เลือก เว้นวรรค ทางสุดท้าย นักรัฐศาสตร์ชี้ช่องโหว่ ทรท.พ้นวิกฤต ยุบพรรค
ถึงการประกาศวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะได้บทสรุปอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ต.ค.2549 นี้แล้วก็ตาม แต่สภาวะการเมืองที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ กลับหาข้อสรุปเพื่อไปสู่จุดที่ลงตัวได้อย่างยากเย็น...
สถานการณ์ทางการเมือง นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่ากระบวนการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่ผ่านมารอบแรกมิชอบด้วยกฎหมายเลือกตั้ง ยิ่งทวีความดุเดือดมากขึ้นหลายเท่าตัว ประชาธิปัตย์ เปิดเกมกฎหมายรุกไล่ให้ กกต.พิจารณาคดี พรรคใหญ่จ้างพรรคเล็ก สั่งยุบพรรคไทยรักไทย ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในปลายเดือน ต.ค.นี้
ขณะเดียวกัน กุนซือมือกฎหมายของไทยรักไทยเองไม่ได้นิ่งนอนใจ ลุกขึ้นโต้ตอบด้วยการแจ้งข้อกล่าว ทำลายล้างประชาธิปไตย แก่พรรคคู่กัดอย่างทันท่วงทีเช่นกัน พ่วงมาด้วยการเปิดประเด็นแฉกลับว่าประชาธิปัตย์ ส่งคนของตัวเองไปจ้างพรรคการเมืองเล็กหักหลังไทยรักไทย ต่างฝ่ายต่างเปิดตำราหาข้อกฎหมายมาหักล้างกันชนิดวันต่อวัน
อำนาจศาล สั่นสะเทือนการเมือง
อย่างไรก็ตาม ลำพังการต่อสู้ระหว่างประชาธิปัตย์ กับพรรคไทยรักไทย ยังไม่อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองได้มากพอ เท่ากับ อำนาจการวินิจฉัย ของอำนาจตุลาการ ในประเด็นข้อกฎหมายที่กลายเป็นปัญหาในขณะนี้ ประกอบด้วย ศาลปกครองสูงสุด ศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการวินิจฉัยกรณีการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะองค์กรอิสระซึ่งมีส่วนสำคัญในการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้ข้อสังเกตและสมมติฐานว่าเป็นการ สนองงาน ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยตรง ซึ่งในจุดนี้ได้กลายเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายมากขึ้น
ขณะที่กรรมการ กกต.ที่เหลืออยู่ทั้ง 4 คน ในฐานะฝ่ายจัดการการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นตามคำสั่งศาล กลับต้องเผชิญกับ วิกฤตศรัทธา อย่างหนัก ส่วนพรรคไทยรักไทย ก็ต้องรับวิบากกรรมจากข้อกล่าวหา ซื้อพรรคเล็ก ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกกต.ชุดใหญ่ หลังผลการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่มี นาม ยิ้มแย้ม อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธานสอบสวนมีมติเป็นเอกฉันท์น่าเชื่อว่าพรรคไทยรักไทย มีความผิดจริง ซึ่งหากคณะกรรมการ กกต.ชุดใหญ่ ที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. ยืนตามมติของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ผลที่ตามมา คือพรรคไทยรักไทยอาจต้องถูกยุบทันที ตามมาตรา 63
ประเด็นการยุบพรรคใหญ่ อันเนื่องมาจากข้อกล่าวหาของประชาธิปัตย์ นั้นแน่นอนว่าข้อยุติอาจจะยังไม่ออกมาในเร็ววันนี้ แต่ดูเหมือนความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในพรรคไทยรักไทย ของบรรดากลุ่มก๊วนต่างๆ ยิ่งทวีความวุ่นวายอย่างหนัก จากที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ทุกฤดูกาลเลือกตั้ง ส.ส.ไทยรักไทย จะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบพรรคคู่แข่งมาโดยตลอดก็ตาม แต่ปัจจุบันปรากฏว่า ส.ส.บางกลุ่ม ในพรรคกำลังวิ่งหาสังกัดใหม่กันวุ่นวาย ด้วยตัวแปรที่กดดันทั้งในเรื่อง คดี ซื้อพรรคเล็ก ที่ส่อแวว เสี่ยง แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำสายตรง ยังต้องเร่งหาทาง แก้เกม สกัดไม่ให้เกิดภาวะ ส.ส.ไหลออกจากพรรค หลังเงื่อนไข ส.ส.สังกัดพรรค 90 วันก่อนเลือกตั้งที่หลายคนรอคอย ได้ถูกปลดทิ้งไปแล้ว
ก๊วน กทม.เผย หญิงหน่อย ล้าแต่ไม่ถอดใจ!
สำหรับ ส.ส.กทม.เชื่อว่าทุกคนเชื่อมือคุณหญิงสุดารัตน์ และไม่มีใครอยากจะย้ายพรรคแน่นอน ส่วนกลุ่มอื่นๆนั้นคงระบุชัดเจนไม่ได้ การเมืองเวลานี้ ทั้ง ส.ส.พรรครัฐบาลหรือฝ่ายค้านเอง ก็แทบจะคาดการณ์อะไรล่วงหน้าไม่ได้เลย
เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายของอำนาจศาลที่เกิดขึ้น ค่อนข้างมีผลต่อการขยับทางการเมืองอย่างมาก ถึงแม้วันนี้ กกต.จะประกาศออกมาแล้วว่าเลือกตั้งใหม่วันที่ 22 ต.ค. แต่บอกได้เลยว่า นักการเมืองที่ก้มหน้าก้มตาหาเสียงกันอยู่ทุกวันนี้ยังไม่มีใครแน่ใจได้เลยว่า จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก
อเนก หุตังคบดี อดีต ส.ส.กทม.ไทยรักไทย ระบุพร้อมทั้งชี้ว่า หากจะมี ส.ส.ไทยรักไทย คิดย้ายพรรคจริงแนวโน้มน่าจะเลือกไปอยู่กับพรรคชาติไทยมากกว่าประชาธิปัตย์ มหาชน หรือประชาราช เนื่องจากธรรมชาติทางการเมืองมีความใกล้เคียงกับพรรคไทยรักไทย และที่สำคัญหากประเมินจากท่าทีของ บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปลดล็อกเงื่อนไข 90 วัน และการ ไม่เลือกข้าง ระหว่างไทยรักไทย กับพรรคฝ่ายค้านที่ผ่านมานั้น เท่ากับเหมือนเป็นการเปิดประตูรับ ส.ส.ของไทยรักไทยมากกว่าพรรคอื่นๆ ค่อนข้างชัดเจน
ขณะที่กลุ่มก๊วนอื่นๆ โดยเฉพาะที่ไม่ใช่สายตรงสังกัด พ.ต.ท.ทักษิณ มีโอกาสเปลี่ยนแปลงอนาคตทางการเมืองของตัวเองได้ตลอดเวลา ตราบใดในการย้ายพรรคยังคงเปิดไปจนกว่าจะครบกำหนดสังกัดพรรค 90 วันในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ แต่สำหรับกลุ่ม กทม.แล้วยังคงมีความเชื่อมั่นในตัว แม่ทัพใหญ่ อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ว่าจะยังไม่ตัดสินใจ วางมือ ทางการเมืองตามที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับหัวหน้าก๊วนใหญ่อย่างวังน้ำยมที่มี ส.ส.ที่ต้องรับผิดชอบกว่า 100 ชีวิต ย่อมไม่เลือกทั้งการวางมือหรือย้ายพรรคอย่างแน่นอน
ต้องเข้าใจว่าการเป็น ส.ส.สังกัดพรรคไทยรักไทย ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ละคนล้วนแล้วแต่ได้รับการอนุเคราะห์จากพรรคมากกว่าเรื่องของเงิน นั่นคือการมีบทบาทเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน การผลักดันงบประมาณให้ลงไปในส่วนที่จำเป็นและสำคัญ ขณะที่หากเป็นฝ่ายค้าน ย่อมทำอะไรไม่ได้มากแน่นอน ดังนั้นเมื่อทุกคนรู้ถึงความสำคัญในจุดนี้ เชื่อว่าที่สุดแล้วการที่จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป คงไม่ได้มองแค่อนาคตสั้นๆ เท่านั้น
วาดะห์ เล็ง พรรคใหม่-เว้นวรรค
สำหรับ ส.ส.กทม. อย่าง อเนก แล้วอาจมองเห็นถึงความได้เปรียบจากการเป็น ส.ส.สังกัดพรรครัฐบาลอย่างไทยรักไทย จนทำให้มั่นใจว่าภาวะ ส.ส.ไหลออกจากพรรค เป็นไปได้น้อยมาก..! ขณะที่ส.ส.กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในฐานะ สายตรง ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และบวกกับอยู่ท่ามกลางความอึดอัดคับข้องใจมาโดยตลอด อย่างกลุ่มวาดะห์ หรือกลุ่มเมืองชล อาจมีความรู้สึกที่แตกต่างออกไป
ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ว่า กกต.จะพิจารณาคดีจ้างพรรคเล็ก หรือไม่เท่านั้น แต่ตัว กกต.เองก็ขาดความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป กกต.เองก็ถูกกดันให้ลาออกไป ปัญหามีความเกี่ยวเนื่องและพัวพันกันไปหมด จนทำให้การเมืองไม่นิ่งและไม่มีข้อยุติเช่นนี้ ไม่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้นที่รู้สึกเบื่อหน่าย แต่นักการเมืองเองก็แทบไม่รู้อนาคตของตัวเองไปด้วย
อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ แกนนำกลุ่มวาดะห์ ไทยรักไทย ระบุและประเมินความเป็นไปได้ที่แกนนำบางคน บางกลุ่ม อาจเลือก เว้นวรรค ไม่ลงสมัครในครั้งหน้า หากพรรคไทยรักไทยมีปัญหารุมเร้าอย่างหนักทั้งในเรื่องคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ ที่เสี่ยงต่อการถูกสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 63 หรือประสบภาวะ ส.ส.ไหลออกหลังมีการปลดล็อค 90 วัน
กลุ่มวาดะห์ ยังคงอยู่กับไทยรักไทย แต่หากในอนาคตมีปัญหาเกิดขึ้นจริง พรรคต้องถูกยุบ เชื่อว่าทุกคนก็ต้องหาทางไปด้วยกันทั้งนั้น แต่การที่จะไปอยู่พรรคใดนั้น ต้องพิจารณาเงื่อนไขหลายๆ ด้าน
โดยเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือต้องดูว่าพรรคใด มี ผู้นำ ที่มีความสามารถเป็น นายกฯได้มากที่สุด พิจารณานโยบายของพรรค รวมทั้งการเลือกสังกัดพรรคใดก็ตาม ต้องไม่ทำให้กลุ่มสูญเสีย จุดยืน
เราเชื่อว่ากลุ่มเราคงไม่ขัดสนแน่นอน ถ้าเกิดปัญหาขึ้นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น หากไม่มีที่ที่เหมาะสมจริงๆ การเลือกเว้นวรรคแล้วกลับไปดูแลธุรกิจ หรือทำงานด้านอื่น ก็อาจเป็นไปได้ทั้งนั้น และเชื่อว่าแกนนำบางคนในพรรคก็มีความคิดที่ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ยังไม่มีใครกล้าพูดออกมา เพราะทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับท่าทีของคุณทักษิณ ก่อน
กลุ่มเมืองชล ให้สิทธิ สนธยา ชี้อนาคต
ทางด้านกลุ่มเมืองชล ที่มี สนธยา คุณปลื้ม เป็นแกนนำหลักนั้น ถูกจับตามองไม่แพ้ก๊วนอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะจากกรณี กำนันเป๊าะ สมชาย คุณปลื้ม ผู้กว้างขวางแห่งเมืองชล ถูกออกหมายจับตามล่าตัวทั้งในและนอกประเทศ เวลานี้ได้ถูกนำไปเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ สนธยา คุณปลื้ม แกนนำหลัก อาจเลือกตัดสินใจทางใดทางหนึ่งออกมาหากเกิดอุบัติเหตุกับไทยรักไทยจริงในวันหน้าไปโดยปริยาย ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้วจนถึงขณะนี้ ส.ส.ในกลุ่มต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขายังไม่ได้รับ สัญญาณ ใดๆ ออกมาทั้งสิ้น
ยอมรับว่าประเด็นเรื่องกำนันเป๊าะ ได้ถูกนำมาเกี่ยวข้องและวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา ซึ่งความจริงแล้วไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องอำนาจของศาล ไม่เกี่ยวกับการเมือง จากการพูดคุยกับคุณสนธยา หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย.เป็นโมฆะ ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีประเด็นอื่น นอกจากคุยกันว่า เมื่อออกจากพรรคชาติไทยมาแล้วก็อยากเดินหน้าทางการเมือง
กระแสกดดันจากการเมืองที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องธรรมดา สมัยที่คุณบรรหาร โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราก็ผ่านมาแล้ว ในครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อพรรคโดนโจมตีแล้วเราต้องย้ายหนีทุกครั้ง
สุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรลักษณ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเมืองชล กล่าวพร้อมทั้งเชื่อว่า เงื่อนไขที่จะทำให้ส.ส.ในพรรคตัดสินใจอยู่หรือย้ายพรรค ขึ้นอยู่กับกรณีการ ปลดล็อก 90 วันมากกว่ากรณีที่ กกต.จะวินิจฉัยข้อหา ซื้อพรรคเล็ก เนื่องจากแนวโน้มที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะให้มีการยุบพรรคไทยรักไทยไปเลยนั้นเป็นไปได้ยาก และประเด็นการฟ้องร้องระหว่างพรรคไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์ อาจต้องรอไปก่อน เพราะเวลานี้ไม่มีเรื่องใดที่มีความชัดเจน แม้แต่กกต.ในฐานะองค์กรจัดการเลือกตั้งเอง ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถทำงานต่อไปได้อีกนานแค่ไหน
นักวิชาการชี้ ทรท.หลุดบ่วง ซื้อพรรคเล็ก
ด้านนักรัฐศาสตร์ อย่าง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่าปัจจัยที่จะทำให้ ส.ส.ในไทยรักไทย เลือกตัดสินใจย้ายพรรคหรือไม่อยู่ที่ประเด็นการปลดล็อค 90 วันมากกว่าการที่พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบหรือไม่ตามข้อกล่าวหา และท้ายที่สุดแล้วพรรคไทยรักไทย จะใช้เหตุผลและช่องทางว่าการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นเรื่อง เฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการใดๆของพรรค
แต่คิดว่าเรื่องคงไม่ไปถึงขั้นยุบพรรค แน่นอนเพราะขณะนี้ปัญหาใหญ่และเร่งด่วนก่อนจะไปถึงขั้นพิจารณาคดีตามคำร้อง คือการหาคำตอบเรื่องอำนาจของ กกต.ว่าสามารถสั่งการหรือทำอะไรได้บ้าง ให้ชัดเจนก่อน จากนั้นให้ได้คำตอบให้แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด หากไม่ใช่วันที่ 22 ต.ค.แล้ว
ถึงตอนนั้นก็จะพอมองเห็นว่า เมื่อทุกอย่างนิ่งและชัดเจนแล้ว จะมีใครอยู่กับพรรคไทยรักไทยต่อไปบ้าง ซึ่งคาดว่าคนที่จะตัดสินใจออกไปตั้งพรรคใหม่ หรืออาจจะไปอยู่กับพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว น่าจะเป็นกลุ่มนักการเมือง นักเลือกตั้งที่มีศักยภาพ มีเงินดูแลตัวเองได้
เวลานี้หลายคำถามที่เกี่ยวพันกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจยังไม่มี คำตอบ ออกมาชัดเจน ทั้งกรณีการพิจารณายุบพรรคการเมืองเนื่องจากกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งประชาธิปัตย์และไทยรักไทย ความชัดเจนใน สถานะ และ อำนาจ ของกรรมการ กกต.ที่เหลืออยู่ว่าจะต้องถูก ล้มกระดานทิ้งทั้งหมดหรือต้องใช้วิธีสรรหาคนใหม่เข้ามาให้ครบองค์ประชุม ดังนั้นความระส่ำระสายทางการเมือง จึงส่อแววที่จะยืดเยื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะจนถึงวันนี้ ยังไม่มีสามารถบอกได้ว่า เราจะเลือกตั้งส.ส.รอบใหม่ วันที่เท่าไหร่ด้วยซ้ำ...
แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ เองอาจไม่อยู่ในฐานะที่คาดการณ์หรือสามารถวางหมากได้ง่ายดายเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว เพราะกลไกอย่าง กกต. ที่เคยสั่งการและสนองงานได้เป็นอย่างดี กำลังอยู่ในภาวะ ติดกับ เอาตัวไม่รอดอยู่ ณ เวลานี้...!