โพลชี้ ปชช.เบื่อการเมือง เลิกคาดหวัง-ศรัทธาลดลง
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 พฤษภาคม 2549 22:28 น.
สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ต่อสภาพการเมืองไทย หลังศาลสั่งให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน เป็นไปโดยมิชอบ พบว่าส่วนใหญ่ไม่อยากคาดหวังกับการเมือง ชี้ทุกอย่างเหมือนเดิม นักการเมืองยังกลุ่มเดิมๆ ขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อนักการเมืองน้อยลงด้วย เห็นว่ามีแต่ความขัดแย้งและเล่นเกมการเมืองมากเกินไป
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกสาขาอาชีพ 16 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 4,217 คน ระหว่างวันที่ 10-14 พฤษภาคม 2549 โดยสอบถามถึงความสนใจต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย หลังศาลให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมามิชอบ พบว่า ร้อยละ 48.26 ให้ความสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่าเดิม โดยมีเหตุผลว่าการเมืองยังมีความขัดแย้งกันเหมือนเดิม และยังเล่นเกมการเมืองกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนร้อยละ 45.79 ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะสื่อนำเสนอหลากหลาย และจะมีการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 5.95 สนใจน้อยลงเพราะเบื่อการเมือง
เมื่อเปรียบเทียบความรู้สึกเชื่อมั่นศรัทธาต่อนักการเมืองก่อนและหลังจากที่ศาลมีข้อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว พบว่า ร้อยละ 47.31 ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธานักการเมืองน้อยลง เพราะมีแต่ความขัดแย้ง วุ่นวาย มีแต่การฟ้องร้อง เล่นเกมการเมือง ขณะที่ร้อยละ 44.20 เชื่อมั่นศรัทธานักการเมืองเท่าเดิม เพราะเห็นว่านักการเมืองยังไม่มีอะไรดีขึ้น มีเพียงร้อยละ 8.49 เท่านั้นที่มีความเชื่อมั่นศรัทธานักการเมืองเพิ่มขึ้น ให้เหตุผลว่ามีการตรวจสอบของสังคมมากขึ้น ทำให้นักการเมืองต้องปฏิบัติตนให้ดี
เมื่อเปรียบเทียบสภาพทางการเมืองไทยก่อนและหลังศาลให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน เป็นไปโดยมิชอบ พบว่า ประชาชนที่มองว่าสภาพทางการเมืองดีขึ้นนั้น เพราะการตรวจสอบภาคประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น นักการเมืองจะระมัดระวังในการปฏิบัติตนมากขึ้น ประชาชนตื่นตัว ให้ความสนใจการเมืองมากขึ้น การเมืองไทยจะเป็นระบบมากขึ้น มีการตรวจสอบมากขึ้น และสื่อมวลชนเป็นที่พึ่งทางการเมืองแก่ประชาชนมากขึ้น
ส่วนที่มองว่าสภาพทางการเมืองไทยที่อาจจะแย่ลงนั้น เพราะการเอาชนะคะคาน การต่อสู้ทางการเมืองจะรุนแรงขึ้น มีกลวิธีทางการเมืองสลับซับซ้อนตรวจสอบยากขึ้น เล่นเกมการเมือง โจมตีกล่าวหา ฟ้องร้องกันมากขึ้น สภาพทางการเมืองบดบังปัญหาสังคม ทำให้สังคมแย่ลง และมีแต่การแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง
ด้านความคาดหวังของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นใหม่ พบว่า ร้อยละ 61.82 ไม่อยากคาดหวัง เพราะเห็นว่าคงจะเหมือนเดิม เนื่องจากยังเป็นนักการเมืองกลุ่มเดิม ยังซื้อสิทธิขายเสียง และกลวิธีการหาเสียงซื้อเสียงคงสลับซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้พ้นจากการตรวจสอบขององค์กรต่างๆ ส่วนร้อยละ 32.58 คาดหวังว่าจะดีขึ้น เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งน่าจะบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพราะมีการตรวจสอบจากศาล สื่อมวลชน และประชาชน นอกจากนี้ ประชาชนจะตัดสินใจเลือก ส.ส.รอบคอบมากขึ้น เนื่องจากมีบทเรียนจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาที่มีแต่ความวุ่นวาย ขณะที่ร้อยละ 5.6 รู้สึกเฉยๆ เพราะเบื่อการเมืองที่มีแต่ความวุ่นวาย