เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ มีแนวคิดจะทำทีวีเสรีเพิ่มอีก 1 ช่องว่านายกฯ พูดถึงทางเลือกที่สำคัญในแผนการแก้ไขเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แต่ขณะนี้คงต้องฟังอีกหลายความคิดเห็นหากจะเพิ่มสถานีโทรทัศน์
เราจะประเมินว่าประชาชนได้รับความเป็นธรรมในเรื่องข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลาที่ผ่านมาหรือไม่ หากพบว่าได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพก็จะแก้ไข โดยจะตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการรับรู้และความสมดุลของข่าวสาร หรือคณะกรรมการที่จะศึกษาและนำเสนอนโยบาย เพื่อเปิดรับทราบความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ก่อนตัดสินใจ ใน 1 เดือนนี้หลังจากได้รับผิดชอบงานจะชี้แจงให้สื่อทราบถึงแนวทางดำเนินงานและระยะเวลาที่ชัดเจน
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะเปิดสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ เพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า
เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยการพิจารณาจะเอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง อย่าเอาทรัพยากรในวงการสื่อเป็นตัวตั้ง เมื่อมาเป็นรัฐบาลในยุคประชาธิปไตยจำเป็นต้องประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเผด็จการว่า ดำเนินการโดยอ้างคำว่ากฎหมายหรือใช้อำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการหรือไม่ รวมถึงการเกิดขึ้นของสื่อในช่วงนั้นด้วย
ต่อข้อถามการพิจารณาเรื่องนี้จะรวมถึงสถานีโทรทัศน์พีทีวีด้วยหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า จะนำมาพิจารณาด้วย ที่ผ่านมาเราใช้เวลากับการบริหารงานสื่อของรัฐในลักษณะสมบัติผลัดกันชม ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน จึงต้องประเมินในภาพรวมกันใหม่ทั้งหมด ส่วนสถานีโทรทัศน์พีทีวีที่จะแพร่ภาพวันที่ 15 ก.พ.นั้น ยืนยันว่าตนไม่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องหุ้น การบริหาร หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว ฉะนั้นพีทีวีจะเปิดหรือไม่เป็นเรื่องของพีทีวี
นายจักรภพกล่าวถึงกระแสข่าวการย้ายอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ว่า
ตนแยกแยะคนเป็น 2 กลุ่ม และยึดหลักปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ข้าราชการที่เอนเอียงอย่างชัดเจน ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ หรือทำนอกหน้าที่ นอกเหนือคำสั่งเพื่อให้เกิดคะแนนบวกเป็นส่วนตัวในระหว่างที่เป็นรัฐบาลเผด็จการ คงต้องนำมาพิจารณา แต่ยังตอบไม่ได้ว่าอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จะอยู่กลุ่มไหน ขอเวลาอีกระยะหนึ่ง
นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนหารือกับนายจักรภพ ว่า
ผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์มาพบรมต.ประจำสำนักนายกฯ เพื่อรับทราบแนวนโยบายการทำงาน เรื่องสื่อทีวีคุณภาพที่นายกฯ บอกในรายการ"สนทนาประสาสมัคร" นั้น การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ คือมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) แม้จะมีสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)แล้ว แต่การจัดกระบวนการทั้งหลายถือเป็นประเด็นใหญ่โดยเฉพาะการจัดตั้งสถานี เพราะตอนนี้พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2543 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ คือให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบรับไปดำเนินการตามกฎหมายในระหว่างที่ยังไม่มี กทช. แต่มีข้อยกเว้นมาตรา 80 เขียนว่าห้ามอนุญาตให้ตั้งสถานีใหม่ ห้ามอนุญาตใช้คลื่นความถี่ และห้ามอนุญาตให้ขยายบริการเพิ่มเติม ตรงนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกทช.ที่จะมี การแก้ไขใดๆต้องแก้ตามระบบขั้นตอนทางกฎหมาย เช่น ทีไอทีวี ที่แปลงเป็นสื่อสาธารณะ เพราะวันนั้นกฎหมายมีผลบังคับและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว