ปชป.ยันตั้ง ครม.เงาเป็นเจตนาดี

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า
 
ในการประชุม ครม.เงาของพรรคจะเป็นการกำหนดทิศทางในการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้บางส่วนอาจจะต้องรับผิดชอบหลายกระทรวงเพื่อให้เกิดประโยชน์ ต่อประชาชนมากที่สุด โดยจะมีการพูดถึงแนวนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อสภาฯ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง ครม. เงาไม่ใช่เป็นการสนองความต้องการของตัวเองหรือเล่นเกมการเมือง เพื่อเสียดสีผู้บริหารประเทศ แต่ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายด้วยกัน เราเคารพในอำนาจหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายให้มาเป็นรัฐบาล การตั้ง ครม.เงาขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และยืนยันจะทำงานอย่างสร้างสรรค์ 


นายองอาจกล่าวอีกว่า
 
ส่วนการที่มีนักการเมืองบางคนไม่เข้าใจ และพยายามกระทบกระเทียบ โดยพยายามชี้ว่าการตั้ง ครม.เงาทำให้เกิดความสับสนนั้น หากนักการเมืองช่วยกันทำความเข้าใจ ต้องขอบคุณนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรมว.คลัง ที่ได้กล่าวชื่นชม ครม.เงา และขอถือโอกาสฝากอธิบายคนในพรรคที่ยังไม่เข้าใจด้วย นี่คือมิติใหม่ทางการเมืองเพื่อสร้างให้เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองต่อไป


เตือนอย่าแทรกแซงการทำงานของสื่อ


โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวด้วยว่า ในกรณีหน้าตาของ ครม.ที่ถูกวิจารณ์นั้น แม้ว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะบอกว่าขี้เหร่แต่เราก็ไม่เคยซ้ำเติม หรือมีการวิจารณ์และตั้งฉายา ผลการทำงานออกมาอย่างไรก็อยู่ที่คนรับผิดชอบ ในฐานะฝ่ายค้านเราพร้อมให้โอกาสรัฐบาลในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่จะไม่ให้โอกาสทำในสิ่งที่ไม่ชอบธรรมหรือทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง


สำหรับกรณีที่มีรัฐมนตรีบางคนต้องการจะปรับเปลี่ยนการทำงานของสื่อสารมวลชนในกำกับดูแลของรัฐนั้น นายองอาจกล่าวว่า อยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า นโยบายต่างๆที่รัฐมนตรีพูดจาสู่สาธารณะเป็นนโยบายของรัฐบาลหรือส่วนตัว การตั้งคำถามนี้เพื่อต้องการรู้ที่มาที่ไปถึงโครงการบางเรื่อง ที่รัฐบาลจะนำไปกำหนดเป็นนโยบายหรือไม่ เพื่อให้สาธารณชนติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะบางเรื่องอาจเกิดผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม จึงอยากให้ทำความเข้าใจให้ชัดเจน การแสดงความเห็นของรัฐมนตรีที่อยากเข้าไปจัด
ระเบียบสื่อต่างๆ โดยเฉพาะ ไทยพีบีเอสนั้นการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งนี้

มีกฎหมายรองรับชัดเจนว่า
 
รัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง สั่งการหรือจัดระเบียบอะไรได้ ถ้าทำอะไรไปจะขัดต่อกฎหมายและเจตนารมณ์ของทีวีสาธารณะ เราต้องเข้าใจร่วมกันว่าสื่อของรัฐไม่ใช่สื่อของรัฐบาล การไปจัดระเบียบต้องระมัดระวัง ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงควบคุมสื่อ เพราะปกติคนที่เป็นรัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะสื่อมีความสำนึกและจรรยาบรรณในวิชาชีพอยู่แล้ว ที่ผ่านมาพบว่าผู้มีอำนาจมักใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงสื่อตามความต้องการของตัวเอง ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติทางการเมืองขึ้น 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์