สตง.พบพิรุธ ก.พลังงานเซ็นสัญญาต่ออายุสัมปทานบริษัทผลิตปิโตรเคมี ล่วงหน้าก่อนหมดอายุสัญญาถึง 5 ปี “จารุวรรณ” จี้ขอคำชี้แจงในรายละเอียด เป็นหนังสือด่วนมาก ต้องการคำตอบภายใน 18 ก.พ. หวั่นทำรัฐเสียหาย เผยเซ็นสัญญาต่ออายุไปเมื่อ 29 ต.ค. 2550 และบริษัทที่ได้สัมปทาน จ่ายโบนัสให้ถึง 11.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้าน คตส. เดินหน้าสอบคดีฉาว “อุดม” ชี้โกงกันมาหลายปีจะให้รีบสรุปไม่ได้ ยันทำรอบคอบ ไม่ได้ทำงานแบบจับฉ่าย “บรรเจิด” เดินเครื่องสรุปดับเพลิงฉาว ก.พ.นี้ แต่เพิ่งคลำปมสัญญาซื้อขาย เอโอยูผิดหรือไม่ ขณะที่คดีกล้ายาง เตรียมส่ง อสส. 18 ก.พ.นี้ ขณะที่ผู้ค้าหวยบนดินนัดรวมตัวจี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ขอความชัดเจนว่าจะเดินหน้าเรื่องหวยบนดินต่อไปอย่างไร ด้าน “สมัคร” อ้างเป็นภาษีซึ่งคนเขาเต็มใจเสีย เชื่อเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา แต่รอให้จบก่อน ดูว่าเขาจะฟ้องอย่างไร
ความคืบหน้าการทำงานของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส. กล่าวถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ระบุบ้านเมืองยุ่งเพราะ คตส.ช่างพูดว่า เขามีสิทธิที่จะพูด แต่ตนจะไม่ตอบโต้ เพราะคตส.เป็นใบตองแห้ง แต่ยืนยันได้ว่าการตรวจสอบคดีต่าง ๆ ของคตส.ไม่ได้ล่าช้า ทำอย่างรอบคอบ ไม่จับฉ่าย เนื่องจากพฤติกรรมการโกงกินทำกันมาเป็นปี ๆ ดังนั้นการหาหลักฐานต้องใช้เวลา เช่นคดีของนักการเมืองบางคนก็มีการสอบมาตั้งแต่ ป.ป.ช. และ สตง.กว่าจะสรุปได้ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน
ส่วนนายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. กล่าวว่า
ความล่าช้าในการตรวจสอบคดีต่าง ๆ เพราะผู้ถูกกล่าวหามีการขอขยายเวลาการชี้แจง ออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งคตส. ก็อนุญาตให้ เพราะยึดหลักการให้ความเป็นธรรม แต่การที่ฝ่ายการเมืองออกมาพูดวิจารณ์คตส.ก็ไม่ทำให้คตส.หวั่นไหว และไม่อยากตอบโต้กลับ
ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการ คตส. หนึ่งในคณะอนุกรรมการไต่สวนการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของกทม.ที่มี นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคตส. เป็นประธาน
เปิดเผยถึงความคืบหน้าการไต่สวนว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนของสัญญาการซื้อขายรถ-เรือดับเพลิงรวมถึงการลงบันทึกเอโอยู ว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร สำหรับคดีดังกล่าวนี้คาดว่าจะสามารถสรุปผลการไต่สวนเพื่อเสนอต่อคตส.ชุดใหญ่ มีมติส่งอัยการสูงสุดสั่งฟ้องภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน
นายบรรเจิด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตการจัดซื้อพันธุ์กล้ายางพารา 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยความคืบหน้าเพื่อส่งสำนวนสรุปผลการไต่สวนคดีดังกล่าวส่งอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องศาลต่อไป ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการถ่ายสำเนาสำนวนทั้งหมดให้อัยการสูงสุด ซึ่งมีเอกสาร 30 แฟ้มใหญ่ จึงใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้สามารถส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาได้ทันตามกรอบกฎหมายภายใน 14 วัน แน่นอน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 ก.พ. นี้ ซึ่งในสำนวน คตส.ได้ระบุไว้ด้วยว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและจำเลยไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวต่อหน้าศาลด้วย
มีรายงานข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.ได้ลงนามในหนังสือด่วนมาก ถึงรมว. พลังงาน เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง กรณีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ของสัญญาสัมปทานล่วงหน้า ก่อนหมดอายุสัญญาถึง 5 ปี
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่กระทรวง พลังงาน ได้ต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมตามสัมปทานเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2555 ถึง 23 เม.ย. 2565 โดยเป็นการต่อสัญญาล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงถึง 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 23 เม.ย. 2555 ทั้งที่สัญญาฉบับเดิมได้กำหนดว่า ถ้าผู้รับสัมปทานประสงค์ จะขอต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ให้ยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาการผลิตไม่น้อยกว่า 6 เดือน ดังนั้นการยื่นคำขอต่ออายุก่อนหมดระยะเวลาถึง 5 ปี อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบสัญญา และการต่ออายุระยะเวลาสัมปทาน สตง.จึงขอให้กระทรวงพลังงานชี้แจงข้อเท็จจริงให้ สตง. ทราบโดยเร็วภายในวันที่ 18 ก.พ.นี้
ทั้งนี้สิ่งที่ สตง.ต้องการให้ชี้แจงเป็นการเร่งด่วนคือ เหตุผลและความจำเป็นในการขอและอนุมัติต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ล่วงหน้าถึง 5 ปี การต่ออายุดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ กฎหมาย หรือ มติคณะรัฐมนตรี กำหนดไว้อย่างไร และที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยทำการต่อระยะเวลาล่วงหน้า ก่อนสัญญาเดิมจะสิ้นสุดลงเป็นเวลาเท่าใด และมีสัญญาใดบ้าง พร้อมทั้งให้ชี้แจงความแตกต่างการต่อสัญญาล่วงหน้า ก่อน 6 เดือน ก่อน 1 ปี ก่อน 3 ปี และ ก่อน 5 ปี มีเหตุผลความจำเป็น มีความเหมาะสม รวมถึง มีประโยชน์สูงสุดอย่างไรบ้าง ที่สำคัญการต่อสัมปทานดังกล่าว มีหลักเกณฑ์การคำนวณ โบนัสการลงนาม และค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิตอย่างไร เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และมติครม.ฉบับใด
พิรุธ ก.พลังงานต่อสัมปทานปิโตรฯ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า
สตง.ยังต้องการทราบการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ในการพิจารณาต่อหรือไม่ต่อระยะเวลาของอายุสัมปทาน รวมถึงสัมปทานเดิมมีหลักเกณฑ์การคำนวณ ผลประโยชน์พิเศษ การตรวจสอบและควบคุมปริมาณการผลิตตามข้อกำหนดในการจ่ายโบนัสการผลิตให้แก่รัฐบาลไทยอย่างไร และในข้อตกลงสัมปทานเดิม และการต่อระยะใหม่ มีการกำหนดผลประโยชน์พิเศษ โบนัสการผลิต โบนัสการลงนาม ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต รวมทั้งค่าภาคหลวงของกระทรวงพลังงาน มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเทียบเคียงกับประเทศใดในแถบเอเชีย ที่สำคัญการคำนวณค่าตอบแทนข้างต้น ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณหรือไม่
ในหนังสือดังกล่าวได้ข้อสังเกต เรื่องสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีการกำหนดการสิ้นอายุสัมปทานว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบให้รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ ผู้รับสัมป ทานต้องรื้อถอนตามที่ ครม.สั่งให้เสร็จสิ้นภายในสามเดือนนับตั้งแต่วันที่สั่ง โดย สตง.ต้องการทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด กระทรวงพลังงาน จึงไม่พิจารณาดำเนินการผลิตปิโตรเลียมเอง หากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง แต่กลับมีการต่ออายุล่วงหน้าถึง 5 ปี และเหตุใด กระทรวงพลังงานเลือกต่ออายุ แทนที่จะมีการวางแผนและเตรียมการดำเนินการเองในอีก 5 ปีข้างหน้า
รายงานข่าว ระบุว่า
สตง.ยังได้ตั้งข้อสังเกต กรณีการเสนอเรื่องการต่อระยะเวลาการผลิตตามสัญญา ซึ่งเคยเสนอ ครม.มาแล้ว แต่ถูกถอนเรื่องคืนจาก ครม.เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 50 แต่หลังจากนั้นไม่นานได้มีเสนอเข้าครม.อีกครั้งจนได้รับการอนุมัติจากขยายเวลาเป็น 10 ปี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2550 จึงต้องการให้กระทรวงพลังงานชี้แจงเหตุผลเรื่องนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
สำหรับสัญญาการต่ออายุดังกล่าว กระทรวงพลังงาน ได้ออกให้กับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2550 ที่ผ่านมา โดยผู้สัมปทานจ่ายโบนัสการลงนาม 11,654,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับกระทรวงพลังงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันลงนามเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต 349,608,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กระทรวงพลังงานเพื่อนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยแบ่งชำระเป็นรายรอบ ระยะเวลาสามเดือนปฏิทิน คราวละเท่า ๆ กัน 40 งวด โดยงวดแรกชำระในวันที่ 1 ก.ค. 2555 และงวดสุดท้ายวันที่ 1 เม.ย. 2565
ส่วนที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน นายวรวุฒิ กมล วิทยานนท์ ประธานชมรมสลาก 3 ตัว 2 ตัว เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 11 ก.พ. เวลา 09.00 น. บรรดาพ่อค้า แม่ค้าหวยบนดิน จะรวมตัวกันเพื่อไปติดตามความคืบหน้าการพิจารณากฎหมายสลากฯ ฉบับใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอน ระยะเวลาในการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะนำกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาว่า เป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาลชุดที่แล้ว ได้ผ่านกฎหมายฉบับนี้แต่มีอดีต 30 สนช. ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าเป็นกฎหมายการเงิน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า
เรื่องนี้ได้ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าหวยบนดินได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่มีการตีความให้ชัดเจน ทั้งที่พ่อค้าแม่ค้าได้รอคอยกฎหมายฉบับนี้มานานกว่า 1 ปีแล้ว จึงต้องการให้เกิดความชัดเจนว่ามีคำวินิจฉัยเช่นใดกันแน่ และหลังจากนั้นในช่วงบ่าย กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหวยบนดินจะเดินทางต่อไปยังพรรคพลังประชาชนเพื่อขอทราบนโยบาย และความชัดเจนว่าจะเดินหน้าเรื่องหวยบนดินต่อไปอย่างไร ซึ่งตนเองขอเสนอตัวที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ทางด้านหวยบนดินโดยเฉพาะให้กับพรรคพลังประชาชน เพราะติดตามความคืบหน้าและอยู่ในวงการนี้มาโดยตลอด
ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 08.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม กล่าวในรายการ “สนทนาประสา สมัคร” ถึงการออกหวยบนดินว่า ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย อัยการบอกไม่ฟ้อง แต่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จะฟ้องเอง ทั้งนี้การออกหวยบนดินด้วยการเขียนตัวเลขอาจจะมีปัญหา ต่อไปนี้ใครจะแทงก็สามารถกดเลขที่เครื่องออกหวยล็อตโต้ได้เลย งานนี้เพื่อการศึกษาของเยาวชนไทย ซึ่งทั่วโลกใช้อย่างเดียวกัน ครั้งละ 5-10 บาท เท่านั้น เขาเรียกว่าภาษีซึ่งคนเขาเต็มใจเสีย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา แต่รอให้จบก่อน ดูว่าเขาจะฟ้องอย่างไร ศาลจะรับฟ้องอย่างไร
“มันประหลาดหรือเปล่าครับ ออก 6 ตัว ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เป็นอะไร แต่ออก 2-3 ตัวผิดกฎหมาย นี่คิดกันตื้น ๆ แบบผมเดี๋ยว ๆ ๆ” นายสมัคร กล่าว.