นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.จะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี ซึ่งถือว่า อยู่ในข้อห้ามตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งกำหนดห้ามส.ส.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง โดยหากดำรงตำแหน่งจริง ต้องพ้นจากสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่กกต. เพราะกกต.หน้าที่เพียงการจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องพิจารณา โดยหากมีเรื่องร้องคัดค้านเข้ามาภายหลัง ก็ค่อยว่ากันอีกที นอกจากนี้ การที่พรรคการเมืองจะส่งเรื่องนี้ให้กกต.พิจารณา ถือว่าเป็นไปไม่ได้เช่นกัน
'คงแนะนำให้ไม่ได้ ต้องไปอ่านกันเอง เนื่องจากรัฐบาลมีคณะทำงานด้านกฎหมายอยู่แล้ว' นายสุเมธ กล่าว
เมื่อถามว่า หาก ส.ส.ไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และต้องขาดจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ซึ่งกกต.ต้องจัดการเลือกตั้งใหม จะถือว่า เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุหรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของกกต. ที่จะต้องตอบเรื่องนี้
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลอาจนำอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง มาเป็นที่ปรึกษานั้น นายสุเมธ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกกต.เช่นกัน แต่เป็นหน้าที่ของผู้ที่จะแต่งตั้งที่จะต้องทำตามกฎหมาย ทั้งนี้ สิ่งที่กกต.ห้ามไม่ให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทำ คือ การช่วยหาเสียง การเป็นกรรมการบริหารพรรค และการตั้งพรรคการเมืองใหม่ เท่านั้น ดังนั้น ตอนนี้จึงถือว่าเลยขั้นตอนที่กกต.ห้ามไปแล้ว
นายสุเมธ กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนร้องเรียนและร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่า
กกต.จะพิจารณาทุกวัน คาดว่าวันที่ 12 ก.พ.นี้คงมีสำนวนเข้ามาอีกมาก โดยกกต.ได้กำชับไว้ว่า หากสอบสวนสำนวนใดเสร็จสิ้นแล้ว ให้เร่งส่งให้กกต.พิจารณาโดยเร็ว เพราะควรจะพิจารณาสำนวนต่างๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 - 3 เดือน นับจากวันรับเรื่องร้องคัดค้านวันสุดท้าย หรือวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนสำนวนร้องคัดค้านการทุจริตการเลือกตั้งส.ส.พรรคพลังประชาชน จ.เพชรบูรณ์นั้น นายสุเมธ กล่าวว่า กกต.แต่ละคนได้นำสำนวนดังกล่าวไปอ่านและศึกษาแล้ว คาดว่าจะสามารถลงมติได้ในวันที่ 12 ก.พ.นี้