"นับแต่นี้ไปน่าจะเป็นห้วงเวลาแห่งการพิสูจน์ ว่าสิ่งที่จักรภพเห็นนั้น สาธารณะเขาเห็นอย่างที่ จักรภพรับรู้หรือไม่ สถานีโทรทัศน์ช่องใด ไม่เป็นกลาง ไม่สมดุล รายงานด้านเดียว ที่สำคัญ จักรภพจะใช้เครื่องมือใดเป็นตัวชี้วัด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนในทิศทางที่ชาวบ้านได้ประโยชน์"
ในบรรดารัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่มีแนวโน้มจะหวือหวา ดูแล้วน่าจะเป็น จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อาจจะเป็นเพราะนี่คือครั้งแรก หรืออาจจะเป็นเพราะพื้นเพที่มาที่ไปของจักรภพ ที่เพิ่งทิ้งเก้าอี้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ "พีทีวี" ทีวีที่เต็มไปด้วยคนรักแม้ว หรืออาจจะเป็นเพราะบนเวที นปก. และเวทีหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ จนทำให้จักรภพมีโอกาสสัมผัสกับชีวิตในที่คุมขัง เลยทำให้เกิดแรงขับที่จะทำอะไรกับสื่อของรัฐที่กำลังจะเข้ามาอยู่ในมือ
"ด้านเดียว-ไม่สมดุล" คือบทสรุป หรืออาจจะเป็นเรื่องของความอัดอั้นในยามที่บริหารพีทีวี ซึ่งอาจมาจากถ้อยคำเสียดแทงใจ "สื่อแท้ สื่อเทียม" หรือเปล่า
นั่นคือปัญหาของจักรภพ ที่สุดจะคาดเดา และอาจไม่ใช่ปัญหาของคนอื่นๆ ที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะเห็นแบบที่จักรภพเห็น ไม่ว่าจะเป็นช่อง 9 อสมท ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม วิทยุชุมชน ที่แปลกและฮาก็คือ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะที่เพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ ออกอากาศ ก็ยังถูกหมายหัว เป็นทีวีสาธารณะที่กำลังออกอากาศตามกฎหมาย และจักรภพอยากจะเรียกว่า ไอทีวี (ใจจะขาด) นั่นแหละ ไม่ผิดนักหรอก หากจักรภพอยากให้ทีวีสาธารณะ เป็นไอทีวี ที่ได้เงินสนับสนุนจากการหักรายได้ของการเก็บภาษีบาปปีละ 2,000 ล้านบาท มาบริหาร
ปัญหาก็คือ จะเป็นไอทีวียุคไหน ยุคที่ผู้ร่วมทุนถือสัมปทานถือหุ้นเท่าๆ กัน
ยุคที่ผังรายการชัดเจนว่า สาระ-ข่าว 70% บันเทิง 30% หรือยุคที่ไอทีวี มีชินคอร์ป ถือหุ้นใหญ่ และปรับผังรายการใหม่ ที่สัดส่วนข่าว+สาระมีไม่ถึง 70% อันเป็นที่มาของการฟ้องร้องเรียกค่าปรับ และทำให้ไอทีวีต้องแบกหนี้ย้อนหลังอีกกว่า 2,000 ล้านบาท ภาระอันสาหัส ขนาดเทมาเซค กองทุนสิงคโปร์ที่มาซื้อกิจการชินคอร์ป ยังต้องยอมคายไอทีวีออกมาเลย แล้วมาวันนี้ จักรภพอยากเรียก "ทีวีสาธารณะ" ว่า "ไอทีวี" ก็เลยไม่รู้ว่าจะให้เป็นไอทีวียุคไหน ก่อนชินคอร์ปเข้ามา หรือหลังชินคอร์ปเทกโอเวอร์ หรือเป็นยุค เทมาเซค นับแต่นี้ไปน่าจะเป็นห้วงเวลาแห่งการพิสูจน์ ว่าสิ่งที่จักรภพเห็นนั้น สาธารณะเขาเห็นอย่างที่ จักรภพรับรู้หรือไม่
สถานีโทรทัศน์ช่องใด ไม่เป็นกลาง ไม่สมดุล รายงานด้านเดียว ที่สำคัญ จักรภพจะใช้เครื่องมือใดเป็นตัวชี้วัด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนในทิศทางที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ ไม่ใช่ทำเพื่อให้รัฐ หรือนักการเมืองที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐได้ประโยชน์
สื่อของรัฐ ไม่ได้หมายความว่า รัฐเป็นเจ้าของ
ไม่ได้หมายความว่า รัฐคือบริษัทจำกัดที่จะจัดการกับบริษัทในเครืออย่างไรก็ได้
การจัดการสื่อของรัฐ จะต้องขึ้นอยู่กับ "ความรับผิดชอบสาธารณะ" ไม่ใช่คิดเองเออเอง แล้วตีขลุมว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วต้องไม่ใช้ "อารมณ์" ที่อาจจะแปรปรวนไปกับความเคียดแค้นชิงชังเข้ามาเกี่ยวข้อง ชี้นำ อย่าลืมว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังกัดรัฐ หรือสื่อสาธารณะ ล้วนแต่มีกฎหมายรองรับอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แถมยังมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองอีกชั้นหนึ่ง การจะจัดการอะไร ก็คงไม่ง่ายเหมือนอย่างที่บริหาร "พีทีวี" ที่เปิดช่องให้ผู้บริหาร กำหนดทิศทางการนำเสนอข่าว ไม่รู้ว่าการเลือกรัฐมนตรีนั้น สมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เป็นคนเลือกให้จักภพมารับหน้าที่นี้ด้วยหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ท่าทีของจักรภพต่อเรื่องจัดระบบสื่อที่ไม่น่าจะจบแค่ "สื่อของรัฐ" แต่ยังไปถึงทีวีดาวเทียม และวิทยุชุมชน ซึ่งตรงนั้นเสี่ยงที่จะกลายเป็นปัญหา และบานปลายออกไปจนยากจะควบคุมความเสี่ยง แน่นอน ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศของสมัคร หากหันไปมองท่าทีของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ประกาศความในใจ ในสิ่งที่อยากจะทำเป็นวาระแรกๆ ด้วยแล้ว แรงเสียดทานน่าจะรุนแรงขึ้น ไม่นาจะเป็นเพียงแค่ "ศึกสองด้าน" เพราะยังมีประเด็นร้อนที่รัฐมนตรีโชว์วิสัยทัศน์ว่าเข้ามาแล้วจะเริ่มทำอีกปลายประเด็น แก้รัฐธรรมนูญ คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นเอสซี แอสเสท ฯลฯ แต่ละเรื่อง "ร้อนๆ" ทั้งนั้น และพร้อมที่จะลุกลามสร้างความเสียหายอันเนื่องมาจากความแตกแยกได้แบบไร้ขีดจำกัด
เพราะถึงวันนี้ ไม่มีใครไม่เชื่อว่า จักรภพจะไม่ทำอย่างที่ได้ลั่นวาจาเอาไว้
จับประเด็นสุดสัปดาห์
ศรายุทธ สายคำมี