วันนี้ (3 ก.พ.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องรายงานดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทย เดือนมกราคม กรณีศึกษากับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,246 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2551 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์ และพบว่า ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 46.2 หันมาใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงระดับมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 34.5 ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงระดับปานกลาง และร้อยละ 19.3 ใช้เพียงเล็กน้อยถึงไม่ใช้เลย
เมื่อสอบถามถึงความสุขโดยภาพรวม พบว่า ความสุขมวลรวม (GDH) ของคนไทยในพื้นที่ที่ถูกศึกษาครั้งนี้อยู่ที่ 6.47 คะแนน
น้อยกว่าค่าคะแนนความสุขมวลรวมของคนทั้งประเทศที่เคยค้นพบที่ 6.90 ในเดือน ตุลาคม 2550 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ค้นพบค่าความสุขสูงสุด คือ 9.31 คะแนนเป็นเรื่องความจงรักภักดี รองลงมาคือ 7.38 คะแนน คือบรรยากาศภายในครอบครัว เช่น ความรัก ความอบอุ่น การร่วมทุกข์ร่วมสุข เข้าใจซึ่งกันและกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น อันดับถัดมาได้คะแนนเท่ากันคือ 6.87 คะแนน ได้แก่ เรื่องความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณี เช่น วิถีชีวิตและแนวปฏิบัติของคนไทย และเรื่องสุขภาพกาย อันดับ 5 คือ 6.76 เป็นเรื่องหน้าที่การงาน ความพึงพอใจในงาน
อันดับ 6 คือ 6.70 เป็นเรื่องสุขภาพใจ ความไม่เครียด ไม่วิตกกังวล ไม่ถูกกดดัน และความสบายใจ อันดับ 7 คือ 6.34 ได้แก่สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ความสะดวกด้านคมนาคม ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อันดับ 8 คือ 5.98 ได้แก่บรรยากาศภายในชุมชน เช่นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีน้ำใจให้แก่กัน เกื้อกูลกัน เป็นต้น อันดับ 9 คือ 5.29 ได้แก่ความเป็นธรรมในสังคม และอันดับ 10 คือ 2.56 ได้แก่สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้