เอแบคโพลล์เผยคะแนนนิยม สมัคร เพิ่มขึ้น

วันนี้ (3 ก.พ.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องรายงานดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทย เดือนมกราคม กรณีศึกษากับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,246 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2551 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์ และพบว่า ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 46.2 หันมาใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงระดับมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 34.5 ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงระดับปานกลาง และร้อยละ 19.3 ใช้เพียงเล็กน้อยถึงไม่ใช้เลย


เมื่อสอบถามถึงความสุขโดยภาพรวม พบว่า ความสุขมวลรวม (GDH) ของคนไทยในพื้นที่ที่ถูกศึกษาครั้งนี้อยู่ที่ 6.47 คะแนน

น้อยกว่าค่าคะแนนความสุขมวลรวมของคนทั้งประเทศที่เคยค้นพบที่ 6.90 ในเดือน ตุลาคม 2550 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ค้นพบค่าความสุขสูงสุด คือ 9.31 คะแนนเป็นเรื่องความจงรักภักดี รองลงมาคือ 7.38 คะแนน คือบรรยากาศภายในครอบครัว เช่น ความรัก ความอบอุ่น การร่วมทุกข์ร่วมสุข เข้าใจซึ่งกันและกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น อันดับถัดมาได้คะแนนเท่ากันคือ 6.87 คะแนน ได้แก่ เรื่องความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณี เช่น วิถีชีวิตและแนวปฏิบัติของคนไทย และเรื่องสุขภาพกาย อันดับ 5 คือ 6.76 เป็นเรื่องหน้าที่การงาน ความพึงพอใจในงาน

อันดับ 6 คือ 6.70 เป็นเรื่องสุขภาพใจ ความไม่เครียด ไม่วิตกกังวล ไม่ถูกกดดัน และความสบายใจ อันดับ 7 คือ 6.34 ได้แก่สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ความสะดวกด้านคมนาคม ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อันดับ 8 คือ 5.98 ได้แก่บรรยากาศภายในชุมชน เช่นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีน้ำใจให้แก่กัน เกื้อกูลกัน เป็นต้น อันดับ 9 คือ 5.29 ได้แก่ความเป็นธรรมในสังคม และอันดับ 10 คือ 2.56 ได้แก่สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


นายนพดล กล่าวว่า เมื่อใช้หลักสถิติวิเคราะห์เชิงลึกแล้วพบว่า

สิ่งที่จะทำให้คนไทยมีความสุขมากที่สุดคือ ความสุขใจสบายใจของประชาชน ส่วนสิ่งที่ทำให้คนไทยไม่มีความสุขมากสุดคือ ปัญหาในที่ทำงาน ปัญหาในครอบครัว ความไม่เป็นธรรมในสังคมและสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลวิจัยยังพบด้วยว่า หญิงมีค่าคะแนนความสุขเฉลี่ยสูงกว่าชายคือ 6.53 ต่อ 6.40 และคนที่เป็นวัยรุ่น ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีกับวัยสูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงกว่าวัยอื่นๆ คือประมาณ 6.67 และ 6.62 ที่น่าเป็นห่วงคือ คนในวัย 20 - 29 ปี มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขต่ำสุดอยู่ที่ 6.21 และคนอายุระหว่าง 30 - 39 ปี มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขเท่ากับ 6.42 และคนวัย 40 - 49 ปี มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ที่ 6.57 ผลวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า คนที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวันระดับมากถึงมากที่สุดมีค่าคะแนนความสุขสูงสุดคือ 6.99 ขณะที่คนที่ใช้หลักเศรษฐกิจระดับปานกลางมีความสุขอยู่ที่ 6.06 และคนที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงน้อยถึงไม่ใช้เลยมีความสุขอยู่ที่ 6.01 เท่านั้น


นายนพดล กล่าวว่า ผลวิจัยชี้ชัดหลายครั้งแล้วว่า คนที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมากก็สุขมากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จึงน่าจะสานต่อหลักปรัชญาและแนวปฏิบัติตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นจริงอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน นายนพดล ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อจุดยืนของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะนำนโยบายของพรรคไทยรักไทยในอดีตมาต่อยอดในการบริหารประเทศครั้งนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย เช่น ร้อยละ 95.8 เห็นด้วยกับนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดของพรรคไทยรักไทยในอดีต ในมิติของความเอาจริงเอาจัง ที่ไม่ใช่การฆ่าตัดตอน ร้อยละ 94.5 เห็นด้วยกับงานพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ร้อยละ 94.3 เห็นด้วยกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ร้อยละ 93.8 เห็นด้วยกับนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค

ร้อยละ 88.9 เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 83.2 เห็นด้วยกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ร้อยละ 77.4 เห็นด้วยกับการกระตุ้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ร้อยละ 69.9 เห็นด้วยกับโครงการโคล้านตัว ร้อยละ 69.2 เห็นด้วยกับผู้ว่า ซีอีโอ ในขณะที่เห็นด้วยน้อยสุดแต่ยังถือว่าเป็นส่วนใหญ่คือร้อยละ 64.4 เห็นด้วยกับแนวคิดหวยบนดิน


นายนพดล กล่าวว่า ประเด็นหวยบนดินยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางสังคมในรัฐบาลชุดนี้
 
เพราะจะพบกับกระแสต่อต้านประมาณร้อยละ 35 – 40 เนื่องจากอาจถูกมองว่าขัดต่อระบบคุณธรรมและหลักศาสนาของสังคมไทย แม้คนไทยส่วนใหญ่อาจเห็นด้วยแต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่จำนวนมาก ประเด็นที่น่าสนใจคือ แรงสนับสนุนจากสาธารณชนต่อ นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่า สัดส่วนของผู้ที่สนับสนุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.3 ในการสำรวจก่อนได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ มาอยู่ที่ร้อยละ 58.7 ในการสำรวจหลังจากได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และเมื่อจำแนกตามกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคการเมืองต่าง ๆ พบว่า สัดส่วนของผู้สนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช เพิ่มขึ้นในทุกพรรคการเมืองเช่นกัน แต่ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทยมีสัดส่วนของผู้ไม่สนับสนุนมากกว่ากลุ่มคนที่เลือกพรรคอื่นๆ ตามลำดับ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์