หลากหลายปัจจัย.... วางตัวยงยุทธ นั่งปธ.สภา

กระแสข่าวการแต่งตั้ง 'ยงยุทธ ติยะไพรัช' รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พปช.) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐบาลของ 'สมัคร สุนทรเวช' ดังสะพัดภายหลังการออกเสียงเลือกตั้งไปได้เพียงไม่กี่วัน

แต่นาทีนั้นใครเลยจะเชื่อว่า "ยงยุทธ" หนึ่งในขุนพล "ฝ่ายบู๊" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะพลิกบทบาทครั้งใหญ่ โดยการก้าวกระโดดเข้ารับตำแหน่งประธานสภา ที่ถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในฝ่ายนิติบัญญัติ หนึ่งในสามประมุขของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา


ในทางหลักการ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาจะต้องมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ประธานสภาเป็นคนของรัฐบาล

ซึ่งหลายสมัยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ประธานสภาจะช่วยอำนวยความสะดวกและทำตามใบสั่งของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ "ยงยุทธ" จะมีภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกับภาพของท่าน "ประธานสภาที่เคารพ" แต่ต้องยอมรับว่ายุทธวิธีเดินหมากเกมนี้ของ "นายใหญ่" ไม่ธรรมดายิ่ง เพราะนอกเหนือจากเหตุผลขั้น "เบสิค" ที่บรรดา "บิ๊ก พปช." ออกมาตอบรับถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของว่าที่ประธานสภา ในเรื่องประสบการณ์ทางการเมืองหลายสมัยและความเท่าทันเกมการเมืองของพรรคฝ่ายค้านและ 5 พรรคพันธมิตรแล้ว

แบรนด์ชื่อ "ยงยุทธ" ยังการันตีถึงความจงรักภักดีที่มีต่อ "นายใหญ่" เสมอมา

และที่สำคัญ "ยงยุทธ" ยังมี "ออปชั่น" เสริมอย่างที่ใครอีกหลายคนไม่มี
 

ประการแรก "ยงยุทธ" เป็นหนึ่งในจำนวน "สายตรง" ของ "นายใหญ่" ที่สามารถ "อู้คำเมือง" กันรู้เรื่อง

และหากจะวัดจากความไว้วางใจที่ "นายใหญ่" มอบให้เป็นการตอบแทน ชื่อของ "ยงยุทธ" ก็ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ เหตุผลนี้จึงทำให้ถูกวางตัวในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่แรก เพราะต้องไม่ลืมว่า "รัฐบาลสมัคร 1" มีภารกิจสำคัญๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะการแก้กฎหมายสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ทั้ง 111 คน รวมถึงการแก้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน ซึ่งประธานสภามีหน้าที่ในการบรรจุวาระประชุม และวาระนั้นๆ จะถูกบรรจุช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับประธานสภาที่จะคำนึงถึงความเหมาะสม และเกมที่รัฐบาลได้กำหนดไว้
 


นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 91 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ที่มีอยู่ของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า

สมาชิกภาพของคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (3)(4)(5)(6)(7)(8)(10)หรือ(11) หรือมาตรา 119 (3)(4)(5)(7)หรือ(8) แล้วแต่กรณี ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำรับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ นั่นหมายความว่า ประธานสภามีอำนาจในการยื่นถอดถอนส.ส. โดยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.ว่าสิ้นสุดลงหรือไม่


ประการต่อมา "ยุงยทธ" เป็นเพียงคนเดียว ในจำนวนสมาชิกพรรคพลังประชาชนที่นอกเหนือจาก "สมัคร" และ "นปก." ที่กล้าออกมาเป็นหน่วยกล้าตาย สวมบท "ปะ ฉะ ดะ" กับทุกคนและทุกกรณี


หากโฟกัสในประเด็นนี้ จะทำให้เห็นว่า การที่ "ยงยุทธ" รับตำแหน่งประธานสภา เป็นยุทธวิธีหนึ่งในการเปรียบเทียบ "เชิงสัญลักษณ์" ในความมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับตำแหน่งสำคัญๆ ของหลายๆ องค์กร นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองของ "ยงยุทธ" ได้สร้างริ้วรอยและบาดแผลติดอยู่บนตัวของว่าที่ประธานสภาคนนี้มาหลายบาดแผล


บางบาดแผลก็ตกสะเก็ดไปแล้ว แต่บางบาดแผลยังเป็นแผลเป็นที่พร้อมจะอักเสบหากถูกสะกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง จากอดีตเพื่อนร่วมค่าย อย่างพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้น เก้าอี้ของประธานสภา จึงน่าปลอดภัยกว่าเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงไหนๆ ที่จะต้องสุ่มเสี่ยงต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในห้วงเวลาที่ฝ่ายค้านมีศักยภาพที่เข้มแข็ง

ต้องจับตามองกันต่อไปว่า "ยงยุทธ" จะสามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจของสภาได้มากน้อยเพียงใด หรือทำหน้าที่สมกับที่ "นายใหญ่" ไว้วางใจหรือไม่ !!!


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์