เปิดคำวินิจฉัย มานิต เผย ยึดราชโองการลงมติชี้ขาดเลือกตั้งใหม่

เปิดคำวินิจฉัย มานิต เผย ยึดราชโองการลงมติชี้ขาดเลือกตั้งใหม่

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤษภาคม 2549 19:49 น.

เปิดคำวินิจฉัยส่วนตัวตุลาการศาล รธน. มานิต วิทยาเต็ม กรณีพิจารณา กกต.จัดการเลือกตั้ง 2 เม.ย.ขัด รธน.ระบุ ยกพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ประกอบการตัดสินใจลงมติชี้ขาดให้เลือกตั้งใหม่

วันนี้ (9 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำวินิจฉัยส่วนตนของ นายมานิต วิทยาเต็ม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย ในคดีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 เม.ย.จนถึงปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบรัฐธรรมนูญเนื้อหาคำวินิจฉัยมีเนื้อหา ระบุว่า หลังจากพิจารณาตามประเด็นคำร้องของผู้ตรวจการฯประกอบกับคำชี้แจงข้อกล่าวหาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการจัดการเลือกตั้งตลอดจนผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นและวินิจฉัย ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กรณี กกต.ให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการจัดเลือกตั้ง อันนำไปสู่การกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 โดยไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรม ในกรณีเรื่องของการกำหนดระยะเวลาเท่าใดจึงจะเพียงพอไม่มีมาตรวัด และความจำเป็นก็แตกต่างไปตามความสามารถของแต่ละพรรค สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้พรรคอดีตฝ่ายค้านในสภาฯ ทุกพรรค รวมสามพรรคมีความเห็นว่า การยุบสภาและการกำหนดวันเลือกตั้งกะทันหัน ประกอบกับความไม่พอใจ ว่า รัฐบาลประกาศยุบสภาฯ ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมต่อพรรคฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายค้านจึงต่อต้านการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. ด้วยการไม่ส่งสมาชิกของพรรคเข้าสมัครรับเลือกตั้ง และรณรงค์ต่อต้านด้วยวิธีต่างๆ ที่พรรคสามารถทำได้โดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ปรากฏว่า มีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงจำนวนหนึ่งประมาณ 6.9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ละเขตมีแต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกับผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมืองเล็กๆ ที่ไม่เคยส่งสมาชิกรับสมัครรับเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้แทบทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลปัจจุบัน และในหลายเขตเลือกตั้งต้องมีการเลือกตั้งซ้ำหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ตัวผู้ได้รับการเลือกตั้งนับได้สิบกว่าเขตเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครัฐบาลคนเดียวได้คะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำกว่าร้อยละยี่สิบตามที่กฎหมายกำหนด

คำวินิจฉัยของ นายมานิต ได้ระบุอีกว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่ยอมรับของประชาชนทั่วประเทศจำนวนมาก อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง และในหมู่ประชาชนทั่วไป และเกิดปัญหาจำนวน ส.ส.ไม่ครบตามจำนวนในสภาฯ รวมทั้งประชาชนสงสัยความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล และความชอบธรรมของรัฐบาลในการบริหารประเทศ โดยปราศจากการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพในสภาฯ ดังนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้เกิดความสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ปรากฏในพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตอนหนึ่งระบุว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประสิทธิภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่จะดำเนินการทางรัฐธรรมนูญต่อไปจากฐานของการเลือกตั้งที่พระราชกฤษฎีกายุบสภากำหนดไว้ในวันที่ 2 เม.ย.และที่ กกต.ได้จัดการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ.2541 เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้วการที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนานี้จำเป็นที่จะต้องเพิกถอนการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ และเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั่วไป เพื่อให้โอกาสพรรคการเมืองทุกพรรคได้ส่งสมาชิกเข้ารับเลือกตั้ง และให้ประชาชนมีโอกาสเลือกพรรคการเมืองและผู้แทนของตนอย่างเต็มที่

คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 การจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.ของ กกต.ถูกกล่าวหาว่า แบบของคูหา และทิศทางยืนทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ ซึ่งประเด็นดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่าวิธีการลงคะแนนเสียงเป็นวิธีการลับหรือไม่ ต้องพิจารณาจากวิธีการ ถ้าใช้วิธีการขานชื่อผู้เลือกตั้งให้ออกเสียงทีละคนไม่เป็นความลับถ้าให้ผู้ลงคะแนน ลงชื่อ หรือลายนิ้วมือ หรือมีการใส่ชื่อหรือเลขรหัสเฉพาะตัวของผู้ลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้ง หรือกระทำการวิธีอื่นใดให้ตรวจสอบได้ว่าบัตรเลือกตั้งฉบับใดเป็นของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งใด เช่นนี้ไม่เป็นความลับการที่มีผู้ละเมิดแอบดู หรือใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพ หรือส่องดูการทำกากบาทของผู้ที่ใช้สิทธิบางราย เพราะผู้ใช้สิทธิลงคะแนนไม่ระมัดระวังเอง เช่น ตัวอย่างในคำร้อง และคำร้องเรียนเช่นนี้ เห็นว่า เป็นปัญหาพฤติกรรมเฉพาะบุคคล มิใช่ปัญหาวิธีการลงคะแนนเสียงไม่เป็นไปโดยลับ อนึ่ง หากมีการวินิจฉัยว่าวิธีการลงคะแนนเสียงไม่เป็นความลับการลงคะแนนเสียงที่ กกต.จัดขึ้นย่อมเสียไป และต้องจัดการให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่กับการจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นคนละเรื่องกัน

ประเด็นที่ 3 กรณีที่พรรคการเมืองใหญ่ว่าจ้างผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครเข้ารับแข่งขันในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตตามที่พรรคการเมืองใหญ่กำหนด จากการพิจารณาแล้วเห็นว่า จากคำชี้แจงของ กกต.ว่า มีแต่คำกล่าวหา หรือร้องเรียน แต่ได้ทำการสืบสวนแล้วยังไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกทั้งข้ออ้างผู้ร้องว่า กกต.ได้เสนอเรื่องให้ศาล รธน.มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาก็ไม่เป็นความจริง ดังนั้น จึงเห็นควรให้ยกคำร้องในประเด็นนี้

ประเด็นที่ 4 กรณี กกต.ได้มีมติสั่งการออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งการสืบสวนสอบสวน เพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กรณีนี้นายมานิตได้วินิจฉัย ว่า การลงมติได้สั่งการการออกประกาศ และการออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะต้องพิจารณาเป็นรายกรรม รายวาระ ของการกระทำผิด ถ้าหากมีการกระทำโดยบกพร่องโดยขัดต่อกฎหมาย ผู้กระทำย่อมมีความผิดตามควรแก่กรณีทั้งทางการเมือง ทางอาญาและทางแพ่ง ถ้าเป็นข้อที่รายแรงถึงขนาดก็อาจจะให้มีมติหรือคำสั่งการนั้นเสียไปได้ โดยเป็นการเสียไปของมติ หรือคำสั่งการเฉพาะเรื่องเฉพาะรายที่ขาดความสมบูรณ์ตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งสามารถกระทำซ้ำให้ถูกต้องภายหลังอีกทั้งการฝ่าฝืนการทำงานของ กกต.ที่กล่าวมานั้นผู้ร้องมิได้แสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลให้เห็นได้ว่ากรรมใดวาระใดมีผลให้การเลือกตั้งในวันเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.ต้องเสียไปทั้งระบบ จึงเห็นควรให้ยกคำร้องในประเด็นนี้

ในคำวินิจฉัยของ นายมานิต ยังระบุต่ออีกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า คำร้องในประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่ 2 วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยลับตามรัฐธรรมนูญ เห็นว่าควรให้ยกคำร้อง ส่วนในประเด็นที่ 3 และ 4 เนื่องจากเมื่อมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว ก่อให้เกิดผลการเลือกตั้งและสถานะทางการเมือที่ขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในข้อที่ปรากฏในพระบรมราชโองการ จึงมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการเลือกตั้งที่ได้จัดการกระทำขึ้นตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ และให้ กกต.ดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยหารือการกำหนดระยะเวลาต่างๆ กับพรรคการเมืองทุกพรรคที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์