คำวินิจฉัยที่น่าวินิจฉัย? / เปลวสีเงิน

คำวินิจฉัยที่น่าวินิจฉัย? / เปลวสีเงิน

คนปลายซอย
9 พฤษภาคม 2549 กองบรรณาธิการ

สรุปจบไปขั้นตอนหนึ่งแล้วนะครับ คือ เลือกตั้งเมื่อ ๒ เมษา. "เสียงข้างมาก" ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้มีการเลือกตั้งใหม่

รายละเอียดท่านหาอ่านจากข่าวได้นะครับ แต่ตรงนี้ผมบันทึกสรุปไว้เผื่อภายภาคหน้าจะมีคนมาอ่านและอยากรู้บ้างเท่านั้น

ในประเด็น การเลือกตั้ง ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นไปด้วยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปรากฏว่า ๘ : ๖ เสียง

วินิจฉัยว่า ไม่ชอบ ๘ เสียง นั้นคือ

๑.ท่านผัน จันทรปาน

๒.ท่านจิระ บุญพจนสุนทร

๓.ท่านนพดล เฮงเจริญ

๔.ท่านมงคล สระฏัน

๕.ท่านเสาวนีย์ อัศวโรจน์

๖.ท่านอภัย จันทนจุลกะ

๗.ท่านปรีชา เฉลิมวณิชย์

๘.ท่านอุระ หวังอ้อมกลาง

ส่วนอีก ๖ ท่านที่วินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง ๒ เมษา.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ

๑.ท่านจุมพล ณ สงขลา

๒.ท่านมานิต วิทยาเต็ม

๓.ท่านศักดิ์ เตชาชาญ

๔.ท่านสุธี สุทธิสมบูรณ์

๕.ท่านสุวิทย์ ธีรพงษ์

๖.พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช

ในประเด็น ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ปรากฏว่า ๙ : ๕ วินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด

ที่เป็น ๙ ท่าน เพราะนอกจาก ๘ ท่านแรกแล้ว "ท่านมานิต วิทยาเต็ม" ซึ่งในประเด็นแรกท่านวินิจฉัยว่า การดำเนินการเลือกตั้งของ กกต.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ๒ เม.ย. "ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"

แต่ในประเด็น ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ท่านมานิตวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ เสียงจึงออกมาเป็น ๙ : ๕ ดังกล่าว

สรุปก็คือ ถ้าดูตามนัยนี้หมายความว่า ขณะนี้พระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาเมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ยังมีผลอยู่ เพียงแต่การจัดให้มีการเลือกตั้งของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ฉะนั้น ผลอันเกิดจากการเลือกตั้ง ๒ เมษา.ทั้งหมดเป็นโมฆะ!


ต้องไปเริ่มต้นนับ ๑ กันใหม่ ตั้งแต่การกำหนดวันเลือกตั้งนั่นเลย

ที่ผมใช้คำว่า "โมฆะ" นักกฎหมายหัวนอก หรือหัวถลอกคนไหน ขอโทษ..อย่าเสือกทะลึ่งมาอ้างว่าไม่มีใช้ในรัฐธรรมนูญ เพราะนี่คือ "การสื่อความ" นะครับ ไม่ใช่การสอน หรือการสอบวิชากฎหมาย

เขานำคำว่า "โมฆะ" มาใช้ก็เพราะเป็นศัพท์ที่คนไทย "ฟังปุ๊บ-เข้าใจปั๊บ" การเสนอข่าวสารไปสู่ประชาชนนั้น หัวใจอยู่ตรงที่อะไรมันเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะ

เราก็หาคำที่สื่อความหมายที่ใช้แทนกันได้ และคนฟังเข้าใจได้ง่ายมาใช้แทน

มันก็เท่านั้น ไม่ต้องให้รัฐมนตรี หรือขี้ข้าโจรคนไหนมาดัดจริตสอนกฎหมายทางอากาศหรอก..ขอบอก!

เอาละ..เมื่อมาถึงขั้นนี้ คำถามใหม่ของสังคมขณะนี้ ก็คือ

๑.กกต.จะต้องลาออก หรือต้องถูกถอดถอนตามมาตรา ๓๐๓ หรือไม่?

๒.จะกำหนดวันไหน-เดือนไหน เป็นกำหนดวันเลือกตั้งใหม่?

๓.ทักษิณจะเว้นวรรคตามคำสัตย์เดิม หรือจะตระบัดสัตย์?


เท่าที่สดับตรับฟัง เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่เช่นนั้น ต่างพอใจ ดีอกดีใจกัน

แต่ผมเฉยๆ แถมสงสัยเสียด้วยว่า ด้วยประเด็นตามแง่กฎหมายที่ "ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา" ยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น


ผมว่า มันเป็นประเด็นอยู่ในขอบข่ายหน้าที่ของ "ศาลปกครอง" จะวินิจฉัยโดยตรงมากกว่า ไม่น่าจะยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญเองก็น่าจะดุลยพินิจตามกรอบอำนาจหน้าที่ได้ว่า

สิ่งที่ กกต.กระทำขึ้นอันเป็นปัญหาทางการปกครองนั้น เช่น การกำหนดวันเลือกตั้ง การจัดคูหาแบบการลงคะแนนจะไม่เป็นความลับ กระทั่งพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง และการที่ กกต.โทรศัพท์ลงมติแล้วอ้างว่า..นี่แหละการประชุมครบองค์ตามรัฐธรรมนูญกำหนดละ

มันเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างองค์กร หรือเป็นปัญหาในข้อกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความอะไร ตรงไหนในการปฏิบัติ?


กกต.ทำผิดกฎหมายอยู่ทนโท่ตะหาก สิ่งที่ทำผิดนั้น มันเป็นความผิดทางปกครอง ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาน่าจะอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๘ แล้วส่งเรื่องไปทางช่องศาลปกครองจะถูกต้องที่สุด

วันนี้ ชาวบ้านอาจมองว่า "ศาลไหนก็เหมือนกันแหละน่า ขอให้มีผลออกมาถูกใจก็เป็นอันใช้ได้"

แต่วันหน้า ระวังจะเจ็บกระดองใจ เพราะการที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเรื่องอันน่าอยู่ในขอบข่ายวินิจฉัยของศาลปกครองมาวินิจฉัยเองนั้น นั่นก็เท่ากับการขยายเขตของหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาความให้ศาลรัฐธรรมนูญ "กินแดน" กว้างออกไป

และสร้างบรรทัดฐานเพื่อการอ้างอิงเผื่อไปถึงวันข้างหน้า!


ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กกต.ทำไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ นั้น อันคำว่า "ไม่ชอบ" จะไปตีความว่า กกต.ทำผิดกฎหมาย..มันก็ไม่ใช่โดยตรง

กกต.ควรจะไปขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่คล้าย "ช่วยชีวิต" ไว้ให้ในนาทีเป็น-นาทีตาย


เพราะอะไร..เพราะการวินิจฉัยประเด็นเหล่านี้ ตุลาการท่านไม่ได้ใช้ตัวบทกฎหมายเป็นฐานอย่างเดียว แต่ท่านใช้รัฐศาสตร์เป็นตัวบ่งชี้ในการวินิจฉัย ดูอย่างท่านมานิต วิทยาเต็ม เป็นตัวอย่าง

ในประเด็นแรก วินิจฉัยว่า การดำเนินการเลือกตั้งของ กกต. "ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" คือ กกต.ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว..ว่างั้นเถอะ

แต่พอมาในประเด็นที่สองว่า จะให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่?

ท่านกลับวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งที่บอกเองว่า กกต.ทำถูกแล้ว!?

โตะใจเหม้าะเลย!


มาตรา ๓๐๓ บอกไว้ด้วยว่า กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญท่านเอาเรื่องมาวินิจฉัยเสียเองด้วยคำว่า "ไม่ชอบ" ครั้นจะมั่วไปว่า คำว่าไม่ชอบก็คือทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

เดี๋ยวจะหาว่าประชาชนมั่วเอากับศาลรัฐธรรมนูญ

เหมือนคำว่า "ไม่สุจริต" จะตีความว่าคือ "ทุจริต" ก็คล้ายตู่เอาเอง!


ฉะนั้น เรื่องนี้ ผมว่าอดใจรอคำวินิจฉัยของ "ศาลปกครอง" ราวๆ กลางเดือนนี้ดูน่าจะถูกที่-ถูกศาล และถูกประเด็นมากกว่า เพราะมีผู้นำเรื่องไปฟ้องร้องไว้เช่นกัน

ไอ้ที่นักกฎหมายรับใช้โจรบางคนออกมาบอกว่า กกต.ลาออกไม่ได้ ปลดถ่าย-ไล่ออกไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครมาจัดให้มีการเลือกตั้ง นั้น ฟังแล้วน่าจะเลาะฟันเหยินข้างหน้า ๒-๓ ซี่ออกมาทำลูกเต๋า

อ้างแต่ความล่าช้าด้วยเงื่อนไขตามมาตรา ๑๓๘ ว่าด้วยการสรรหาและการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง


แล้วทำไมไม่ดูมาตรา ๑๔๓ ด้วยล่ะครับว่า "กรณีที่กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน เพราะเหตุอื่นนอกเหนือถึงคราวออกตามวาระ" นั้น รัฐธรรมนูญให้ทำอย่างไร?

ให้นำมาตรา ๑๓๘ มาใช้โดยอนุโลม และให้เบ็ดเสร็จภายใน ๔๕ วันเท่านั้นเอง!

แต่ปัญหาหลักปักอกชาวบ้านตอนนี้ ไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือการเลือกตั้งครั้งใหม่หรอก

อยู่ที่ ๔ กกต.นี่แหละ!

ความจริง เรื่องเลือกตั้งเป็นโมฆะไม่จำเป็นต้องรอวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา ๑๕๙ บอกว่าภายใน ๓๐ วันนับแต่เลือกตั้งให้เรียกประชุมรัฐสภานัดแรก เมื่อเปิดประชุมไม่ได้ทุกอย่างก็สิ้นผลตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ที่ทำไขสือ ไม่หือไม่หันกัน เพราะมันเข้าสู่ "ยุคมั่ว" ที่พวกชั่วมีอำนาจนั่นแหละ.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์