ศาลปกครองได้ฤกษ์ชี้ชะตา คดี กกต.จัดคูหาขัด รธน.16 พ.ค.นี้
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 8 พฤษภาคม 2549 12:26 น.
ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดี กกต.จัดคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง 2 เม.ย.ขัด รธน. 16 พ.ค.นี้ ส่วนพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) จับคำชี้ขาด คดีไอทีวี กับ สปน. กรณีพิพาทสัมปทานมิชอบด้วยกฎหมาย
วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ศาลปกครอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 เม.ย. รับคำฟ้องของนายโพธิพงศ์ บรรลือวงศ์ และนายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน กับพวกรวม 10 คน ฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการ กกต. ในกรณีการจัดคูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. โดยให้ผู้ลงคะแนนเสียงหันหลังให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งในลักษณะที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกเลิกเพิกถอนการเลือกตั้ง วันที่ 2 เม.ย. ดังที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 16 พ.ค.เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ชั้น 31 ห้องพิจารณาคดีที่ 2 และได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันเดียวกันเวลา 15.00 น.
เหตุที่ศาลปกครองกลางไม่สามารถกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และวันนัดฟังคำพิพากษาได้เร็วกว่าวันที่กำหนดข้างต้น เนื่องจากมาตรา 59 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 บัญญัติว่า ก่อนการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกให้ส่งสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวนให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันซึ่งศาลปกครองกลางไม่มีอำนาจย่นระยะเวลาดังกล่าวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) ศาลปกครองกลาง เวลา 14.00 น. นัดนั่งพิจารณาคดีพิพากษาคดี ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ร้องคดี) กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สืบเนื่องมาจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ร้องคดี) ฟ้องว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองระหว่าง บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคำชี้ขาดที่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลการ และเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่เกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับได้โดยอนุญาโตตุลาการ และการที่จะยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดทั้งหมดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาท