ปชช.ไม่พอใจรัฐแก้ปัญหาน้ำมันเหลว ระบุเศรษฐกิจ-การเมือง วิกฤต
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤษภาคม 2549 15:12 น.
เอแบคโพลล์ระบุ ประชาชนกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจ-การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤต โดยเฉพาะการขึ้นราคาสินค้าและบริการ-ราคาน้ำมัน-ว่างงาน พร้อมๆ กับเบื่อหน่ายปัญหาการเมือง เผยไม่พอใจนโยบายแก้ปัญหาราคาน้ำมันของรัฐบาล
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องสำรวจอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดเห็นของสาธารณชนต่อวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2549 จำนวน 1,588 ตัวอย่าง
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง สำรวจอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดเห็นของสาธารณชนต่อวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ในครั้งนี้ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,588 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2549 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจ ดังนี้
ผลสำรวจพฤติกรรมการติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 54.9 ติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจทุกวัน/เกือบทุกวัน ร้อยละ 19.9 ติดตาม 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 14.5 ติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 5.1 ติดตามน้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ ร้อยละ 5.6 ไม่ได้ติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจเลย
เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.7 ระบุว่า อยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 31.3 ระบุว่า ยังไม่วิกฤต และเมื่อคณะผู้วิจัยได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจ กับวิกฤตทางการเมือง และประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 41.3 ระบุว่า ปัญหาการเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่ได้รับจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 97.7 ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ร้อยละ 85.7 รู้สึกวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ร้อยละ 74.3 ระบุว่า รู้สึกเบื่อหน่ายต่อภาวะเศรษฐกิจ ร้อยละ 58.3 ระบุว่า รู้สึกเครียด ร้อยละ 16.0 ระบุว่า มีความขัดแย้งกับคนในครอบครัว ร้อยละ 10.7 ระบุว่า มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน และร้อยละ 8.0 ระบุว่า มีความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน
เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่ได้รับจากสถานการณ์ทางการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 97.2 ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ร้อยละ 74.0 ระบุว่า รู้สึกเบื่อหน่ายต่อเรื่องการเมือง ร้อยละ 69.9 รู้สึกวิตกกังวลต่อปัญหาทางการเมือง ร้อยละ 43.2 ระบุว่า รู้สึกเครียด ร้อยละ 17.2 ระบุว่า มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 16.2 ระบุว่า มีความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน ร้อยละ 14.1 ระบุว่า มีความขัดแย้งกับคนในครอบครัว
สำหรับการใช้ชีวิตและทัศนคติที่ขัดต่อหลักการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 69.0 ระบุว่า มีเงินเก็บออมเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินเดือนที่ได้รับขณะนี้ ร้อยละ 60.6 คิดว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติธรรมดาในกลุ่มผู้ประกอบการ ร้อยละ 46.7 ระบุว่า ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล / หวยใต้ดิน ร้อยละ 44.2 ระบุว่า เคยซื้อสินค้ามา แต่ไม่ค่อยได้ใช้งาน และร้อยละ 35.1 ระบุว่า คิดอยากจะซื้ออะไรก็ซื้อ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสอบถามถึงเรื่องที่ตัวอย่างมีความกังวลในช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการขึ้นราคาสินค้าและบริการ (ร้อยละ 76.5) ปัญหาการขึ้นราคาน้ำมัน (ร้อยละ 53.4) และปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 52.0) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจถึงผลกระทบของการที่น้ำมันขึ้นราคาต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 82.1 ระบุว่า มีผลกระทบ ในขณะที่ร้อยละ 12.3 ระบุว่า ไม่มีผลกระทบ และร้อยละ 5.6 ไม่มีความเห็น
และเมื่อสอบถามถึงประเภทสินค้า และบริการที่คิดว่าจะตัด/ลดการใช้จ่ายในช่วงเวลาที่น้ำมันขึ้นราคา 5 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าประเภทของใช้ฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องสำอาง น้ำหอม เครื่องประดับ (ร้อยละ 63.3) อาหารประเภทฟาสต์ฟูดต่างๆ (ร้อยละ 45.9) ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน (ร้อยละ 38.7) ลดการดูหนัง ฟังเพลงและการท่องเที่ยว (ร้อยละ 35.6) และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว (ร้อยละ 32.1) ตามลำดับ
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างต่อภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องน้ำมันในแต่ละเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 59.1 มีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องน้ำมัน ซึ่งโดยเฉลี่ยมีประมาณ 3,588 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 40.9 ไม่มีภาระดังกล่าว
นอกจากนี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ยังค้นพบถึงราคาน้ำมันสูงสุดที่จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของตนเองและครอบครัว จำแนกตามประเภทน้ำมัน ดังนี้ เบนซิน ออกเทน 91 (ราคา 22.56 บาท/ลิตร) เบนซิน ออกเทน 95 (ราคา 23.40 บาท/ลิตร) และน้ำมันดีเซล (ราคา 21.24 บาท/ลิตร) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตัวอย่างได้ระบุราคาน้ำมันสูงสุดที่ยอมรับได้นั้น ราคาต่ำกว่าราคาน้ำมัน ณ ปัจจุบัน
สำหรับความพอใจต่อการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาด้านราคาน้ำมันของรัฐบาลที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 47.2 ไม่พอใจต่อการดำเนินนโยบายดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 21.4 ระบุว่า พอใจ และร้อยละ 31.4 ไม่ระบุความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงการมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 79.3 ระบุว่า ประหยัดน้ำ/ประหยัดไฟฟ้า ร้อยละ 34.1 ใช้บริการขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 27.6 ขับรถด้วยความเร็วที่ประหยัดน้ำมัน ร้อยละ 12.0 ใช้แก๊สโซฮอล์/ใช้พลังงานทดแทน ในขณะที่ร้อยละ 11.7 ระบุอื่นๆ อาทิ ลดการหุงต้มอาหาร/ซื้ออาหารปรุงสำเร็จ เพื่อประหยัดแก๊ส เป็นต้น
ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ ยังค้นพบว่า แนวคิดการรณรงค์เดินทางด้วยรถจักรยานเพื่อช่วยประหยัดพลังงานนั้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.4 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 19.0 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 14.6 ไม่มีความเห็น
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอย่างเกือบร้อยละ 80.0 เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้าง เลนจักรยาน สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยรถจักรยาน ในขณะที่ร้อยละ 9.5 ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ปลอดภัย / เสียพื้นที่ถนนและทางเดินเท้า / คนไทยรักความสบายเกินไป เป็นต้น
และร้อยละ 10.6 ไม่มีความเห็น และเมื่อสอบถามถึงความคิดที่จะเปลี่ยนมาใช้จักรยานในการเดินทาง ถ้ามี เลนจักรยาน พบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 52.4 คิดว่าจะเปลี่ยนมาใช้จักรยาน ร้อยละ 30.2 คิดว่าไม่เปลี่ยน เพราะไม่ปลอดภัย / อากาศร้อนเกินไป / คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่เข้มงวดจับกุมคนกระทำผิดกฎจราจรขับขี่แย่งเลนจักรยาน เป็นต้น และร้อยละ 17.4 ไม่มีความเห็น
สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำมันราคาแพงในขณะนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 65.1) รณรงค์ลดการใช้พลังงาน/ประหยัดน้ำมันใช้ความเร็วที่เหมาะสม (ร้อยละ 58.0) เร่งปรับปรุงคุณภาพของระบบขนส่งมวลชนให้เป็นทางเลือกใหม่ให้ได้ (ร้อยละ 56.4) สร้างเลนจักรยาน (ร้อยละ 50.1) และตรึงราคาน้ำมัน (ร้อยละ 44.1) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ค้นพบ คือ ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า ตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 42.5 ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 14.0 เชื่อมั่น และร้อยละ 43.5 ไม่มีความเห็น เพราะไม่รู้ว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาล / ไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี / ยังไม่มีความชัดเจนในทางการเมือง เป็นต้น
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สาธารณชนที่มองว่าปัญหาเศรษฐกิจวิกฤตมีมากกว่ากลุ่มคนที่มองว่าปัญหาการเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และความคิดเห็นของประชาชนมากกว่าปัญหาวิกฤตการเมืองในหลายๆ มิติ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบตัวของประชาชน
ผลกระทบในทางลบประกอบกับผลวิจัยก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นมาจากการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนที่ไม่ได้ยึดแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพราะจากการสำรวจในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีเงินเก็บออมน้อยกว่าเงินเดือนที่ได้รับ ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน จำนวนมากที่ซื้อสินค้ามาแต่ไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่และดำเนินชีวิตบนความประมาททางเศรษฐกิจ อยากซื้ออะไรก็ซื้อ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย
ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า เมื่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมกำลังมาอยู่ในช่วงเดียวกันย่อมส่งผลทำให้อำนาจทางการเมืองของรัฐบาลอ่อนแอ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และคุณภาพชีวิตของประชาชนจะตกต่ำลง
แต่ถ้ามีการมองว่าสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศขณะนี้ เป็นเหมือนการทดสอบประชาชนทุกคนทั้งประเทศ ร่วมมือช่วยกันพาให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปให้ได้ โดยมองว่าทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอยู่ในช่วงของการปรับฐานให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งทางออกที่เป็นไปได้น่าจะมีดังต่อไปนี้
1.ประชาชนทุกคนต้องดูแลตนเอง ดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาทและนำหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาใช้อย่างยั่งยืน ลดละการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ควรปรับทัศนคติในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับสภาพปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการต่อต้านมากกว่าที่เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา