นักวิชาการฉะกกต.สุดมั่ว-ไร้เที่ยงธรรม แนะยุบทิ้งรื้อกฎสรรหาใหม่
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤษภาคม 2549 17:36 น.
นักวิชาการ ตั้งวงชำแหละ กกต.เละ ระบุไร้ความสุจริตและเที่ยงธรรม จัดเลือกตั้งเอื้อพรรคใหญ่ ขัดรธน.ชัดเจน จวกชุดปัจจุบันตีความกม.ได้มั่วที่สุด ชี้ถึงเวลาที่ต้องให้ศาลเช็กบิลได้แล้ว แนะยุบทิ้ง พร้อมรื้อระบบเผด็จการแก้กฎการสรรหาใหม่ เสนอให้เสียง 4 ใน 5 ของสภาฯแทนการรับรองจากวุฒิสภา พร้อมหนุน ตุลาการ-ผู้เชี่ยวชาญ-องค์กรเอกชน มาในตำแหน่งเพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม ฉะ สภาสูงตัวการทำลายระบบองค์กรอิสระ
วันนี้ (7พ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการเสวนาเรื่อง ยุบทิ้ง กกต. โดยเชิญนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช (มสธ.) และน.ส.นภิสา ไวฑูรเกียรติ นักวิชาการอิสระ ที่มีผลงานด้านการวิจัยเรื่องการเลือกตั้งในต่างประเทศ เข้าร่วมเสวนา
โดย นายวรเจตน์ กล่าวถึงปัญหาของกกต.ว่า เริ่มมาจากปัญหาการตรวจสอบอำนาจของกกต.ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดว่ากกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงองค์กรเดียว แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 13/2543 ที่ชี้ขาดว่า กกต.ใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดดังเช่นตุลาการ และคำวินิจฉัยที่ 52/2546 ทำให้การใช้อำนาจของกกต.ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ ทั้งที่สถานะของกกต.ไม่สามารถรวมศูนย์อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการได้เพียงองค์กรเดียว
ต้องยอมรับยังมีความจำเป็นที่ต้องมีองค์กรจัดการเลือกตั้ง เพราะประเทศไทยมาไกลเกินกว่าการกลับมาให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง แม้จะยุบกกต.ทิ้ง ก็ยังต้องมีองค์กรใหม่มาจัดการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎระเบียบ การบริหารจัดการเลือกตั้ง และอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งต้องถูกตรวจสอบได้ ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจของกกต.ก็จะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ต้นแบบของกกต.ไทยจะมาจากอินเดียแต่ของอินเดียสร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของกกต.แต่ของไทยไม่มี นายวรเจตน์ กล่าว
นายวรเจตน์ กล่าวว่า ปัญหาอำนาจหน้าที่ของกกต.โดยเฉพาะปัญหาการประกาศผลการเลือกตั้ง ทั้งที่การเลือกตั้งคือการที่ประชาชนแสดงเจตจำนงค์เลือกตัวแทนของตัวเอง ซึ่งในต่างประเทศเมื่อมีการนับคะแนนนั่นคือผลการเลือกตั้ง แต่ในประเทศไทยยังต้องมีการรับรองผลการเลือกตั้งของกกต. ซึ่งหากกกต.ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเท่ากับเป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงลงคะแนนของประชาชน ดังนั้นหากกกต.ไม่ประกาศผลรับรองก็ควรมีระบบตรวจสอบ เพราะวันนี้อำนาจการให้ใบเหลืองใบแดงแก่ผู้สมัครเป็นอำนาจเด็ดขาดของกกต. หากใครสามารถควบคุมกกต.ได้ ก็สามารถคุมใบเหลืองและใบแดงได้ รวมถึงการสั่งการเลือกตั้ง ต้องสามารถนำคดีเข้าสู่ศาลว่ากกต.ใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่เพื่อเกิดการถ่วงดุล รวมถึงวิธีการทำงานของกกต. ที่ใช้มติเอกฉันท์ในการพิจารณาทำให้เสียงข้างน้อยชนะเสียงข้างมาก คือ 1 เสียง ชนะ 4 เสียง จึงควรปรับเป็น 4 ใน 5 หรือ 3 ใน 4 โดยยอมรับในเสียงข้างมาก
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า สำหรับที่มาของกกต. ส่วนหนึ่งต้องมาจากองค์กรเอกชน และผู้มีความรู้ทางกฎหมาย โดยตนไม่ต่อต้านเรื่องของพรรคการเมืองในการสรรหากกต. เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่าแต่ละองค์กรย่อมมีการเมืองแฝงอยู่ จึงให้พรรคการเมืองมีช่องทางในการต่อสู้ผลประโยชน์ในเบื้องต้นและพรรคการเมืองถือว่าเป็นขุดเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาน แต่ต้องให้พรรคการเมืองไม่ใช่ส่วนสำคัญของการสรรหาแต่ให้เกิดการต่อสู้กันทางการเมืองในชั้นการสรรหา เพราะหากกกต.มาจากศาลเพียงอย่างเดียวจะขาดฐานความชอบธรรม เนื่องจากศาลมีจุดอ่อนคือศาลยุติธรรมที่เป็นระบบปิดไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ส่วนการลงมติเห็นชอบควรอยู่ที่ส.ส. โดยใช้เสียงข้างมากถึง 4 ใน 5 หรือ 400 ต่อ 500 เสียง ดังนั้นคงต้องมีกกต.ต่อไป แต่หากมีการปรับโครงสร้างใหม่ ก็ต้องยุบกกต.ชุดปัจจุบันออกไปก่อน
ส่วนศาลที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอำนาจของกกต. ปัญหาอยู่ที่วิธีพิจารณาคดีเลือกตั้งว่าจะเฉพาะอยู่เพียงศาลเดียวหรือหลายศาล ซึ่งตนเห็นว่าหากเป็นการวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งเป็นโมฆะทั่วประเทศคงต้องเป็นศาลเดียวซึ่งอาจเป็นศาลปกครองสูงสุด แต่หากเป็นการเลือกตั้งในคดีบุคคล ซึ่งมีคดีร้องเรียนจำนวนมาก อาจให้ศาลจังหวัดเป็นผู้เพิกถอนสิทธิอาจารย์นิติฯมธ.กล่าว
นายวรเจตน์ กล่าวว่า สำหรับการกำหนดวันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 115 และ 116 ตนมองว่าอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ทันที แต่การที่รัฐบาลไปปรึกษากับกกต. ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งซึ่งได้คำตอบจากกกต.ว่า สามารถจัดการเลือกตั้งได้ 30 วันเป็นอย่างน้อยถือว่าทำถูกต้องแล้ว และหากให้มีการเลือกตั้งในกรณียุบสภามากกว่า 45 วัน รวมทั้งต้องมีการกำหนดอำนาจให้ชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยว่ารัฐบาลมีหน้าที่ยุบสภาอย่างเดียวและกกต.ประกาศวันเลือกตั้ง ดังนั้นแม้การกำหนดวันเลือกตั้งเพียง 37 วัน จะไม่เหมาะสม แต่ไม่เป็นปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย และหากเห็นว่าผิด ก็จะไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง เพราะการลงคะแนนได้เกิดขึ้นแล้ว
การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะได้ต้องไม่ใช่จากการจัดเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องที่ของเหตุแห่งการลงคะแนนว่าเสียงของประชาชนที่ลงคะแนน16ล้านเสียงนั้นไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งอาจมาหลายสาเหตุคือ การตั้งคูหาทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ การเปิดให้ผู้สมัครสามารถสมัครข้ามเขตทำให้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของลงคะแนน รวมถึงการจ้างผู้สมัครพรรคเล็กลงสมัคร ซึ่งประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะคือ คะแนนที่ลงมาเสียทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. หรือ 23 เม.ย. และหากศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จำเป็นต้องมีเหตุผลเพื่อหักล้างกับการลงคะแนนของประชาชน ที่ทำให้เสมือนไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นนายวรเจตน์กล่าว
ด้าน นายคมสัน กล่าวว่า ถ้าจะให้เทียบกกต.ชุดที่แล้วกับกกต.ชุดปัจจุบันเหมือนฟ้ากับเหว โดยกกต.ชุดนี้ทำงานผิดพลาดหลายครั้ง โดยเฉพาะการตัดสินใจกำหนดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการลืมหน้าที่และเจตนารมย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้กกต.จัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ฉะนั้นเมื่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมีการกำหนดวันที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันแล้ว ทางกกต.ต้องมีหน้าที่บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลกำหนดให้จัดการเลือกตั้งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ใช่ทำแบบนี้
เป็นประเด็นที่ตนคิดว่าการกำหนดวันเลือกตั้งก็เป็นประเด็นที่ กกต.ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย รัฐธรรมนูญมาตรา 115 และ มาตรา 116 เจตนารมณ์ของผู้ร่างต้องการให้เกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้นการที่กกต.อ้างว่าการกำหนดวันเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนด กกต.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดวันดังกล่าว ที่มีระยะเวลาเพียง 37 วันนั้น ตามความเป็นจริงแล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 115 นั้น ได้กำหนดไว้ว่า เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45 วัน ตั้งแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง นายคมสัน ระบุ
นายคมสัน กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรา 116 ที่ระบุไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฏรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลา 60 วัน ซึ่งหากถามว่า การกำหนดวันเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นอำนาจโดยตรงของฝ่ายบริหารที่จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ตามที่ กกต.กล่าวอ้าง แต่ กกต.ก็จำเป็นจะต้องตีเจตนารมณ์ของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวว่า มีความต้องการที่จะให้เกิดความเป็นธรรมเกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมกับทุกฝ่ายไม่ใช่มาอ้างแต่ว่าสามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วที่สุดภายใน30วัน
รูปแบบของกกต. ผมเคยพูดมาตลอดว่ากกต.มีเหมาะสมดี แต่หลังจากผ่านมาหลายปีที่ผ่านมา ผมเกิดความลังเลว่าองค์กร กกต.ที่เป็นอยู่ตอนนี้อาจจะไม่เหมาะแล้ว เพราะสภาพของระบอบการเมืองปัจจุบันที่ไม่มีใครคาดฝันว่าคนเพียงหนึ่งคน พรรคการเมืองเพียงหนึ่งพรรคจะครองเสียงข้างมากได้มากขนาดนี้ และก็ไม่มีใครคาดฝันว่าองค์กรอิสระทุกองค์กรที่มีการออกแบบมานั้นจะอยู่ภายใต้การไม่อิสระภายใต้การบริหารของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ไม่มีใครคิดว่าจะมีคนที่มีเงินเยอะ ๆ จะสามารถเข้ามามีอำนาจนายคมสันกล่าว
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีความแปลกประหลาดอย่างมาก ทีเอาสิ่งที่ดี ๆ จากประเทศต่าง ๆ มาใช้กับประเทศไทยไม่สามารถจะทำได้ โดยเฉพาะการตั้ง กกต. ของไทย ก็ไปลอกเลียนมาจากประเทศอินเดีย ที่มี กกต.เข้ามากำกับดูแลการเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนของประเทศอินเดียนั้นประสบความสำเร็จ แต่สำหรับประเทศไทยกลับประสบความล้มเหลวและเดินถอยหลังอย่างสุดกู่ อย่างไรก็ตามโดยส่วนยังเห็นถึงความจำเป็นในการมี กกต.แต่ควรจะต้องกำหนดรูปแบบว่าควรมีรูปแบบอย่างไร ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความล้มเหลวในการตั้งคณะทำงานในรูปของคณะกรรมการมาโดยตลอด รวมทั้งกับ กกต.ชุดปัจุบันนี้ด้วย
กกต.ชุดปัจจุบันถือว่าเป็นชุดที่ตีความกฎหมายได้มั่วที่สุด โดยเฉพาะประเด็นให้มีการเวียนเทียนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ข้ามเขตได้ ซึ่งการตีความกฎหมายเช่นนี้ถือว่าเป็นการตีความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้คน ๆ เดียวสามารถลงสมัครในหลายเขตเลือกตั้งได้ภายในการเลือกตั้งครั้งเดียว และหากในอนาคตถ้าหากมีการรื้อ กกต.ใหม่เห็นว่ากกต.ควรที่มีเพียง5คนหรือไม่เกิน7คน และบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกกต.น่าจะประกอบกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเลือกตั้ง องค์กรเอกชน และบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลยุติธรรมและศาลปกครองมาก่อน โดยเฉพาะในส่วนสุดท้ายจะเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงของการใช้กฎหมาย และการตีความในการใช้กฎหมาย โดยตัดสัดส่วนการมีส่วนร่วมกับการสรรหาของพรรคการเมืองออกไป นายคมสัน กล่าว
นายคมสัน กล่าวตอว่า ส่วนกระบวนการสรรหาโดยวุฒิสภาต้องมีการแก้ไขโดยตัดเรื่องที่ให้เลือกรายชื่อที่เสนอมาสองเท่าออกไป และให้วุฒิสภามีหน้าที่เพียงลงมติเห็นชอบกับรายชื่อตามที่ได้มีการเสนอไปเท่านั้น โดยหากที่ประชุมวุฒิสภาไม่สามารถเลือกตามรายชื่อที่เสนอเข้ามาได้ ก็ให้ส่งรายชื่อบุคคลเข้าไปใหม่
สำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกกต. นายคมสันต์กล่าวว่า นอกจากนี้กกต.ชุดปัจจุบันจำเป็นจะต้องมีการรื้อระบบกันใหม่ โดยจะต้องมีองค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่ควบคุม ถ่วงดุลการใช้อำนาจของ กกต.ที่อาจจะให้มีศาลพิเศษหรือศาลเลือกตั้งเพียงศาลเดียว เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ประกอบมาจากสัดส่วนจากศาลปกครองและศาลฎีกา ให้เข้ามาทำหน้าที่การใช้อำนาจสืบสวนสวนและอำนาจการวินิจฉัยของ กกต.ทั้งหมด โดยทั้งหมดต้องเขียนระบุการใช้อำนาจ และการวินิจฉัยชี้ขาดและการตรวจสอบไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน รวมทั้งต้องระบุด้วยว่า กกต.มีขอบเขตอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใด และองค์กรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบจะสามารถเข้ามาชี้ขาดและทำการตรวจสอบได้มากเท่าใดเช่นกัน
จากการที่พล.ต.อ.วาสนาระบุว่าการใช้อำนาจของ กกต.เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้ ผมมองว่าแนวคิดดังกล่าวมาจากแนวคิดกฎหมายเอกชน โดยเฉพาะประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดไว้เฉพาะการปฏิบัติของบุคคลที่ไม่กระทบต่อบุคคลอื่น แต่ กกต.ใช้อำนาจทางมหาชนซึ่งเป็นองค์กรตามกฎหมายมหาชน ดังนั้นการใช้อำนาจสามารถทำได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ใช้ ประธาน กกต. จึงอาจใช้กฎหมายผิดฉบับที่มากกว่ามองเรื่องกฎหมายมหาชน อาจารย์คณะนิติศาสตร์มสธ. ระบุ
ทั้งนี้ นายคมสัน ยังได้กล่าวถึงต้นเหตุของปัญหาการทำงานขององค์กรอิสระว่า ต้องยอมรับว่าเกิดจากวุฒิสภาเช่นกัน โดยเฉพาะวุฒิสภาชุดนี้ที่ถูกครอบงำโดยผ่ายการเมือง มีทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจที่แอบแฝงเข้าไป โดยส่วนตัวตนเห็นว่าไม่มี่ความจำเป็นต้องมี ส.ว.อีกต่อไป และต่อไปในอนาคตจุดสุดท้าย ส.ว.ก็จะต้องสูญพันธ์เพราะเราต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็เกิดขึ้นมาจาก ส.ว.ชุดปัจจุบันนี้ที่มีส่วนทำให้เกิดขึ้น เพราะในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.แทนการแต่งตั้ง ในที่ประชุมของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ในเวลานั้นก็ยังไม่ใครรู้ว่าจะกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ ส.วชุดที่จะต้องมีการเลือกตั้งจะอำนาจหน้าที่อย่างไร และจะต้องไปทำหน้าที่อะไรบ้างซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด ดังนั้นตนจึงเห็นว่า ส.ว.ที่มีการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ว.ชุดที่พิกลพิการอย่างมากซึ่งหากเราไม่มีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้ การทำงานขอองค์กรอิสระน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้เสียด้วยซ้ำ ส่วนในอนาคตจะต้องมีการทบทวนถึงวุฒิสภาว่าควรจะให้มีอยู่หรือไม่คงต้องดูความจำเป็นทางการเมือง ณ เวลานั้นด้วย
ความเป็นมาของวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีการถกเถียงในชั้นของสสร. ที่ถือได้ว่าเป็นอุบัติเหตุการณ์ทางการเมือง เนื่องจากมีสสร.กลุ่มใหญ่ที่เป็นนักเลือกตั้งอยากลงส.ว.จึงโหวตชนะในเรื่องนี้ นายคมสันต์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.นภิสา กล่าวถึงการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศ ว่า ปัญหาในเรื่องงานของกกต.ของไทยไม่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยที่ในต่างประเทศก็มีเช่นกัน ทั้งนี้รูปแบบในการจัดการเลือกตั้งมีอยู่ด้วยสามลักษณะคือ 1.ทำโดยกระทรวง อย่างเช่น กระทรวงมหาดไทย 2. โดยองค์กรอิสระที่ให้อำนาจเต็มที่ในการจัดการเลือกตั้ง และ3.ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาแต่ให้มีการตรวจสอบโดยอำนาจของตุลาการศาล โดยประเทศไทยเหมาะที่สุดที่จะใช้ในแบบที่สาม เพราะปัญหาของกกต.ของไทยอยู่ที่การตัดสินใจในหลายๆเรื่องของกกต.ที่ทำหลายฝ่ายไม่พอใจ ซึ่งการเปิดให้ตุลาการมาตรวจสอบแล้วควรจะให้สื่อมวลชนเข้าร่วมด้วย เพราะเป็นการให้กกต.ต้องบอกเหตุผลถึงการตัดสินใจในแต่ละครั้ง
อย่างเรื่องปัญหาของการกำหนดวันเลือกตั้งในกฎหมายรวมทั้งระบบรัฐสภาของไทย เหมือนว่าจะให้อำนาจนายกฯมากไป ที่เปรียบเสมือนหนึ่งว่านายกฯสามารถยุบสภาแล้วสั่งให้มีการกำหนดได้เลยว่าจะต้องการเลือกตั้งวันไหน ในเรื่องนี้ควรจะต้องมีการแก้ว่ากกต.หรือนายกฯที่มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้ง นอกจากนี้การที่กรรมการทั้ง 5 คนที่สามารถดำรงตำแหน่งถึง 7 ปี ส่วนตัวมองว่าเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จมากไป ในเรื่องนี้ถ้าตั้งสมมุติฐานว่าการทำงานไม่เป็นกลาง ฉะนั้นทางออกคือการลดวาระในการดำรงตำแหน่งให้น้อยลง เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการหมุนเวียนบุคคลที่จะมาดำรงประธานกกต.ทุกปี เพราะฉะนั้นในเมื่อระบอบของไทยส่งเสริมให้นายกฯมีอำนาจมากเกินไปจะเกิดสภาวะการเบ็ดเสร็จทางอำนาจในระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรที่จะนำมีการกำหนดระยะของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับที่ใช้กับประธานาธิบดี เช่น ไม่ควรเกินของสองวาระหรือแปดปี เป็นต้น
นักวิชาการอิสระ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการกกต.นั้นควรจะมี 9 คน โดย 5 คนให้มาจากองค์กรอิสระที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ส่วนอีกสี่คนมาจากพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสภา สาเหตุที่เสนอให้พรรคการเมืองเข้ามา เนื่องจากต้องยอมรับความเป็นจริงว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของการเมือง ดังนั้นควรที่จะให้พรรคการเมืองเข้ามาตัดสินใจในเรื่องนี้ด้วย เพราะพรรคการเมืองเองก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มาส่วนได้เสียทางการเมืองดีกว่าปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งการที่มีพรรคการเมืองเข้ามาจะได้ช่วยเกิดความการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อที่การตัดสินใจนั้นทุกฝ่ายจะได้เกิดความพอใจร่วมกัน และที่สำคัญจะต้องมีการหมุนเวียนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานกกต.ทุกปีด้วย ซึ่งข้อดีคือป้องกันการอำนาจเบ็ดเสร็จในองค์กร เนื่องจากในทุกองค์กรเต็มไปด้วยผลประโยชน์ ดังนั้นการให้อำนาจผู้นำองค์กรโดยการดำรงตำแหน่งติดต่อกันนานเกินไป ไม่มีวันที่การตัดสินที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะอยู่บนพื้นฐานของความอิสระได้
ส่วนการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกกต.ให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับรองไม่ใช่วุฒิสภา โดยใช้การเลือกให้ใช้เสียงโหวตในระดับที่สูงมาก เช่นสี่ในห้า คือ ถ้าสภาผู้แทนฯมีห้าร้อยคนให้ใช้เสียงสี่ร้อยเสียง เพื่อทำการคัดเลือก เป็นต้น โดยระบบทั้งจะอยู่บนสมมุติฐานว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ดังนั้น จึงควรที่จะออกแบบระบบให้เข้มแข็งเพื่อป้องกันปัญหาการคอรัปชั่นให้น้อยที่สุด น.ส.นภิสา กล่าว