กกต.อ่วม! เจอฟ้องอีก 2 คดีอมเงินกองสลาก-ออกกฎหาเสียงมิชอบ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 พฤษภาคม 2549 17:57 น.
กกต.ยังไม่หมดเคราะห์ เจอฟ้องอีก 2 คดี ยักยอกทรัพย์อมเงินกองสลาก 30 ล้าน เข้ากระเป๋าตัวเอง แต่อ้างนำไปใช้สนับสนุนสมาคมเพื่อประชาชนในการเลือกตั้ง ยันมีหลักฐานชัดมั่นใจเอาผิดได้ ส่วนอีกคดี ผู้สมัคร ส.ว.อกหัก ยื่นศาล ปค.ฟ้องฐานออกระเบียบติดป้ายหาเสียงมิชอบด้วย กม.พร้อมจี้ระงับรับรองผลว่าที่ ส.ว.
วันนี้ (4 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นายเกรียง วิศิษฐ์สรอรรถ กรรมการและเหรัญญิกสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 128/1 ถนนราชสีมา ซอยหอประชุมคุรุสภา ชั้น 4 ดุสิต กรุงเทพฯ เข้ายื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ กับพวกอีก 13 คน อันได้แก่ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายการมีส่วนร่วม พล.ต.ต.เอกชัย วารุณ ประภา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง พล.อ.ยรรยง ว่องวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายบุญยงค์ นิลวงศ์ ที่ปรึกษากรรมการการเลือกตั้ง พล.อ.ประเทือง คำทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมการการเลือกตั้ง พล.ท.วิบูลย์ วิเชียรวรรณ ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง นายประกิจ กัญญาบาล รองเลขาธิการฝ่ายส่วนร่วมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นางศิริรัตน์ เบ้าจรรยา ผู้ชำนาญการศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พล.ต.เจริญ เตชะวนิช ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และเผยแพร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ จำเลย 11-14 พล.อ.ปัญญา สิงห์ศักดา อดีตนายกสมาคม โจทก์ นายวรพจน์ วงศ์สง่า อดีตอุปนายกสมาคม นายวินัย โภคทรัพย์ อดีตเหรัญญิกสมาคม พล.อ.ประเสริฐ พรรคเจริญ อดีตรับราชการทหาร ด้วยข้อหาฐานร่วมกัน หรือสนับสนุนในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและหรือโดยสุจริต ตามคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2254/2549
โดยมีข้อกล่าวหาว่า พล.ต.อ.วาสนาและพวก ได้เข้ามามีส่วนบริหาร หรือร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องจากวันที่ 12 มกราคม 2548 จำเลยทั้ง 14 คน ได้ร่วมกันใช้อิทธิพลอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในการให้คุณให้โทษเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้แก่ฝ่ายรัฐบาลและที่มีต่อไป โดยใช้อำนาจครอบงำแฝงต่างๆ จนทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยอมให้เงินรายได้โดยการออกสลากพิเศษมาให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสมาคม ซึ่งจำเลยทั้ง 14 คนได้ร่วมกันวางแผนแยบยลซ่อนเงื่อนและซ่อนเร้นแอบแฝงอำพรางในการปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต โดยอ้างชื่อในนามสมาคม เป็นเครื่องมือและผู้เสนอโครงการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อขอเงินสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อจะมาผลิตเอกสารเผยแพร่ของสมาคม แต่แล้วนำจำเลยได้นำเงินดังกล่าวมาใช้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
คำฟ้องยังระบุอีกว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ให้เงินงวดแรกมาก่อนเป็นเงิน 30 ล้านบาท ในวันที่ 27 มกราคม 2548 สั่งจ่ายเป็นเช็คเข้าบัญชีสมาคมรัฐธรรมนูญฯ โดยจำเลยทั้ง 14 คน ได้เตรียมทำบันทึกร่วมกันใช้เงินที่ได้มาร่วมกันตามโครงการที่จำเลยที่ 1-10 เป็นกำหนดแต่ผู้เดียว แต่เรื่องดังกล่าวได้ปกปิดความจริงไม่แจ้งให้คณะกรรมการสมาคมอื่นๆ ทราบ กลับแจ้งเท็จว่า จำเลยทั้งหมดร่วมกันหามาได้เป็นการส่วนตัวจากราชการลับในนามกองทุนพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นเงินของสมาคม ทั้งไม่อาจเปิดเผยแหล่งที่มาจากแหล่งใดได้ รวมทั้งไม่ยอมแจ้งบัญชีการได้เงินและใช้จ่ายโครงการต่างๆ ที่ดำเนินไปแล้ว
จากนั้นจำเลยทั้ง 14 คน ได้ทุจริตคิดมิชอบร่วมกันแสวงหาประโยชน์โดยการยักยอกเงินดังกล่าวไปเป็นส่วนตัว ด้วยวิธีการโอนเงิน 30 ล้านบาท จากบัญชีของสมาคมไปเข้าบัญชี โดยการอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนในการเลือกตั้ง แต่จำเลยได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในทางส่วนตัว อาทิ นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ โดยอ้างว่าไปศึกษาดูงาน รวมทั้งซื้อรถใหม่ และไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ จนกระทั่งทางสมาคมตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงได้สอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำฉ้อฉลดังกล่าวที่เป็นกรรมการของสมาคม ได้รับข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมา ภายหลังจำเลยที่ 11-13 ได้ยอมจำนนด้วยหลักฐานและลาออกจากสมาคมในที่สุด ซึ่งต่อมาทางสมาคมได้ตรวจสอบหลักฐานจากธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงศึกษาธิการ พบว่า เป็นเงินของสมาคมโจทก์ที่ได้มาจากสำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 30 ล้านบาท ไม่ใช่เงินส่วนตัวของจำเลยแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวน่าจะมีความผิดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84, 86, 90, 91 และมาตรา 152 และ 157
นายเกรียง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการยื่นฟ้อง ว่า เราเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลอย่างร้ายกาจ โดยเรามีทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสารอย่างชัดเจน สามารถเอาผิด กกต.และพวกที่มีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล รับความผิดในคดีอาญาได้ ซึ่งศาลได้นัดมาฟังการไต่สวนในวันที่ 24 ก.ค.2549 นี้
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น.ที่ศาลปกครอง นายจีระสิทธิ์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หมายเลข 118 เดินทางมาที่ศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.ออกประกาศ กทม.เรื่องกำหนดสถานที่ หลักเกณฑ์และวิธีการปิดประกาศแผ่นประกาศ หรือติดแผ่นป้ายแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ในที่สาธารณะ ให้ติดป้ายแนะนำตัวตามเสาไฟฟ้าและต้นไม้ได้ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ซึ่งเป็นการออกประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2548 กกต.ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดสถานที่ในการปิดประกาศ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2548 นายอภิรักษ์ ผู้ว่าฯ กทม.ก็ประกาศตามข้อกำหนดของ กกต.ที่กำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
แต่แล้ว กทม.ก็ออกประกาศอีกครั้งในวันที่ 7 เม.ย.2549 ซึ่งเป็นการออกประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเกินกำหนด 30 วันที่ กกต.กำหนด จึงมายื่นศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนประกาศของ กทม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.และให้ กกต.ระงับการรับรองผล ส.ว.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ และขอให้ศาลมีคำสั่งจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ขึ้นใหม่ และให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นายจีระสิทธิ์ กล่าวและว่า การกระทำของ กทม.เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ตามมาตรา 50 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายจีระสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า การประกาศของ กทม.เมื่อวันที่ 7 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มี ผู้สมัคร ส.ว.จำนวน 16 คน นำป้ายแนะนำตัวไปติดตามเสาไฟ และต้นไม้ ประกอบไปด้วย หมายเลข 6, 207, 66, 54, 146, 91, 13, 159, 213, 7, 228, 98, 74, 44, 72 และ 34 ที่ถือว่าอาจมีความผิด ทั้งนี้ มี 7 คนที่เป็นว่าที่ ส.ว.ด้วย อาทิ หมายเลข 159 ของนายสมัคร สุนทรเวช หมายเลข 7 ของนางนลินี ทวีสิน เป็นต้น โดยในการยื่นฟ้องครั้งนี้ของ นายจีระสิทธิ์ ได้นำหลักฐาน แผ่นวีซีดีและภาพนิ่ง ที่ผู้สมัคร ส.ว.นำป้ายแนะนำตัวไปติดตามต้นไม้และเสาไฟฟ้าแนบประกอบคำฟ้องด้วย