ซูเปอร์โพล เผย คะแนนความนิยมประชาชน ต่อ ปชป.ดิ่งลง หลังร่วมรบ.เพื่อไทย


ซูเปอร์โพล เผย คะแนนความนิยมประชาชน ต่อ ปชป.ดิ่งลง หลังร่วมรบ.เพื่อไทย

เมื่อวันที่ 1 กันยายน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความนิยมต่อประชาธิปัตย์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,346 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

เมื่อวิเคราะห์ความนิยมของประชาชนคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ต่อพรรคประชาธิปัตย์ หลังมีข่าวเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า คะแนนนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก เพียงร้อยละ 39.9 ในขณะที่คะแนนนิยมส่วนใหญ่ต่อพรรคประชาธิปัตย์ลดลงหรืออยู่ในแดนลบ ถึงร้อยละ 60.1 ในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อวิเคราะห์ความนิยมของประชาชนคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยต่อพรรคเพื่อไทย หลังมีข่าวพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล พบว่า คะแนนนิยมต่อพรรคเพื่อไทยกลับเพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก สูงถึงร้อยละ 80.4 ในขณะที่คะแนนนิยมต่อพรรคเพื่อไทยลดลงหรืออยู่ในแดนลบ มีอยู่ร้อยละ 19.6 ในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทย

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอาชีพของคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า พรรคประชาธิปัตย์เสียคะแนนนิยมในกลุ่มพนักงานเอกชนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด คือร้อยละ 81.1 รองลงมาคือกลุ่มเกษียณอายุ ร้อยละ 66.7 กลุ่มค้าขายอาชีพอิสระ ร้อยละ 65.3 กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 62.3 และกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 54.7 ของกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอาชีพของคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทย พบว่า หลังมีข่าวพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับทำให้คะแนนนิยมของประชาชนคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก สูงสุดในกลุ่มเกษียณอายุร้อยละ 81.8 รองลงมาคือ กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 80.6 กลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 79.2 กลุ่มค้าขาย อาชีพอิสระ ร้อยละ 73.8 และกลุ่มพนักงานเอกชน ร้อยละ 66.9 ของกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย

ที่น่าสนใจอีกประเด็นของผลสำรวจครั้งนี้คือ ความรู้สึกของประชาชน เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบ พบว่า จำนวนมากสุดหรือร้อยละ 44.1 รู้สึกเฉยๆ ในขณะที่ร้อยละ 29.7 เสียใจ แต่สัดส่วนใกล้เคียงกันคือร้อยละ 26.2 กลับรู้สึกดีใจ

รายงานของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลครั้งนี้สะท้อนถึงความรู้สึกและการตอบสนองทางอารมณ์ของประชาชนต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุดในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ การร่วมรัฐบาลของพรรค

ประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความไม่พอใจเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยกลับมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นสูง นอกจากนี้ การยุบพรรคก้าวไกลยังสร้างความรู้สึกที่หลากหลายในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นสัญญาณของการแบ่งขั้วทางความคิดและการตอบสนองที่แตกต่างกันตามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยที่อาจนำพาไปสู่วงจรอุบาทว์ซ้ำซากได้

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า เพื่อตอบโจทย์ของการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการสนับสนุนจากประชาชนต่อการขับเคลื่อนประเทศตามระบอบประชาธิปไตยในอนาคต สำนักวิจัยซูเปอร์โพลจึงจัดทำข้อเสนอแนะที่อาจช่วยให้กลุ่มการเมืองต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการและคาดหวังของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลทางการเมืองการปกครองประเทศหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ซ้ำซาก

1. เพิ่มความโปร่งใสและมีส่วนร่วม กลุ่มการเมืองควรเพิ่มความโปร่งใสในการตัดสินใจและนโยบายต่างๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการต่างๆ เช่น การจัดทำนโยบาย การแก้ไขปัญหาสังคม หรือการวางแผนการพัฒนาต่างๆ โครงการสำคัญตามนโยบายเฉพาะพิเศษของรัฐบาล เช่น เงินดิจิทัล ซอฟต์พาวเวอร์ การให้สิทธิพิเศษต่อชาวต่างชาติและบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น

2. สื่อสารที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ การให้ข้อมูลที่ชัดเจนและสม่ำเสมอเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่กำลังดำเนินการ จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจและติดตามผลงานของพรรคได้ง่ายขึ้น และช่วยสร้างความไว้วางใจ...

3. ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนในระดับท้องถิ่นและแหล่งเลือกตั้งของตน เพื่อสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการจริงๆ ของพวกเขา ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมและการสนับสนุน

4. ส่งเสริมความเป็นธรรมและการบริหารจัดการที่ดี พยายามลดการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือกลุ่ม โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ดีและเป็นธรรม สนับสนุนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ

5. การศึกษาและการพัฒนาความรู้ระบบการเมือง ส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาความรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจในระบบการเมืองและนโยบายต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน

6. ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เฉพาะเจาะจง มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น การเพิ่มการจ้างงาน การบริหารจัดการทรัพยากร การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรมความรู้ วิจัยนวัตกรรมต่างๆ

โดยรวมแล้ว ความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางการเมืองที่ยั่งยืนจะต้องอาศัยความโปร่งใส ความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลักจะช่วยทำให้ประเทศไทยห่างไกลวงจรอุบาทว์ได้ไม่ยากนัก...


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์