เปิดประวัติ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เเคนดิเดตนายกฯ ที่น่าจับตามอง


เปิดประวัติ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เเคนดิเดตนายกฯ ที่น่าจับตามอง

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ซึ่งส่งผลให้นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ โดยหนึ่งในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คือ "อุ๊งอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

โดยชื่อของ "อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร" บุตรสาวคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งนายทักษิณยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ในฐานะหนึ่งในแคนดิเดตที่อาจได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

อุ๊งอ๊งค์ แพทองธาร เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2529 โดยแต่เดิมชื่อ "อิ๊งค์" เท่านัน แต่คนมักเรียกอุ๊งอิ๊งค์ สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

ในช่วงอายุประมาณ 18 ปี เคยมีข่าวดังเมื่อเธอได้ไปฝึกงานที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาสยามสแควร์ โดยนายทักษิณยังเดินทางไปอุดหนุนด้วยตัวเอง ซึ่งผู้เป็นพ่อได้ให้สัมภาษณ์ในเวลานั้นว่าต้องการให้ลูกสาวมีประสบการณ์

นายภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เคยกล่าวไว้ในวิดีโอ "The Candidate Paetongtarn (เดอะ แคนดิเดต: แพทองธาร ชินวัตร)" ว่า อุ๊งอิ๊งค์ซึมซับการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เพราะได้เห็นกระบวนการตั้งแต่การตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งบ่อยครั้งมักประชุมกันที่บ้านนายทักษิณ ทำให้ได้เห็นการประชุม รู้นโยบายทั้งหมดของพรรคเพราะได้ฟังหลายรอบ ทั้งตอนเตรียมตอนปราศรัย

เคยมีรายงานว่า อุ๊งอิ๊งค์มีความฝันอยากเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้สอบเข้าศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ท่ามกลางข้อครหาเรื่อง "ข้อสอบรั่ว"

โดยเธอยืนยันในระหว่างการหาเสียงปี พ.ศ. 2566 ว่า เธออ่านหนังสือและเรียนพิเศษเหมือนกับเด็กคนอื่นจนสอบติด ไม่ใช่มีข้อสอบรั่วหรือทุจริตการสอบโดยใช้อำนาจบิดาที่ตอนนั้นเป็นนายกฯ

ช่วงที่เธอเรียนอยู่เริ่มเกิดกระแสต่อต้านนายทักษิณ จนกระทั่งเกิดการรรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 กลายเป็นวิกฤตการเมืองที่ส่งผลต่อทั้งพรรคเพื่อไทยและตัวเธอเอง

จากนั้นในปี พ.ศ. 2551 หลังจบจากจุฬาฯ เธอได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชา Msc International Hotel Management ที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ และกลับมาดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว โดยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ด้านบริหาร กลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัทเรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด กรรมการบริษัทธุรกิจในเครือโรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ, โรงแรม เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ และสนามกอล์ฟอัลไพน์ โรงแรมเอสซี ปาร์ค

ด้านชีวิตส่วนตัว เธอสมรสกับ ปิฎก สุขสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมโรสวูด ฮ่องกง มีบุตรสาว 1 คน คือ ธิธาร สุขสวัสดิ์ และมีบุตรชาย 1 คน คือ พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์

แพทองธารเริ่มเข้ามามีบทบาทในเส้นทางการเมืองอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2564 เมื่อ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศลาออกในงานนั้น และเปิดตัวแพทองธารเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค

ต่อมาในการประชุมของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 เธอได้รับตำแหน่ง "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย" ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อกันว่า เป็นการปูทางให้พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อเธอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่เจ้าตัวระบุว่า หัวหน้าครอบครัวกับหัวหน้าพรรคเป็นคนละตำแหน่งกัน รวมถึงไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า เธอจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยหรือไม่

จากนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 เธอกล่าวว่า พร้อมที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งระบุพร้อมจะจับมือกับทุกพรรคหากมีความคิดเรื่องนโยบายตรงกัน

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ต่อมาเดือนมีนาคมแพทองธารให้สัมภาษณ์สื่อว่า หากพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนไม่เอารัฐประหารเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ก็พร้อมจะพูดคุย

จนที่สุดในเดือนถัดมา พรรคเพื่อไทยเสนอชื่ออุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ เศรษฐา และนายชัยเกษม นิติสิริ

ในช่วงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้แพทองธารเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และรองประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติอีกตำแหน่งหนึ่ง

หลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ประชุมพรรคได้มีมติเลือกแพทองธารเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นคนที่ 8 โดยเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในปี 2567 แพทองธารยังได้เข้าศึกษาที่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต ด้วย

 



เครดิตแหล่งข้อมูล : PPTVHD


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์