ปริญญา มองคำร้องยุบก้าวไกล เปรียบสั่งฟ้อง โดยไม่แจ้งข้อหา


ปริญญา มองคำร้องยุบก้าวไกล เปรียบสั่งฟ้อง โดยไม่แจ้งข้อหา


ปริญญา มองคำร้องกกต. ยุบก้าวไกล ขัดพรป.พรรคการเมือง ชี้ข้ามขั้นตอน เปรียบอัยการส่งฟ้อง โดยไม่แจ้งข้อหา จับตา 18 มิ.ย.นี้ ศาลสั่งไต่สวนหรือไม่ ? 

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่าน รายการ "มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์" ผ่านทางยูทูป มติชนทีวี ถึงแนวทางในการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวมองว่า ประเด็นโต้แย้งที่พรรคก้าวไกลแถลง มีประเด็นที่น่าสนใจ ไม่เพียงแต่เนื้อหาว่า จะยุบหรือไม่ยุบตามที่กกต.ได้ร้อง แต่ยังมีประเด็นในเรื่องขั้นตอนด้วย

ทั้งนี้ ส่วนตัวยอมรับว่า แม้จะเข้าใจว่า คำร้องของกกต.มีข้อบกพร่อง แต่เมื่อได้อ่านจริงๆคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และยิ่งฟังทางฝั่งกกต. ยิ่งเห็นเลยว่า ทำไมกกต.ต้องออกมาแก้ขนาดนั้น

เดิมส่วนตัวเข้าใจว่า กกต.ได้ร้องเฉพาะ มาตรา 92 (1) ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่เมื่อกกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการการล้มล้างการปกครองฯ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

ดังนั้น เมื่อพิจารณาอย่างรวดรัด ก็พอจะเข้าใจได้ว่า กกต.คงถือว่า ทั้งฝ่ายผู้ร้องคือ กกต. ทั้งฝ่ายผู้ถูกร้องคือพรรคก้าวไกล ได้แก้ข้อกล่าวหาจนจบแล้วในคำร้องที่แล้ว จึงยื่นต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเลย

แต่เมื่อพิจารณาในตัวคำร้องนี้ ที่กกต.เสนอศาลกลับมีการร้องให้ยุบพรรค ตามมาตรา 92(2) มาด้วย

นั่นคือ กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ซึ่งถือเป็นข้อหาใหม่

ยิ่งข้อหาใหม่นี้มีปลายทาง คือโทษประหารชีวิต เพราะพรรคการเมือง สถานะตามกฎหมายไทย คือเป็นนิติบุคคล เป็นบุคคลตามกฎหมาย ฉะนั้นการยุบพรรคเท่ากับประหารชีวิตพรรคการเมือง นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็แล้วแต่ จึงจำเป็นต้องทำตามขั้นตอน ตอนตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง

ซึ่งตามขั้นตอน ของมาตรา 93 ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง เขียนชัดเจนว่า "เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อกกต.เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด"

นี่จึงมีประเด็นว่า ถ้ายุบพรรคด้วยเหตุการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง ต่อให้ศาลวินิจฉัยแล้ว แต่ถ้าเป็นคำร้องใหม่ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง สมมติว่า ผู้ถูกร้องได้ยุติการกระทำแล้วตามคำร้องแรก เหตุในการยุบพรรคตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองมันก็ต้องหมดไป

แต่ถ้าศาลสั่งให้ยุติการกระทำ แต่ผู้ถูกร้องยังดำเนินการอยู่ กกต.ก็ต้องให้ฝ่ายถูกร้องยุบพรรคได้แก้ต่างอยู่ดี

"ถ้าเปรียบข้อหาใหม่นี้กับการที่อัยการสั่งฟ้องในข้อหา ซึ่งไม่เคยมีการแจ้งข้อหาต่อผู้ต้องหา แล้วยังไม่เคยให้ผู้ถูกฟ้องแก้ข้อกล่าวหาเลย วิธีการสั่งฟ้องแบบนี้ เมื่อไปถึงศาลทั่วไป ศาลปัดตกหมด เพราะถือว่าสั่งฟ้องมา โดยไม่ได้ตั้งข้อหาต่อผู้ต้องหาเลย อันนี้เป็นประเด็นใหญ่ ที่มีข้อบ่งพร่องมาจริงๆ" ดร.ปริญญาระบุ

ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า เดิมเรื่องเหล่านี้ในทั้งฉบับ 2540, 2550 ไม่มี การสั่งให้ยุติการกระทำ ในเรื่องที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง มีการบัญญัติไว้เสมอว่า ถ้าผู้ที่กระทำเป็นพรรคการเมือง แล้วถูกศาลสั่งให้ยุติการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งให้วินิจฉันยุบพรรคการเมืองนั้นได้ด้วย

กล่าวคือ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540,2550 กกต.ร้องทีเดียวถึงยุบพรรคได้เลย

แต่พอมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 เรื่องนี้ถูกตัดทิ้งไป จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมกกต.ถึงมาร้องอีกคำร้องหนึ่ง

ดังนั้น หากจะเทียบมาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมืองกับกฎหมายอาญา ก็เหมือนกับฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิต ส่วนมาตรา 93 บอกกระบวนการในการพิจารณา

ถ้าเกิดเหตุตามมาตรา 92 เมื่อไหร่ นายทะเบียนพรรคการเมือง ในทีนี้คือเลขาธิการกกต. ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเสนอต่อกกต.

ส่วนมาตรา 93 ถ้าเทียบกับคดีอาญาก็เหมือนวิธีพิจารณาความอาญา ขั้นตอนในการทำคำร้อง อัยการจะส่งฟ้องต่อศาลต้องทำอย่างไรบ้าง

"เรื่องนี้จึงกลายเป็นว่า ถ้าหาก กกต.สามารถเลือกได้ว่า จะใช้มาตรา 93 หรือจะฟ้องเอง โดยไม่ต้องมีการไต่สวนตามระเบียบ ก็จะกลายเป็นว่า กกต.จะมีอำนาจในลักษณะที่ว่า อยากสั่งประหารชีวิตพรรคการเมืองใด ก็ไม่ต้องฟังเขาเลย ยิงตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้หมด ทั้งๆที่มาตรา 93 ระบุชัดว่า ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนต้องรวบรวม หลักฐานข้อเท็จจริงตามระเบียบ และส่งกกต.พิจารณาก่อน ถ้ามติเห็นว่ายุบ ถึงจะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่มีส่วนใดของกฎหมายเปิดให้กกต.ข้ามขั้นตอนได้เลย ดังนั้นผมในฐานะนักกฎหมายเห็นว่า คำร้องนี้ของกกต​.ขัดพ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วยซ้ำไป" ดร.ปริญญา กล่าว

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ตามปกติในศาลอื่น การต่อสู้ในเรื่องของกระบวนการสั่งฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายถือว่า เป็นข้อต่อสู้ที่มีน้ำหนัก ถึงขั้นยกฟ้องมาแล้วเยอะแยะ แต่ในศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านเหมือนจะไม่ค่อยให้น้ำหนักเท่าไหร่หนัก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ อีกครั้งว่า จะกำหนดประเด็นอะไรออกมา จะให้มีการไต่สวนหรือไม่ แล้วจะไต่สวนกี่ประเด็น เป็นประเด็นอะไรบ้าง แล้วจะรับฟังพยานหลักฐานขนาดไหน ซึ่งคดีนี้จะสั้นจะยาวทั้งหมดอยู่ที่ผลในวันที่ 18 มิถุนายนนี้.


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์