ศาลฎีกายกฟ้อง เอ๋ ปารีณา เผยเตรียมฟ้องกลับ ม.157


ศาลฎีกายกฟ้อง เอ๋ ปารีณา เผยเตรียมฟ้องกลับ ม.157



วันนี้ (30 พ.ค.67) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ได้นัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดี อม.อธ. 10/2566 คดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประรัฐ กรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ จึงขอให้ศาลฯ ลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 114 วรรคสอง (1), 167 และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 81

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ยกฟ้องในคดีนี้

สำหรับคำฟ้องของ ป.ป.ช. ที่กล่าวหาคือ นางสาวปารีณา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีเข้ารับตำแหน่ง สส. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จำนวน 2 รายการ คือรายการเงินให้กู้ยืม และรายการพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย และสมเด็จนางพญาพิษณุโลก พิมพ์ออกนูนใหญ่

ขณะที่บรรยากาศบริเวณหน้าศาลฎีกาวันนี้พบว่า เวลา 09.30 น. นายทิวา การกระสัง ทนายความของนางสาวปารีณา เดินทางมาถึง ก่อนที่เวลา 10.10 น.นางสาวปารีณา เดินทางมารับฟังคำตัดสินของศาลฯ ด้วยตนเอง มาพร้อมกับลูกชายที่มาให้กำลังใจ



ภายหลังทั้งคู่ได้ฟังคำตัดสินของศาลฎีกา ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทั้งคู่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เป็นไปตามที่ทนายความได้คาดหมายไว้ โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยยกคำร้องของ ป.ป.ช. ที่ร้องทั้ง 2 ประเด็น

ด้านนายทิวา การกระสัง ทนายความของนางสาวปารีณา กล่าวว่า ป.ป.ช. มีการอุทธรณ์ใน 2 ประเด็น ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้นางสาวปารีณา จะให้การในชั้นการสอบสวนของ ป.ป.ช. ที่แตกต่างกันว่า มีการกู้เงินจริง เพราะลูกหนี้ยอมรับ ว่านางสาวปารีณา ได้ช่วยเหลือในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2555 จึงมีการกู้เงินจำนวน 10 ล้านบาท แต่ใช้คืนไม่หมด จึงมีการทำสัญญาในปี 2561 ซึ่งถือว่าเป็นมูลเหตุของคดีนี้ โดยในที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาไม่ได้เชื่อคำอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.

ส่วนกรณีครอบครองพระ 2 องค์ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นางสาวปารีณา ไม่มีความรู้เรื่องพระเครื่อง จึงเชื่อได้ว่าพระ 2 องค์ดังกล่าว เป็นพระองค์เดียวกัน ถึงแม้กรอบพระจะแตกต่างกัน แต่การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นการตีราคาพระ ไม่ใช่ตีราคากรอบพระ จึงเชื่อได้ว่านางสาวปารีณาไม่ได้มีเจตนาจงใจ ที่จะไม่แสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน หรือที่มาของทรัพย์สิน พร้อมกับย้ำว่าศาลฎีกาในชั้นอุทธรณ์ จึงมีคำวินิจฉัยยกคำร้องอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.

 




ในขณะที่นางสาวปารีณา ระบุว่า วันนี้รู้สึกดีใจและรู้สึกว่าวันนี้ยังมีข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม และเรื่องขององค์กรอิสระที่ไม่มีความเป็นอิสระ ซึ่งมีการใช้หน้าที่เกินขอบเขตของกฎหมายกฎหมาย โดยในวันนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังมีที่พึ่งหวังคือศาลฎีกา ที่ยังสามารถใช้ต่อสู้คดี เพื่อหาความยุติธรรม

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะมีการดำเนินการทางกฎหมาย ฟ้องกลับ ป.ป.ช.หรือไม่ นางสาวปารีณา ระบุว่าจะมีการฟ้องกลับอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้กลับผู้อื่น เพราะการกู้ยืมเงินครั้งนี้ มีสัญญาเงินกู้ บ้านและที่ดินค้ำประกัน มีการเซ็นเช็ก เพื่อชำระ และเรื่องของพระ ก็มีฎีกาออกมาแล้ว ว่าเป็นเรื่องของความพอใจ และยืนยันว่าส่วนตัวตนไม่เคยครอบครองพระมาก่อนแต่งงานแต่หลังจากนั้นอดีตสามีได้มอบพระให้กับตน ยืนยันว่าตนไม่ใช่เซียนพระ มีความรู้เรื่องพระ เพียงแต่มีสามีที่เป็นเซียนพระเท่านั้น และเคยมอบพระให้กับตน พร้อมยืนยันว่ามีความบริสุทธิ์ ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมระบุว่า ตนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ถูกชี้มูลความผิดในครั้งนี้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการทำเกินขอบเขตอำนาจของกฎหมาย และก่อนที่จะถูก ป.ป.ช. ชี้มูลทนายความตนได้ทำหนังสือไปค้าน และขอยื่นอุทธรณ์แล้วว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย แต่ ป.ป.ช. ยังคงเดินหน้าชี้มูลความผิดตน

ทั้งนี้นางสาวปารีณา ได้กล่าวขอบคุณศาลฎีกา ที่ได้ให้ความยุติธรรม และเตรียมฟ้อง ป.ป.ช.ต่อศาลอาญา คดีทจุริต

 

 



ขณะที่ทนายความ ระบุว่า นอกจากนี้จะมีการฟ้องกลับในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 เนื่องจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ที่แสดงเป็นเท็จต้องมีเจตนาพิเศษคือ การจงใจที่จะปกปิดทรัพย์สินไม่ให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ทั้งยังไม่เชื่อเอกสารที่มีการยื่นโต้แย้งไป อีกทั้งยังยืนยันว่าเรามีเจตนาพิเศษที่จะปกปิด ดังนั้นจึงมีสิทธิฟ้องเรื่องการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยหลังจากนี้จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวกับนางสาวปารีณาอีกครั้ง

"สิ่งที่ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการกับตนเองนั้น ตนมองว่าเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ วันนี้คนจำนวนมากถูกชี้มูลความผิดอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ได้ต่อสู้ ซึ่งตนรู้สึกว่ากฎหมายธรรมนูญปี 60 ได้ให้อำนาจกับ ป.ป.ช. มากเกิน และหลงอำนาจมากเกินไปหรือไม่ หากเมื่อองค์กรอิสระทำผิดพลาด ก็ต้องถูกดำเนินการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ว่าพฤติกรรมต่าง ๆ การใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่"

 



ส่วนกรณีที่พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ล่ารายชื่อประชาชน เพื่อถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช.บางท่านนั้น นางสาวปารีณา มองว่า เป็นความเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่ตนมองว่าควรจะยุบ ป.ป.ช.ไปเลย เพราะไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไม ซึ่งความรู้มีไม่เท่ากับอัยการ และ ป.ป.ช. ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ไม่ได้เรียนนิติศาสตร์หรือไม่ อย่างไร จึงบอกว่าควรยุบ ป.ป.ช. และให้อำนาจชี้มูลกับทางอัยการจะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งวันนี้ ป.ป.ช. ก็เป็นองค์กรอิสระ แต่ตั้งคำถามว่าเป็นอิสระจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตามนางสาวปารีณา เคยถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 กรณีรุกที่ป่าสงวนครอบครอบที่ดิน โดยไม่คืนที่ดินสู่การปฏิรูป จำนวน 711 ไร่ทำฟาร์มไก่ใน จ.ราชบุรี จากคำร้องของ ป.ป.ช.ฐานกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561.



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี อัมรินทร์TV


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์