เตรียมเลือกตั้ง สว. - พารู้จักหน้าที่ สว. และความสำคัญทางการเมือง


เตรียมเลือกตั้ง สว. - พารู้จักหน้าที่ สว. และความสำคัญทางการเมือง


จากกรณี วุฒิสมาชิก (สว.) 250 คน จากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จะครบวาระห้าปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ นำไปสู่การ เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567

เตรียมพร้อมการ เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567 พารู้จัก สว. คืออะไร มีบทบาท-หน้าที่และอำนาจอะไรบ้าง รับผิดชอบส่วนไหน สำคัญอย่างไรทางการเมือง

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) คืออะไร

ส.ว. ย่อมาจาก สมาชิกวุฒิสภา เป็นตัวแทนของประชาชนลักษณะเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มีข้อแตกต่าง อาทิ ที่มา, การสังกัดพรรคการเมือง, จำนวน ตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับได้กําหนด

 



สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีอำนาจ-หน้าที่อะไร

รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้งเป็นหน้าที่เฉพาะตัวและหน้าที่ที่ต้องใช้พร้อมกับสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

วุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก
1.การพิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจ ทั้งการพิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมายร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในฐานะรัฐสภา และการกลั่นกรองกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว

1.1)การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ได้บัญญัติให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้เสนอต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ดังนั้น บทบาทอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา

1.2)การกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ

กรณีที่เป็น ร่างพระราชบัญญัติทั่วไป รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน เมื่อลงมติเห็นชอบ ให้เสนอต่อวุฒิสภาโดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันแต่หากกรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

กรณี ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่าย รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เมื่อเห็นชอบกับร่างกฎหมายแล้ว ให้เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา โดยวุฒิสภามีเวลาพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ภายใน 20 วัน



1.3)การอนุมัติพระราชกำหนด

พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นใช้บังคับดังเช่น พระราชบัญญัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี โดยการอนุมัติพระราชกำหนดแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

พระราชกำหนดทั่วไป ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา ให้กระทำได้เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมาย เกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ ของแผ่นดิน

1.4)การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้อำนาจในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา สมาชิกวุฒิสภาจึงมีส่วนสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ



โดยรัฐธรรมนูญยังกำหนดว่า การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

และในการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยล ะ20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

2.การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่

2.1)การตั้งกระทู้ถาม

มาตรา 150 รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.2)การเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา

มาตรา 153 รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหา โดยไม่มีการลงมติ

2.3)การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา

มาตรา 155 รัฐธรรมนูญได้บัญญัติในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอกภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี โดยขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายไม่ได้

2.4)การตั้งกรรมาธิการ

วุฒิสภามีอำนาจตั้งคณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ และรายงานผลการพิจาธณาให้วุฒิสภาทราบ โดยต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภา

คณะกรรมาธิการมีอำนาจเรียกเอกสาร หรือเรียกบุคคลใดมาแถลง ข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบ หาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้



3.การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจในการให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ดังต่อไปนี้

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ข้อสังเกต วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ซึ่งแตกต่างจากอำนาจของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ซึ่งบัญญัติให้วุฒิสภามีอำนาจใน การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง

 



วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล
สำหรับวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลนั้น นอกจากจะมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลักแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้เพิ่มหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะ ดังนี้

1.การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 บัญญัติให้วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตาม โดยคณะรัฐมนตรีต้องแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ทุก 3 เดือน

2. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 บัญญัติว่าร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

3. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญ มาตรา 271 บัญญัติให้ในวาระเริ่มแรกภายในอายุของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล (5 ปี) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ ให้กระทำได้โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

4. การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ตามบทเฉพาะกาล ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำใน "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" ซึ่งประกอบด้วย "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" และ "สมาชิกวุฒิสภา" มติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา



เครดิตแหล่งข้อมูล : สำนักกฎหมาย, รัฐสภาไทย, ilaw




เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์