เศรษฐา ลั่นไม่แฮปปี้ ค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำใจเขาใจเรา


เศรษฐา ลั่นไม่แฮปปี้ ค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำใจเขาใจเรา


เศรษฐา ลั่น ไม่แฮปปี้ ค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำใจเขาใจเรา ชี้เป็นนายกฯไม่มีสิทธิบ่นเหนื่อย แม้แบกความหวังคน 69 ล้านคน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวถึงการเป็นนายกฯ 3 เดือน มีอะไรที่บั่นทอนความรู้สึกมากที่สุดว่า "เรื่องที่บั่นทอนความรู้สึกไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายการเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้สื่อข่าว ที่รู้สึกสะเทือนใจมากที่สุดคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ"

เมื่อถามย้ำว่า เพราะไม่สามารถทำตามที่ประกาศไว้ได้ใช่หรือไม่


นายกฯกล่าวว่า
เป็นเรื่องของไตรภาคี ตนไม่ได้เสียใจที่คนมาว่าพูดแล้วทำไม่ได้ ดีแต่พูดแล้วทำไม่ได้ ไม่ใช่ตรงนั้น ตนบอกไปแล้วว่าหลายเรื่องไม่จำเป็นต้องอิงกับกฎหมายหรือไตรภาคี เป็นเรื่องของสามัญสำนึก เป็นเรื่องที่ต้องเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

"สมมุติเรียนจบมา ย้อนหลังไป 10 ปีที่แล้ว ได้เงินเดือน 15,000 บาท อีก 9 ปีต่อมา คุณได้เงิน 17,000 บาท มีความแฮปปี้ไหม แรงงานขั้นต่ำ เงินเดือนต่อวัน 300 บาท วันนี้ 337 บาท ขึ้นมา 12 เปอร์เซ็นต์ คุณคิดว่าแฮปปี้ไหม"

ตอนที่นายกฯเป็นอดีตผู้บริหาร แล้วค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้น 300 บาท ได้มีการปรับตัวอย่างไร


นายกฯกล่าวว่า ไม่เคยโวยวายในเรื่องนี้ เมื่อถามย้ำว่า ทำไมสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถึงทำได้ นายเศรษฐากล่าวว่า สมัยก่อนไม่มี และไม่แน่ใจว่าเมื่อ 9 ปีที่แล้วมีคณะกรรมการไตรภาคีหรือไม่ อำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่

เมื่อถามว่า ข้อกฎหมายทำให้ไปแตะไม่ได้ จะทำอย่างไรให้บรรลุนโยบายของรัฐบาลให้ได้


นายเศรษฐากล่าวว่า
ต้องพยายามต่อไป โดยใช้วิธีอื่นใช้บางรายอำเภอ บางอาชีพพูดคุยแก้ไขกฎหมาย เมื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้ที่จะแก้ไขกฎหมาย นายเศรษฐากล่าวว่า คิดได้ เพราะเป็นวิธีที่สามารถทำได้ แต่อย่าเพิ่งไปไกลขนาดนั้น เอาแค่ใจเขาใจเรา ยังไม่ต้องพูดเรื่องกฎหมาย อย่างที่บอกจบมา 9 ปีที่แล้ว เงินเดือน 30,000 บาท วันนี้เงินเดือน 33,700 บาท จะแฮปปี้ไหม

ผู้สื่อข่าวถามว่า แรงงานก็ไม่แฮปปี้ นายกฯก็ไม่แฮปปี้ คิดว่าการพูดแบบนี้หลายๆ ครั้งจะไปถึงใจผู้บริหาร คนที่ให้เงินเดือนได้หรือไม่


 นายเศรษฐากล่าวว่า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสื่อว่าเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงแบบนี้หรือไม่ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องจิตใต้สำนึก จุดยืนตนชัดเจนอยู่แล้ว สื่อถามตนว่าไม่มีความสุขเรื่องไหนก็บอกว่าไม่มีความสุขเรื่องนี้ อธิบายแล้วไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่หน้าที่ของตนในฐานะนายกฯ ก็ต้องไปดู ไปพูดคุยกับสภานายจ้าง ปลัดแรงงานและ รมว.แรงงาน หน้าที่ของสื่อก็เป็นตัวแทนประชาชนในการเรียกร้อง ก็ช่วยๆ กันทำ

เมื่อถามว่า แล้วสิ่งที่แฮปปี้ที่สุดตลอด 3 เดือนคืออะไร นายกฯกล่าวว่า ยังไม่มีอะไรที่แฮปปี้ที่สุด ทุกอย่างทำให้ดีขึ้น ปรับปรุงได้หมด เมื่อถามย้ำว่า การได้มาเป็นนายกฯ ถือว่าแฮปปี้หรือไม่


 นายกฯกล่าวว่า "เป็นหน้าที่ ไม่สิทธิว่าแฮปปี้หรือไม่แฮปปี้ เหนื่อยหรือไม่เหนื่อยไม่สิทธิพูด เมื่อเสนอตัวเข้ามาทำแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ ต้องมีความสุขกับงาน ต้องหลงรักงาน ไม่อย่างนั้นไม่สามารถทำได้หรอก 4 ปี เพราะแบกความหวังคน 69 ล้านคนไว้ ต้องทำให้เต็มที่

เมื่อถามว่า นายกฯภูมิใจหรือไม่ที่ระบุว่าจะทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่นักข่าวอาจจะเหนื่อย


 นายกฯกล่าวว่า ไม่ได้ภูมิใจ แต่ตนเห็นใจมากกว่า เพราะแต่ละคนมีเครื่องอำนวยความสะดวกแตกต่างกันไป บางทีตนไป 3 จุด ก็เห็นอยู่ว่าสื่อกินข้าวครึ่งจานก็วิ่งตามกันแล้ว บางทีขึ้นเครื่องด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องไปค้างคืนแล้วนั่งรถยนต์ตามไปตอนเช้า ซึ่งตนจะพยายามปรับวิธีการทำงานให้ได้ความลึกของเนื้องานมากขึ้น และตัดจำนวนลง เพื่อสื่อจะได้มีเวลาในการเก็บข่าว และเดินทางจากจุดหมุดหมายหนึ่งไปอีกจุดหมุดหมายหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภารกิจนายกฯในแต่ละวันเป็นเรื่องสำคัญ แต่รวบเอามารวมกันในวันเดียวทำให้น้ำหนักของข่าวเอียงไป


นายเศรษฐากล่าวว่า คงเป็นปลายเหตุ ต้องบอกว่าเราทำงานเพื่ออะไร เราทำงานเพื่อประชาชน การที่ตนไป 5 งานกับไป 2 งาน ก็พยายามที่จะไป 5 งาน แต่ถ้าไป 5 งานแล้วไม่มีข่าว แต่ประชาชนแฮปปี้มากตนก็ควรจะไป 5 งาน แต่ถ้าไป 5 งาน แล้วไม่ได้ลงลึก ทำให้ประชาชนไม่ได้แฮปปี้ จึงคิดว่าตัดออกไปให้เหลือน้อยลง แต่อยู่นานขึ้น ฟังปัญหาเชิงลึกมากขึ้นดีไหมก็ต้องปรับกันไปเรื่อยๆ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์