จับตาแจกเงินดิจิทัล1หมื่นผ่านแอพเป๋าตัง ยืมจากรัฐวิสาหกิจ


จับตาแจกเงินดิจิทัล1หมื่นผ่านแอพเป๋าตัง ยืมจากรัฐวิสาหกิจ

จับตาคลังตั้งรับนโยบาย ครม.เศรษฐา 1 เตรียมแผนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในไตรมาสแรกปี'67 เคาะจ่ายผ่าน "เป๋าตัง" คอนเซ็ปต์ "อีมันนี่" ร้านค้าที่รับอีมันนี่ไม่สามารถนำเงินสดออกมาได้ ต้องนำไปใช้ซื้อสินค้า-วัตถุดิบเพื่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจเปิดแผนหาเงิน 5 แสนล้าน ขยายกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังยืมเงินรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านไม่ต้องรอเงินงบประมาณปี'67 ธ.ก.ส.รับโจทย์ใหญ่พักหนี้เกษตรกรเกือบ 1 ล้านล้าน เดินหน้าลดค่าไฟ-น้ำมันทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีกำหนดแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 11-12 กันยายน 2566 อย่างไรก็ดี จากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเดินหน้านโยบายทำทันที ส่งผลกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีการเตรียมพร้อมและศึกษาข้อมูล เพื่อรองรับกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลใหม่



จับตาแจกเงินดิจิทัล1หมื่นผ่านแอพเป๋าตัง ยืมจากรัฐวิสาหกิจ

แจกเงินดิจิทัลผ่าน "เป๋าตัง"

แหล่งข่าวจากทีมทำงานของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นโยบายเศรษฐกิจหลักของรัฐบาล คือการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ เป็นไปตามแผน สำหรับภารกิจหลักของกระทรวงการคลังขณะนี้ก็คือ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท และโครงการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ซึ่งต้องยอมรับว่าทั้งสองโครงการมีต้นทุนที่เป็นภาระทางการคลังค่อนข้างมาก


ทั้งนี้ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ทุกคน ซึ่งประมาณว่าจะต้องใช้วงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เบื้องต้นวางแนวทางไว้ว่า จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอยู่กว่า 40 ล้านคน โดยช่วงที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้บริหารธนาคารกรุงไทยเข้าหารือแนวทางแล้ว โดยต้องมีการเพิ่มฟังก์ชั่นของโครงการแจกเงินดิจิทัล เข้าไปในแอปเป๋าตัง คล้ายกับที่ทำโครงการ "คนละครึ่ง" ในช่วงที่ผ่านมา

ดยจะเป็นการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนในงวดเดียว เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ทั้งนี้จะเป็นในรูป e-Money โดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเงินในทอดแรก ๆ จะไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ แต่จะต้องนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้า-วัตถุดิบ เพื่อมาค้าขายต่อ เป้าหมายเพื่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ

เช่น แม่ค้าข้าวหนียวหมูปิ้ง เข้าโครงการรับ "อีมันนี่" เข้าถุงเงิน จะไม่สามารถเอาเงินสดออกมาได้โดยตรง โดยจะต้องเอาเงินที่ได้รับไปใช้ซื้อข้าวเหนียว หมู เครื่องปรุงต่าง ๆ เพื่อให้เงินที่ใส่เข้าไปหมุนในระบบหลาย ๆ รอบ อย่างไรก็ดี จะมีการกำหนดคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขบางอย่างสำหรับผู้ประกอบการที่จะสามารถนำเงินสดออกมาได้



จับตาแจกเงินดิจิทัล1หมื่นผ่านแอพเป๋าตัง ยืมจากรัฐวิสาหกิจ

สงกรานต์กลับบ้านใช้เงิน

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล นายกฯเศรษฐา ต้องการให้เริ่มโครงการภายในเดือนมีนาคม 2567 เนื่องจากเงินดิจิทัลนี้มีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้จ่ายกับร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของประชาชน ดังนั้นจึงต้องการให้ทันก่อนช่วงสงกรานต์ ซึ่งคนไทยจำนวนมากจะเดินทางกลับบ้าน โดยที่จะมีเงิน 10,000 บาท กลับไปจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ไม่ให้การใช้จ่ายกระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี จากที่ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย กำหนดรัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ทะเบียนบ้าน ก็มีข้อเสนอของทีมกระทรวงการคลัง ให้ขยายรัศมีเพิ่มขึ้น เพราะจากการศึกษาพบว่าระยะทาง 4 กิโลเมตร ในต่างจังหวัดบางพื้นที่ไม่มีร้านค้า หรือมีน้อยมากอาจเป็นอุปสรรคของประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด

เปิดแผนหาแหล่งเงิน

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท แหล่งข่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ตามที่วางแผนไว้เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ ในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่บังคับใช้ก็คือ ต้องใช้มาตรการกึ่งการคลัง โดยยืมเงินรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเงินจากธนาคารของรัฐมาใช้ไปก่อน โดยรัฐบาลจะตั้งงบฯชดเชยคืนให้ในภายหลัง ซึ่งจะมีกรอบวงเงินที่ใช้ได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดว่า ยอดคงค้าง หรือภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ต้องไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ทั้งนี้ มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ กำหนดว่า การจะใช้เงินตามแนวทางดังกล่าว ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ อาทิ 1) ฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ 2) เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือ 3) ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย หรือการก่อวินาศกรรม

"ตอนนี้วงเงินตามมาตรา 28 ถ้าเป็นตามกรอบของปีงบประมาณ 2566 ก็จะเหลือแค่ประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งไม่พอแน่นอน แนวทางที่ทำได้ก็คือ ต้องขยายกรอบวงเงินตรงนี้ จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลต้องการวงเงินเท่าไหร่ จะขยายเป็นกี่เปอร์เซ็นต์" แหล่งข่าวกล่าว


เครดิตแหล่งข้อมูล : prachachat


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์