เปิดไทม์ไลน์!หลังยุบสภา-ได้นายกฯคนใหม่..เมื่อไหร่?
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง เปิดไทม์ไลน์!หลังยุบสภา-ได้นายกฯคนใหม่..เมื่อไหร่?
เลือกตั้ง 66 : ครม.รับทราบ ไทม์ไลน์รัฐบาลรักษาการยาว 4 เดือนครึ่ง หลังประกาศยุบสภา คาดต้นพ.ค.มีเลือกตั้ง ประกาศผลเดือนก.ค. พร้อมมีครม.ชุดใหม่เดือนส.ค.
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
วันนี้ที่ประชุมครม. ได้รับทราบคำชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เรื่องกรอบเวลาการเลือกตั้ง ไปจนถึงรัฐบาลชุดนี้จะต้องรักษาการจนมีรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่ เบื้องต้นสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.นี้ ตามรัฐธรรมนูญ หากสภาครบวาระ ให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับจากวันที่สภาสิ้นอายุ แต่หากกรณียุบสภา จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
ไม่ว่าจะสภาครบวาระหรือยุบสภา จะเกิดขึ้นในเดือนมี.ค. ซึ่งคาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในต้นเดือนพ.ค. และประกาศผลการเลือกตั้งได้ในเดือนก.ค. และขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาผู้แทนราษฎร และตั้งประธานสภา จะเกิดขึ้นกลางเดือนก.ค.
ขั้นตอนต่อไปจะเลือกนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปลายเดือนก.ค. จากนั้นจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และครม.ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาตนในต้นเดือนส.ค. ดังนั้น ถ้าดูตามกรอบเวลา ไม่ว่าสภาครบวาระหรือยุบสภา รัฐบาลชุดนี้จะยังรักษาการไปอีกประมาณ 4 เดือนครึ่ง คือไปถึงต้นเดือนส.ค.
ส่วนวุฒิสภา ยังมีอยู่แต่จะประชุมไม่ได้ เว้นแต่จะพิจารณาตั้งองค์กรอิสระ ส่วนร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ในสภา ทั้ง 2 สภามีอยู่ประมาณ 29 ฉบับจะตกไปทันที และหลังเลือกตั้ง หากรัฐบาลจะนำกลับมาพิจารณานั้นก็ทำได้ แต่ต้องนำขึ้นมาพิจารณาภายใน 60 วันนับแต่เปิดสภาชุดใหม่ ส่วนกฎหมายหรือพ.ร.บ.ที่มีการกราบบังคมทูลเกล้าฯไปแล้ว มี 11 ฉบับก็ยังจะดำเนินการต่อไปตามปกติ
นายอนุชา กล่าวว่า หากมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ตามนั้น ส่วนพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) ที่เป็นกฎกระทรวงต่างๆ ยังออกได้ตามปกติ ทั้งนี้ เมื่อครม.พ้นตำแหน่ง แต่ยังปฏิบัติหน้าที่รักษาการจนกว่าครม.ชุดใหม่จะปฏิญาณตน เรื่องของเอกสาร หรือรายงานข่าวไม่จำเป็นต้องวงเล็บว่ารักษาการ
ส่วนของข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะพ้นตำแหน่งในวันเดียวกับครม.พ้น กรณีที่มีการรักษาการอยู่แล้ว มีรัฐมนตรีลาออกก็จะไม่กระทบกับรัฐมนตรีทั้งหมด สามารถประชุมได้ และนายกฯ ยังปรับครม.ได้ ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ทางครม.จะต้องดำเนินการภายใน 60 วันนับตั้งแต่มีครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ไปแล้ว
นายอนุชา กล่าวอีกว่า ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรี จะต้องอยู่ในเงื่อนไข
1.จะต้องไม่อนุมัติงานหรือโครงการที่ไม่สร้างความผูกพันกับครม.ใหม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปี
2.จะต้องไม่แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ พนักงาน หรือให้พ้นตำแหน่ง เว้นแต่ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
3.ไม่อนุมัติใช้งบกลางเว้นแต่จะได้รับการเห็นชอบจาก กกต. และประการที่4 ไม่ใช้ทรัพยากร บุคลากรกระทำการที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต. เช่น ไม่ใช้ตำแหน่งเอาเปรียบพรรคอื่น ไม่จัดโครงการที่เอาเปรียบ ไม่มีการประชุมครม.สัญจร ไม่จัดประชุมที่ใช้งบของรัฐเว้นแต่จะตัดตามวาระปกติอยู่แล้ว ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะแจกจ่ายให้กับประชาชน และไม่ใช้ทรัพยากร หรือบุลคลของรัฐเอาเปรียบพรรคอื่นๆ
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น