ย้อน 8 ปี 4 ฉายา บทสรุปสื่อทำเนียบสะท้อนการทำงานรัฐบาลประยุทธ์
ซึ่งการตั้งฉายาของสื่อมวลชน เริ่มตั้งแต่ปี 2523 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนมาถึงวันนี้ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันมากกว่า 40 ปี
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แม้จะเป็นผู้นำรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2557 นับรวมถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลารวม 8 ปี
อย่างไรก็ตาม การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2557-2561 เป็นรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลจึงมีมติเว้นวรรคการตั้งฉายารัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าบรรยากาศทางการเมืองยังอยู่ในภาวะไม่ปกติ
ปี 2562
ฉายารัฐบาล : รัฐเชียงกง
รัฐเชียงกง สะท้อนภาพรัฐบาลคล้ายแหล่งค้าขายอะไหล่มือสอง ประกอบกันขึ้นจาก ข้าราชการยุคก่อน และ นักการเมืองหน้าเก่า แม้ใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ
ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา : อิเหนาเมาหมัด
ยกคำสุภาษิตไทย ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เปรียบแนวทางปฏิบัติ และ นโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่เห็นได้ชัดหลายเรื่อง มักจะตำหนิหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และ สุดท้ายก็กลับมาทำเอง
เช่น โครงการลักษณะประชานิยม บอกไม่เป็นนายกฯ สุดท้ายก็กลับมา , ไม่อยากเล่นการเมือง ก็หนีไม่พ้น , หนีการตอบกระทู้ในสภา , มองข้ามข้อครหาเรื่องงูเห่าการเมือง การซื้อตัว ส.ส. , ตั้งคนมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นรัฐมนตรี , แต่งตั้งญาติพี่น้องเข้าสภา , ยอมให้พรรคที่สนับสนุนใช้นโยบายค่าแรงหาเสียง ทั้งที่เคยตำหนิว่าว่าการขึ้นค่าแรงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน
อีกทั้งไม่สามารถควบคุมให้รัฐบาลมีความเป็นเอกภาพ เกิดปัญหาติดขัดการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงงบประมาณที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ และ ฝ่ายตรงข้ามรุมเร้าคล้ายโดนระดมหมัดเข้าถาโถม แม้พยายามสวนหมัดสู้ แต่หลายครั้งถึงกับมึนชกโดนตนเองก็มี
วาทะแห่งปี : "อย่าเพิ่งเบื่อผมก็แล้วกัน ยังไงผมก็อยู่อีกนานพอสมควร"
วาทะนี้เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กล่าวระหว่างให้โอวาทเจ้าหน้าที่และนักกีฬาทีมชาติไทยที่จะเดินทางไปร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562
ปี 2563
ฉายารัฐบาล : VERY "กู้"
เปรียบเปรยการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องกอบกู้วิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กู้ชีวิตคนไทยให้อยู่รอดปลอดภัย แม้จะยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ แม้จะไม่ถึงขั้น very good ก็ตาม ขณะเดียวกัน ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องคนไทยที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน และภาวะตกงาน บางคนต้องจากโลกนี้ไปด้วยไม่อาจรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์มาบรรเทาปัญหา
ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา : ตู่ไม่รู้ล้ม
เป็นการล้อคำ "โด่ไม่รู้ล้ม" ชื่อยาดองชนิดหนึ่ง สรรพคุณคึกคัก กระปี้กระเปร่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สะท้อนถึงการทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ว่าจะประสบปัญหา อุปสรรคการเมือง หรือชุมนุมขับไล่ถาโถม ก็ยังยืนหยัดฝ่าฟันอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป
วาทะแห่งปี : "ไม่ออก.. แล้วผมทำผิดอะไรหรือ"
เป็นคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตอบข้อสักถามสื่อมวลชน พร้อมกับบรรดาคณะรัฐมนตรีที่ยืนเรียงหน้าประกาศความเหนียวแน่น เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งฉายารัฐบาล : ยื้อยุทธ์
ภาพของรัฐบาล ที่ยื้อแย่งกันเองทั้งในส่วนของอำนาจและตำแหน่ง โดยไม่สนใจประชาชนและการเดินหน้าประเทศ ถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และมองการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล จะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อยื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมีการชุมนุมขับไล่ไสส่งอย่างไร ใครไม่อยู่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่
ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา : ชำรุดยุทธ์โทรม
การบริหารราชการแผ่นดินตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่รับบทหนักที่สุดแห่งปี ถูกมองว่าล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารราชการ หรือแม้แต่เรื่องทางการเมือง ถูกโจมตีรอบด้าน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ในตำแหน่งได้ แต่ก็ทรุดโทรม เสื่อมสภาพไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
วาทะแห่งปี : "นะจ๊ะ"
เป็นคำพูดติดปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แม้จะเป็นคำสามัญธรรมดาที่ใช้ทั่วไป แต่กลายเป็นคำไม่ธรรมดา เมื่อออกจากปากของผู้นำประเทศในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ที่ประชาชนสิ้นหวัง มีผู้คนล้มตายข้างถนน ตกงาน ขาดรายได้ จากวิกฤตโควิด-19
แม้นายกรัฐมนตรีเลือกใช้คำดังกล่าว เพื่อที่จะลดอุณหภูมิของสถานการณ์ลง แต่สังคมสะท้อนกลับให้เห็นผ่านเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ว่าเป็นการใช้คำไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ กระทบกระเทือนจิตใจผู้คน โดยเฉพาะการพูดหลังการประชุมวัคซีนและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ตึกภักดีบดิทร์ ทำเนียนรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ประชาชนต่างรอคอยการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ในการพิจารณาข้อเสนอมาตรการล็อกดาวน์ กทม. และปริมณฑล สะท้อนภาวะความเป็นผู้นำ ที่ล้มเหลวในการสื่อสารเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ
ปี 2565
ฉายารัฐบาล : หน้ากากคนดี
เป็นอีกหนึ่งปี ที่ทุกคนยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน ภายใต้หน้ากากของรัฐบาล ที่สร้างภาพจำตลอดเวลาว่าเป็นคนดี นโยบายทุกอย่างทำเพื่อบ้านเมือง และประชาชน แต่กลับเกิดข้อกังขาว่ายังเดินตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ได้หรือไม่ เช่น นโยบายกัญชา ที่อวดอ้างทำเพื่อประชาชน แต่เมื่อเกิดผลกระทบจากการใช้ผิดวัตถุประสงค์ กลายปัญหาสังคมบานปลาย แม้แต่การออกกฎหมายควบคุมการใช้ยังทำไม่ได้ สุดท้ายผลักภาระเพิ่มให้ตำรวจ เพียงเพราะต้องการเช็คลิสต์ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นโยบายประชานิยมที่ออกแนวหาเสียง ให้ทั้งเบ็ด ทั้งปลา หรือ การประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีความคลุมเครือ ว่าประโยชน์ที่ได้นั้น เป็นของประชาชนหรือนักการเมืองกันแน่ แต่ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคการเมืองใด เมื่อออกมาในนามรัฐบาล ประชาชนจึงเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ว่าภายใต้หน้ากากที่ประกาศเป็นคนดีนั้น จริงหรือไม่?
ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา : แปดเปื้อน
ปมวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี สั่นคลอนภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ ตลอดปีที่ผ่านมา และกลายเป็นข้อครหา ถึงความชอบธรรมในการครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนาน พลเอกประยุทธ์ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ที่ศาลมีคำสั่ง ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ แม้จะเพียงแค่ 38 วัน ก็ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในตัวของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่มักจะพูดเสมอว่าไม่ยึดติดอำนาจ ทุกอย่างทำเพื่อบ้านเมือง และประชาชน ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ยิ่งเมื่อปัญหาใต้พรมถูกขุดคุ้ยขึ้น ใกล้ตัวเกินกว่าจะปัดความเกี่ยวโยงได้ ทั้งนโยบายประชานิยม ทุนสีเทาสนับสนุนพรรคการเมือง หรือ แม้แต่นักการเมืองใกล้ตัว นายทหารใกล้ชิด ที่ได้ไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารบริษัทพลังงาน แม้พิสูจน์กันทางกฎหมายไม่ได้ แต่ก็ทำให้ถูกมองว่า ไม่ได้ใสสะอาด ผุดผ่องอีกต่อไป
วาทะแห่งปี : "เกลียดหรือไม่เกลียดก็ช่างคุณเถอะ เพราะผมไม่รู้"
โดยวาทะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ในหัวข้อ บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ