ผัน รับมีช่องทางศาล รธน.ล้มเลือกตั้งได้ - ปัด ม.7 ถกร่วม 3 ศาล
นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้จัดการออนไลน์ 27 เมษายน 2549 19:10 น.
ผัน จันทรปาน เผย ที่ประชุมศาล รธน.สรุปประเด็นหารือร่วม 3 ศาล อำนาจชี้ขาดคุณสมบัติ ส.ส.- กระบวนการเลือกตั้ง - อำนาจ กกต. ส่วน ม.7 ได้ข้อยุติแล้วไม่นำเข้าพิจารณา เผย สามารถทำให้เลือกตั้งเป็นโมฆะได้ พร้อมเปิดช่องรับพิจารณา หากมีการยื่นคำร้อง ส.ส.ไม่ครบ 500 เปิดสภาได้หรือไม่
วันนี้ (27 เม.ย.) นายผัน จันทรปาน ตุลาการผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการ เพื่อเตรียมหัวข้อในการหารือร่วม 3 ศาล เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตบ้านเมือง ว่า ที่ประชุมได้เตรียมข้อมูลใน 3 เรื่อง คือ 1.ความเกี่ยวข้องของศาลรัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้ง เช่น ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดคุณสมบัติ ส.ส.หรือรัฐมนตรี เป็นต้น 2.ขั้นตอนของการเลือกตั้งโดยดูตั้งแต่การออกพระราชกฤษฎีกา และการดำเนินการกระบวนการเลือกตั้งว่าถูกต้องหรือไม่ 3.พิจารณาถึงอำนาจของ กกต.โดยละเอียด เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องอำนาจของ กกต.กับ และศาลปกครอง ว่าเข้ามาก้าวก่ายในอำนาจของ กกต.ได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนเรื่องมาตรา 7 นั้น ที่ประชุมเห็นควรไม่นำมาพิจารณาศึกษา เพราะค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าได้ข้อยุติไปแล้ว
ที่ประชุมตุลาการดูทุกประเด็นร่วม ทั้งพระราชกฤษฎีกาที่ให้มีการเลือกตั้งนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่ยังไม่สมควรที่จะพูดไปก่อน ต้องรอการประชุมร่วม 3 ศาล แต่เราก็เห็นว่าอำนาจของ กกต.ที่มีอยู่ไม่ได้มากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมถึงการตีความเกี่ยวกับอำนาจของ กกต.ที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ถือว่าเราตีความให้เขามีอำนาจมาก ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแค่บอกว่า กกต.มีอำนาจอะไรที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ นายผัน กล่าว
ส่วนที่อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นายผัน กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับคำร้องดังกล่างอย่างไม่เป็นทางการมาแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่รู้ว่าในที่สุดผู้ตรวจการฯ จะใช้ดุลยพินิจมาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ เพราะทุกเรื่องที่ศาลจะพิจารณาได้ต้องมีคนร้องมา ถ้าไม่มีใครร้องก็ไม่สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้ หรืออย่างเรื่อง เมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งมี ส.ส.ไม่ครบ 500 คน จะสามารถเปิดประชุมสภาได้หรือไม่ ศาลไหนก็พิจารณาไม่ได้นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้ยังไม่มีการส่งเรื่องมาจึงพูดอะไรไม่ได้
เมื่อถามว่า ในส่วนของการสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ถือว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด นายผัน กล่าวว่า ตนไม่สามารถที่จะไปก้าวก่ายอำนาจของศาลอื่นได้ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญก็พอมีช่องทางอยู่ เพียงแต่ยังพูดไม่ได้ เมื่อถามต่อว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนของทั้ง 3 ศาล กกต.ควรระงับการเลือกตั้งรอบ 3 ไว้ก่อนหรือไม่ นายผัน กล่าวว่า อำนาจที่เกี่ยวข้องการเลือกตั้งเป็นของ กกต.ใครก็ไปสั่งให้เขาหยุดไม่ได้ มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งก็ทำไป ไม่ได้มาเกี่ยวอะไรกับการประชุมร่วม 3 ศาล อย่างไรก็ตาม ในการประชุมในวันพรุ่งนี้ (28 เม.ย.) ส่วนตัวคาดว่าคงจะมีรายละเอียดออกมาไม่มากนัก เพียงแค่เป็นการตั้งประเด็น และจากนั้นอาจจะต้องใช้เวลาอย่างที่ประธานศาลปกครองสูงสุด พูดไว้ว่า ต้องใช้เวลา 2-3 วัน ซึ่งก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นการประชุมแบบต่อเนื่องเลยหรือไม่ โดยในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีตน นายอุระ หวังอ้อมกลาง ในฐานะที่เคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา นายนภดล เฮงเจริญ ในฐานะที่เคยเป็นอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรู้เรื่องงานธุรการเป็นอย่างดี และนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานฯ
มติที่ออกมาจะมีทั้งกฎหมายรองรับจะไม่ขัดอะไรเลย จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และความรู้สึกของประชาชน ผมมั่นใจว่าจะทำให้ความขัดแย้งน้อยลงหรือไม่มีเลย ที่สำคัญ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับประเทศ นายผัน กล่าว