รู้จัก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คนที่ 17
"ชัชชาติ" ผู้มีสมญาที่ชาวโซเชียลตั้งให้ ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" จากภาพเดินเท้าเปล่า ถือถุงกับข้าวไปรอใส่บาตรพระตอนเช้า ที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 18 ธ.ค. 2556 ด้วยการนำภาพไปทำมีมในรูปแบบต่าง ๆ และเป็นขวัญใจโซเชียลตลอดมา
"ชัชชาติ" เกิดเมื่อ 24 พ.ค. 2509 อายุ 56 ปี เป็นบุตรชายของ พลตำรวจเอก เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กับนางจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ (กุลละวณิชย์)
"ชัชชาติ" มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา 2 คน คือ รศ.ดร. ปรีชญา สิทธิพันธุ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีพี่ชายฝาแฝด คือ รศ. นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
"ชัชชาติ" สมรสกับ ปิยดา สิทธิพันธุ์ (อัศวฤทธิภูมิ) พนักงานการบินไทย มีบุตรชาย 1 คน คือ แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด โดยได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียมเมื่อปี 2545
"ชัชชาติ" เขียนประวัติบนเว็บไซต์ตัวเองระบุว่า "เป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิด ได้เห็นปัญหาและเรียนรู้เมืองกรุงเทพฯ จากหลากหลายมุม ผ่านการใช้ชีวิตไม่ต่างจากพวกเราอีกนับล้าน ๆ คนในกรุงเทพฯ ใช้ขนส่งสาธารณะเป็นประจำ วิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะทุกเช้า เดินถนน กินข้าว ตามข้างทาง รับรู้ถึงปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้องต่าง ๆ ของคนใช้ชีวิตในเมืองหลวง ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร พนักงานเงินเดือน นักธุรกิจ พ่อค้า แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง นักเรียน นักศึกษา"
"ประกอบกับความรู้และประสบการณ์ ที่เคยทำงานทั้งในฐานะวิศวกร อาจารย์ นักวิจัย งานการเมือง นักธุรกิจ ผู้บริหาร งานชุมชน ทำให้ผมมั่นใจว่าจะสามารถเสนอแนวทางที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น ผมเชื่อว่าการทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนจำนวนมาก ผมมั่นใจว่าจะสามารถประสานงาน สร้างความไว้ใจ เสริมความร่วมมือร่วมใจของคนทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความสามัคคี ร่วมกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน"
นักเรียนดี เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง คนเดียวในรุ่น
ในส่วนโปร์ไฟล์การศึกษาของ "ชัชชาติ" นั้น เขาเป็นบุคคลที่มาพร้อมกับการเรียนอันดีเยี่ยม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนที่จะเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง คนเดียวในรุ่น
จบปริญญาโท ในสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา และบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกใบ ก่อนที่จะต่อดอกเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ปี 2530
"ชัชชาติ" ทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้างในบริษัทเอกชน ต่อมาในปี 2538 ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ เป็นรองศาสตราจารย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน ตั้งแต่ปี 2548-2555
"ชัชชาติ" มีโครงการที่ได้ร่วมเป็นทีมงานระหว่างการทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากมาย คือ เป็นทีมงานผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รวมถึงเป็นทีมงานที่ร่วมในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น จามจุรีสแควร์ อาคารสยามกิตต์ อาคารสยามสแควร์วัน อาคารระเบียงจามจุรี อาคาร CU-I House
จากรัฐมนตรีโลกลืม สู่รัฐมนตรีขวัญใจโซเชียล
"ชัชชาติ" เริ่มลงเล่นการเมืองในฐานะนักวิชาการ ด้วยการเข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร โดยที่ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ จนกระทั่ง ปี 2555 เขาได้รับโทรศัพท์จากนายกฯยิ่งลักษณ์ ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
แต่ในช่วงแรก "ชัชชาติ" กลายเป็น "รัฐมนตรีโลกลืม" เพราะเป็นรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่รู้จักมากที่สุด กระทั่งเกิดอุบัติเหตุกับ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในเวลานั้น เรื่องปมร้อนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ จนต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และตำแหน่งรัฐมนตรี
"จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จึงได้ย้ายเก้าอี้ไปแทน "ยงยุทธ์" นั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ มท.1
"ยิ่งลักษณ์" จึงปรับคณะรัฐมนตรี ดัน "ชัชชาติ" ให้เฉิดฉาย ขึ้นนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แทน "จารุพงศ์" จึงเป็นจุดเริ่มตันของตำนาน "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี"
"ชัชชาติ" ให้เหตุผล การเดินเข้ามาบนเส้นทางสายการเมือง เพราะอยากให้ลูกชายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากลูกชายเพียงคนเดียว เป็นผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด
"ชัชชาติ" ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นบุคคลระดับหัวกะทิของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในด้านการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้รับการกล่าวถึงในฐานะรัฐมนตรี "ดูโอเศรษฐกิจ" ของรัฐบาลคู่กับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ
ขณะที่ "ดูโอระบบราง" คู่กับประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟฯ ที่นโยบายของ "ชัชชาติ" และพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางเป็นพิเศษ เช่น การผลักดันรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน"...ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จก่อนไปคิดถึงระบบความเร็วสูง ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเงินกู้ 2 ล้านล้านนี่ คุณชัชชาติตายไปเกิดใหม่มารุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังใช้หนี้ไม่หมดเลย" ซึ่งเป็นการซักถามของ สุพจน์ ไข่มุกต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้น
"ชัชชาติ" ได้ตอบข้อซักถามเวลานั้นว่า "ผมว่าการใช้เงินกู้ 50 ปี ผมคิดว่าผมยังอยู่ ยังอยู่ถึง ผมค่อนข้างแข็งแรง คงอยู่จนดูถึงการใช้เงินกู้บาทสุดท้าย อายุ 97 ก็ยังพออยู่ได้ครับ"
หลังจาก พ.ร.บ.2 ล้านล้านถูกตีตก ชะตากรรมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตกต่ำ จนวันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. ที่สโมสรทหารบก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เรียกคู่ขัดแย้งทางการเมือง 7 ฝ่าย มาหาทางออกประเทศ แต่สุดท้ายกลับเป็นบันได เพื่อสถาปนาตนเองเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ในนาม "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย
จนแล้วจนรอด การเมืองก็กวักมือเรียกเขาให้กลับไปอีกครั้ง ชื่อ "ชัชชาติ" ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง จากการเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค. 2562 เคียงข้างกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ ชัยเกษม นิติศิริ
"ชัชชาติ" ยังเคยหลุดปากกล่าวกับสื่อมวลชนตามรายงานของบีบีซีไทยว่า "หากเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็สนใจงานผู้ว่าฯ กทม." พร้อมทั้งยอมรับว่า การมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทย เพียงต้องการทดสอบเรตติ้ง เพื่อวัดกระแสคนเมือง เมื่อถึงคิวชิงผู้ว่าฯ กทม.CEO ยักษ์ใหญ่
เมื่อเวทีการเมืองถูกเว้นวรรค "ชัชชาติ" ใช้เวลาว่างไปเสริมความรู้ภาคธุรกิจ และกลายเป็น CEO บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด รวมไปถึงเป็นกรรมการอิสระ ให้กับบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน) รวมถึงเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กว่า 4 ปี
ส่วนผลงานขณะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เพิ่มกำไรสุทธิของบริษัทจาก 3,106 ล้านบาทในปี 2558 มาเป็น 3,800 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มอัตรากำไรสุทธิของบริษัทจาก 14.26% ในปี 2558 มาเป็น 20.98% ในปี 2562 อีกทั้งลดอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท จาก 1.46 ในปี 2558 มาเป็น 1.06 ในปี 2562