แฉ 5 ปี พิจารณานักการเมืองโกงแค่ 4 คดี ชี้ถูก ป.ป.ช.ตัดตอน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 เมษายน 2549 16:52 น.
ประธานศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง แฉ ตั้งศาลมา 5 ปี มีคดีเข้าสู่การพิจารณาแค่ 4 คดี เผยส่วนใหญ่ถูกดองอยู่ที่ ป.ป.ช.ขณะที่ อภิสิทธิ์ แนะแก้ กม.เปิดทางล่าชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อ ยื่นศาลถอดถอนนักการเมือง ขี้โกงได้โดยตรง ด้าน เจิมศักดิ์ เสนอตั้งองค์กรปราบทุจริตในแต่ละกระทรวงเพื่อความรวดเร็ว
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้จัดการสัมมนาเรื่อง บทบาทของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยมีผู้ร่วมสัมมนา ได้แก่ นายประพันธ์ ทรัพย์แสง ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการ ส.ว.กทม.และอดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
โดย นายประพันธ์ กล่าวว่า จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัสในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะศาลฎีกา เหมือนเป็นน้ำทิพย์ชโลมหัวใจ เกิดความชุ่มฉ่ำ เพราะฉะนั้น ทุกคนควรน้อมนำพระบรมราโชวาทไว้เหนือเกล้า และที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เกิดขึ้นมา 5 ปีแล้ว ปรากฏว่า มีเพียง 4 คดีเท่านั้นที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล ทั้งที่จริงแล้ว มีคดีเกิดขึ้นมากมาย แต่มาไม่ถึงการพิจารณาของศาล เพราะหากใครที่จะร้องเรียนให้มีการเอาผิดกับนักการเมืองที่กระทำทุจริต ก็ต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเป็นผู้ส่งเรื่องต่อไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเมื่อมีการเชิญพยานหรือผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ คนเหล่านี้ก็ไม่กล้ามาให้ข้อมูล และทุกวันนี้มี ป.ป.ช.มี ก็เหมือนไม่มี
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า การตรวจสอบการทุจริตหลายเรื่องไม่ค่อยได้ผล เพราะเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตของนักการเมืองมักจะติดค้างอยู่ที่ขั้นตอนการพิจารณาของ ป.ป.ช.ที่จะเป็นผู้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เท่านั้น ยกเว้นกรณีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ศาลตัดสิน ว่า มีความผิดฐานขึ้นค่าตอบแทนให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นผลจากการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 300 ที่ให้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้ง 2 สภา เข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจากการที่คดีการทุจริตของฝ่ายการเมืองถูกส่งมายัง ป.ป.ช.เป็นจำนวนมาก ทำให้ ป.ป.ช.ไม่มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาคดีทั้งหมด อีกทั้งก่อนการดำเนินการสอบสวนนั้น ป.ป.ช.จะต้องไปสอบถามผู้เสียหายจากการทุจริตโดยตรง คือ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งผู้บังคับบัญชาของบางหน่วยงาน เช่น ปลัดกระทรวงบางกระทรวง ไม่คิดเอาผิดกับฝ่ายการเมืองที่ถูกร้องว่ากระทำทุจริต ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการทุจริตเก็บค่าคอมมิชชัน
รักษาการ ส.ว.กทม.ผู้นี้ กล่าวว่า ดังนั้น ควรจะมีการปรับโครงสร้างภายใน ป.ป.ช.หรือการจัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะเหมือนกับ ป.ป.ช.ออกมาอีกองค์หนึ่งอยู่ในกระทรวงต่างๆ เพื่อไม่ให้คดีทุจริตกระจุกอยู่ที่ ป.ป.ช.รวมทั้งการหาวิธีที่ประชาชนจะสามารถส่งคดีทุจริตของนักการเมืองไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง ส่วนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป.ป.ช.ตั้งเกณฑ์ว่าจะต้องมีการลงมติ 2 ใน 3 และต้องมีการพิสูจน์จนหมดข้อสงสัยแล้วจึงจะส่งให้ศาลฎีกาฯ ทั้งที่กฎหมายระบุชัดว่าแค่ส่อพฤติกรรมมิชอบ ก็สามารถถอดถอนได้
ด้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การตรวจสอบทุจริตโดยนักการเมืองในหน่วยงานภาครัฐ เข้าสู่กระบวนการชั้นศาลฎีกาน้อย และมีความล่าช้า เพราะการพิจารณาของ ป.ป.ช.ไม่คืบหน้า และการที่ ป.ป.ช.ระบุว่า ผู้เสียหายโดยตรง คือ หน่วยงานภาครัฐ ต้องยินยอมให้ดำเนินการ แต่ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานรัฐบางคน กลับไม่คิดเอาผิดกับนักการเมืองที่ทำทุจริต ซึ่งที่สุดก็ไม่สามารถเอาผิดนักการเมืองคนนั้นๆ ได้ ทั้งๆ ที่ประชาชนเจ้าของประเทศเป็นผู้เสียหายโดยตรง จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการปราบปรามการทุจริต เช่น การแก้กฎหมายให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อประมาณ 50,000 คน ในการส่งเรื่องให้ถอดถอนตำแหน่งของนักการเมืองที่กระทำทุจริต ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง ไม่ต้องผ่าน ป.ป.ช.ที่มักถูกกล่าวหาในเรื่องการถูกแทรกแซง ซึ่งตนเชื่อว่า ศาลฎีกาทำได้โดยการใช้ระบบการกลั่นกรองเรื่องเหมือนกับเวลาดำเนินคดีกับ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำ และโดยปกติแล้ว คดีที่เกี่ยวกับนักการเมืองก็มีไม่มากอยู่แล้ว
ขณะนี้ การทุจริตเริ่มมีความพัฒนามากขึ้น เช่น การทุจริตเชิงนโยบาย ที่จะเกิดขึ้นได้ในเวลาที่ผู้มีอำนาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าจะนำบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนนำขึ้นมาพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะตัดสินได้อย่างไร ที่ผ่านมา เมื่อเกิดคดีขึ้น ก็มีการจำกัดผู้เสียหายแคบเกินไป ทั้งที่ความเสียหายเรื่องการทุจริตความเป็นจริงตกอยู่กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาปฏิรูปการเมืองควรนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่ง รวมถึงคดีเลือกตั้งที่ กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) เป็นผู้รับผิดชอบในขณะนี้ ควรมีการปรับปรุงในกระบวนการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว