สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ เห็นชอบร่าง กม.ห้ามโทรศัพท์ขณะขับรถ
ยกเว้นมีอุปกรณ์เสริม โชเฟอร์พึงระวัง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 400-1,000 บาท ยันมีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ขณะที่ กมธ. แนบข้อสังเกต ในอนาคตห้ามใช้โดยเด็ดขาด เสนอรัฐบาลแก้กฎหมาย ทั้งฉบับเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 พ.ย. ที่รัฐสภา
มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก ในวาระที่ 2-3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วด้วยคะแนน 57 เสียง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญกำหนดห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดในขณะที่รถเคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ทั้งนี้มีบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400 บาทถึง 1,000 บาท โดยให้บังคับใช้ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
คณะกรรมาธิการฯยังได้ตั้งข้อสังเกตแนบท้ายร่างพ.ร.บ.ไว้ด้วยว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเกิดความเข้าใจร่วมกัน และเป็นการบรรเทาภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ของการออกกฎหมาย และเพื่อความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนผิวจราจร ขอให้รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป และสนับสนุนด้านงบประมาณจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจจับภาพผู้กระทำผิด แทนการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ตรวจจับบนผิวจราจรให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิผล และเพื่อให้การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมีประสิทธิผลในทางปฏิบัติมากขึ้น
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการฯ ยังเห็นว่า
ในระยะยาวควรห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งพิจารณาเสนอกฎหมายให้ครอบคลุมถึงการใช้เครื่องมือสื่อสารอื่นในขณะขับรถด้วย จากปัญหาการจราจรปัจจุบันเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไขอันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ทั้งจากปัญหาการจราจรที่คับคั่ง การเกิดอุบัติเหตุบน ท้องถนน
ส่วนหนึ่งเกิดจากกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา
และบท บัญญัติบางประการล้าสมัย ไม่เหมาะสมกับ สภาวการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของบท กำหนดโทษ จึงไม่สามารถป้องปรามการกระทำผิดได้ จึงสมควรที่รัฐบาลจะปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกทั้งฉบับ และสมควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับปรุงแนวทางขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ให้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ.