ปธ.ศาลระบุคนเสนอพรฎ. ยุบสภาต้องรับผิดชอบ
ปธ.ศาลปกครอง ระบุ 3 ศาลไม่มีอำนาจชี้ขาด-บังคับใครได้ ย้ำหารือพรุ่งนี้เพียงแค่ดูปัญหาที่เกิดขึ้น ซัดคนออกพรฎ.ยุบสภาต้องแสดงความรับผิดชอบ
(27เมาายน) นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางในการหารือกับ 3 ศาลในวันที่ 28 เม.ย.คือการทำให้ถูกกฎหมาย เพราะฉะนั้นศาลปกครองจะวินิจฉัยหรือไปตั้งธงไว้ก่อนไม่ได้ เราต้องพิจารณาตามประเด็นที่มีผู้ยื่นร้องเข้ามา เพราะแต่ละคดีรายละเอียดคำร้องก็ไม่เหมือนกัน ส่วนที่เกรงว่าการแก้ปัญหาของ 3 ศาลจะไม่ทันกำหนดเวลา 30 วันในการขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น ปัญหาก็มีตลอด แต่ก็ต้องแก้กันไปได้ แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะเปิดประชุมสภาได้หรือไม่ได้ เราต้องทำไปตามลักษณะคดีและต้องเร็วที่สุด โดยไม่เกิดความเสียหาย การเปิดสภาได้หรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลปกครอง เรามีหน้าที่พิจารณาคดีเฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจเท่านั้น ส่วนอื่นก็เป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่าย แต่การประชุมของ 3 ศาลเป็นการพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้อง
เป็นการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ว่าใครทำอะไร ได้อย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่ามาประชุมร่วมกันแล้วจะต้องมีมติออกไปบังคับให้คนนั้นคนนี้ทำตาม ทำไม่ได้ และแต่ละศาลก็มีภารกิจหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกคนต้องรู้แล้วว่าภารกิจของตัวคืออะไร มีความคิดเห็นในประเด็นปัญหา ที่แต่ละคนอาจจะคิดว่ามีปัญหา หลักสำคัญคือแต่ละศาลก็จะต้องทำตามหน้าที่ของเขา แต่ถ้าหน้าที่ของเขาจะเกิดปัญหาขึ้นมา ก็อาจมาหารือกันเพื่อให้เกิดความสอดคล้อง ไม่ใช่ว่ามาร่วมกันทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันทำไม่ได้ คดีของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรม คดีของศาลยุติธรรมก็เป็นเรื่องของศาลยุติธรรม ศาลปกครองก็เป็นเรื่องของเรานายอักขราทร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ปัญหาได้ทันถ้าครบ 30 วันแล้วมีการเปิดประชุมจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอักขราทร กล่าวว่า ต้องไปถามคนที่ขอเปิดประชุมสภา มาถามเราไม่ได้ เราไม่มีหน้าที่ตรงนั้น เมื่อถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้นการร่างพระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมสภาของครม.ก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญได้ นายอักขราทร กล่าวว่า ไม่ทราบ ไปบอกเขาไม่ได้ ไม่มีหน้าที่ตรงนั้น เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาอาจเป็นไปโดยไม่ชอบ นายอักขราทร กล่าวว่า ต้องไปดูว่าเป็นหน้าที่ของใครที่เสนอพระราชกฤษฏีกาก็ต้องรับผิดชอบกันไป ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะต้องมีผู้สนองพระราชโองการ จึงต้องมีหน้าที่ดูแลทุกอย่างให้เรียบร้อย ถูกต้อง ไม่ให้มีปัญหา แต่ตนคงไปคิดแทนใครไม่ได้
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณากรณีนายกฯประกาศยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม นายอักขราทร กล่าวว่า ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ใช่ว่าจะฟ้องวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ไปตัดสินคงไม่ได้ ศาลปกครองไม่สามารถยึดติดในเงื่อนของเวลาได้ ต้องดูตามข้อเท็จจริง แต่เรารู้ว่าทุกเรื่องจะต้องรวดเร็ว และต้องเป็นธรรม ซึ่งเราจะต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุด
เมื่อถามว่าศาลปกครองเคยพิจารณาคำร้องของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานเครือข่ายประชาชนคุ้มครองผู้บริโภค ที่ขอให้ยกเลิกพระราชกฤษฏีกาแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) นายอักขราทร กล่าวว่า แต่ละคดีก็มีคำฟ้องที่แตกต่างกัน มันขึ้นอยู่กับลักษณะของคดี ตัวบุคคลที่ฟ้อง ต้องดูเป็นเรื่อง ๆไป ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกเรื่อง
เมื่อซักว่ามีโอกาสที่จะขอให้ศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อตัดเงื่อนเวลา 30 วันออกไปก่อนหรือไม่ นายอักขราทร กล่าวว่า ถ้ามีการร้องขอแล้วศาลเห็นว่าจำเป็นก็อาจจะให้ได้ เป็นดุลยพินิจของศาล ปัญหานี้ทุกคนต้องดู ต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่ใช่เราคนเดียวไปสั่งให้คนนั้นคนนี้ทำไม่ได้ เพราะแต่ละองค์กรก็มีวิธีปฎิบัติของเขาเอง หากทำอะไรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะถูกฟ้องได้ เมื่อถามว่ากกต.ยังคงเดินจัดการเลือกตั้งต่อไปจะมีปัญหาอย่างไรหรือไม่ นายอักขราทร กล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องของกกต. อย่างไรก็ตามองค์กรทางศาลที่เป็นอำนาจตุลาการก็ต้องดูแลเรื่องนี้ให้เกิดความเรียบร้อย ถ้าถึงขนาดนี้แล้วไม่สามารถทำให้กฎหมายเกิดความเรียบร้อยได้ ก็แย่ เราต้องพิจารณาตามกรอบของกฎหมาย โดยต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมและดีที่สุด