ไทยรักไทยใจชื้น เลือกรอบ3ฉลุย พรรคเล็กลงครบ
เลือกตั้งใหม่รอบ 3 ภาคใต้ ทรท.รอเฮ ไม่ต้องฝ่าด่านอรหันต์เกณฑ์ร้อยละ 20 หลัง ได้ผู้สมัครพรรคเล็ก ลงประกบแทบทุกเขต ไม่เว้นแม้แต่พรรคพัฒนาชาติไทย ที่อยู่ระหว่าง ถูกยุบพรรค ยังมาสมัคร แถมผู้สมัครพรรคเล็ก บางพรรค เวียนเทียนเดินสาย มาสมัครกันข้ามจังหวัด สงขลามีผู้สมัครที่ข้ามเขตมาจากยะลา ส่วนตรังเขต 1 หลัง "ไกรสิน โตทับเที่ยง" ถอดใจ ทรท.มีมติให้ ศุภชัย ใจสมุทร ข้ามจากเขต 2 มาลงแทนแล้ว
ท่ามกลางวิกฤติการเมืองไทยที่ยังไม่มีรู้ว่าจะดำเนินไปสู่ทางออกใด แต่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ยังไม่สามารถจะได้ตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใน 14 เขตเลือกตั้ง 9 จังหวัด ก็ยังคงจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สามต่อไป โดยมีการเปิดรับสมัครไปแล้วในวันที่ 26 เมษายน และจะมีการเลือกตั้งกันในวันที่ 29 เมษายนนี้
ครั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ลดกำหนดระยะเวลาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร จากเดิม 5 วัน เหลือเพียง 1 วัน พร้อมประสานไปยังศาลฎีกา ขอให้พิจารณากรณีมีการร้องคุณสมบัติไม่ครบถ้วนภายใน 1 วัน ล่าสุดผลการรับสมัคร ปรากฏว่า มีผู้ลงสมัครประกบคู่ครบทุกเขต ทำให้ไม่ต้องใช้เกณฑ์กรณีมีผู้สมัครคนเดียวในเขตเดียวที่ต้องได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ยกเว้นว่า กกต.เขตจะพิจารณาว่ามีผู้สมัครขาดคุณสมบัติภายในวันที่ 27-28 เมษายน ซึ่งอาจจะทำให้บางเขตเหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวอีก
สรุปรอบสาม พรรคเล็กลงครบ 14 เขต
ศูนย์ข้อมูลเลือกตั้ง 2549 เครือเนชั่น ได้สรุปผลการรับสมัครเลือกตั้งใน 14 เขต ที่มีการเลือกตั้งใหม่ใน 9 จังหวัด คือชุมพร เขต 1 และ 3 ตรัง เขต 1 นครศรีธรรมราช เขต 2 และ 8 ปัตตานี เขต 1 และ 2 พังงา เขต 1 พัทลุง เขต 2 ภูเก็ต เขต 2 สงขลา เขต 2 และสุราษฎร์ธานี เขต 3, 4 และ 6 ดังนี้
จ.ชุมพร เขต 1 มีผู้สมัคร คือ นายธวัช บุรินทร์วัฒนา จากพรรคไทยรักไทย (ทรท.) นายประวิทย์ สายโอภาส พรรคไทยช่วยไทย และนายอาคม หญีตน้อย พรรคเพื่อนเกษตรไทย เขต 3 มีผู้สมัคร คือ นายเฉลิมชัย นิยมไทย พรรค ทรท. นางรัชนี รัตนศรีทอง พรรคไทยช่วยไทย นางภัชริดา ธนาคณพัฒน์ พรรคประชากรไทย และนางสมโภชน์ กองทิพย์ พรรคเกษตรไทย
จ.ตรัง เขต 1 มีผู้สมัคร คือ นายศุภชัย ใจสมุทร พรรค ทรท. นายวิญาสิษฐ์ สุนทรนนท์ พรรคประชากรไทย นางอรสา สวัสดิพันธ์ พรรคชีวิตที่ดีกว่า นายวิรัตน์ ซุ่นสั้น พรรคพลังธรรม และนางสุภาภรณ์ รัตนกิจ พรรคเกษตรกรไทย
จ.นครศรีธรรมราช เขต 2 มีผู้สมัคร คือ น.พ.อิสระ หัสดินทร์ พรรค ทรท. นายกนก ชิตมาลย์ พรรคประชากรไทย และนายวันชัย จินดานุ พรรคคนขอปลดหนี้ เขต 8 มีนายอาคม สุวรรณนพ พรรค ทรท. นายวีระศักดิ์ ท่องวิถี พรรคคนขอปลดหนี้ และนายเสริมศักดิ์ สัตตบงกช พรรคประชากรไทย
จ.ปัตตานี เขต 1 มีผู้สมัคร คือ นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี พรรค ทรท. นายอาหมาด อิจิ พรรคชีวิตที่ดีกว่า และนายพันธการ มะลี พรรคประชากรไทย เขต 2 มี พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอ เจ๊ะโมง พรรค ทรท. นายมะรอพี สาแม พรรคชีวิตที่ดีกว่า และนายมูฮัมหมัดซูไฮมี แลเมาะ พรรคประชากรไทย
จ.พังงา เขต 1 มีผู้สมัคร คือ นายปราโมทย์ แหล่ทองคำ พรรค ทรท. นางบุปผา จิ้วสกุล พรรคพลังประชาชน น.ส.วาสนา โกมล พรรคสยาม ส่วน จ.พัทลุง เขต 2 มีผู้สมัคร คือ นายคณนาถ หมื่นหนู พรรค ทรท. นายณรงค์ ไชยทอง พรรคประชากรไทย และนายเขมาวุฒิ สุวรรณ พรรคพัฒนาชาติไทย
จ.ภูเก็ต เขต 2 มี นายวิสุทธิ์ สันติกุล พรรค ทรท. นายประยูร พูนจันทร์ พรรคพัฒนาชาติไทย และนายวิสุทธิ์ จันทร์จิรา พรรคประชากรไทย ส่วน จ.สงขลา เขต 2 มีผู้สมัคร คือ นายอรรถชาญ เชาน์วานิชย์ พรรค ทรท. นายสุวิทย์ มุเส็มสะเดา พรรคชีวิตที่ดีกว่า นายอ้วน เจียรบุตร พรรคเพื่อนเกษตรไทย นายนิติธรรมวัฒน์ รัตนสุวรรณ พรรคคนขอปลดหนี้ นายอนันต์ สาและทัศน์ พรรคเกษตรกรไทย นายภูมิเดช ประทุมมาศ พรรคธัมมาธิปไตย
จ.สุราษฎร์ธานี เขต 3 นายประเสริฐ บุญประสพ พรรค ทรท. นายสุพจน์ จันทร์แก้ว พรรคคนขอปลดหนี้ เขต 4 มีผู้สมัคร คือ นายสมชาย หิรัญรัตนธรรม จากพรรค ทรท. นายวรพจน์ วิชัยดิษฐ์ พรรคประชากรไทย และ พ.ต.สมพงษ์ คงสบาย พรรคคนขอปลดหนี้ เขต 6 มีผู้สมัคร คือ นายประกิจ เพชรรัตน์ พรรค ทรท. น.ส.สุมิตรา แก้วอินทร์ พรรคคนขอปลดหนี้ และนายฐากูรศิลป์ สิทธิสุราษฎร์ พรรคพลังธรรม
ขณะที่สมัชชา ปชช.ตรัง ประชดมอบสลากให้ กกต.ไปจับเลือก ส.ส.ให้ครบ 500 แทนขืนใจ ปชช. ส่วนชุมพร กกต.หวั่นชาวบ้านฮือประท้วงพรรคเล็กเหมือนสงขลา สั่งเสริมกำลังตร.กว่า 200 สุดท้ายผ่านไปด้วยดี สุราษฎร์ฯ ฮือฮาน้องเมียอดีต ส.ส.ปชป.สวมเสื้อ ทรท.ลงชิงชัยด้วย
ท่ามกลางวิกฤติการเมืองไทยที่ยังไม่มีรู้ว่าจะดำเนินไปสู่ทางออกใด แต่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ยังไม่สามารถจะได้ตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใน 14 เขตเลือกตั้ง ก็ยังคงจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 ต่อไป โดยมีการเปิดรับสมัครไปแล้วในวันที่ 26 เมษายน และจะมีการเลือกตั้งกันในวันที่ 29 เมษายนนี้
นครศรีฯรอบ 2 ทรท.ไม่ผ่าน 20%
ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งรอบ 2 ในเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งตกค้างมาเนื่องจากปัญหากรรมการเลือกตั้ง 5 หน่วยประท้วงไม่ยอมทำหน้าที่เปิดหีบเลือกตั้งเพราะไม่พอใจที่ไม่ได้เงินเบี้ยเลี้ยงเมื่อวันที่ 23 เมษายน จนต้องมาจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 25 เมษายน โดยมีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เพียงพรรคเดียว คือ น.พ.อิสระ หัสดินทร์ นั้น
ล่าสุด ผลการนับคะแนนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ใน 5 หน่วยเลือกตั้งที่เหลือ คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 2, 3, 4, 5 และ 9 ต.กรุงชิง กิ่ง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในเวลา 23.45 น. วันที่ 25 เมษายน ปรากฏว่า น.พ.อิสระ ไม่สามารถได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยได้เพียง 11,274 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.31 จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 109,410 คน และมีผู้กาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโนโหวต 22,413 ใบ บัตรเสีย 3,546 ใบ
ทั้งนี้ นายสุธรรม แสงประทุม กรรมการบริหารพรรค ทรท. มาลุ้นการนับคะแนนด้วยตนเอง แต่หลังการนับคะแนนผ่านไปได้ร้อยละ 30 และคะแนนโนโหวตนำห่าง นายสุธรรมจึงเดินทางกลับทันทีด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
รอบ 3 ทรท.คอนเฮได้คู่แข่งประกบ
หลังผู้สมัครใน 2 เขตเลือกตั้ง จ.นครศรีธรรมราช ไม่สามารถผ่านเกณฑ์ร้อยละ 20 ได้ คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) จ.นครศรีธรรมราชก็ได้ประกาศให้มีการรับสมัครเลือกตั้งรอบที่ 3 ในวันที่ 26 เมษายน
ล่าสุดเมื่อเวลา 09.45 น.วันที่ 26 เมษายน ที่อาคารสำนักงานการประถมศึกษาหลังเก่า ภายในวัดพรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสถานที่เปิดรับสมัครเลือกตั้งรอบ 3 ในเขตเลือกตั้งที่ 2 นายสุธรรม แสงประทุม พร้อมด้วย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ทรท.ที่ผ่านการรับรองและเข้ารายงานตัวที่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว คือ ดร.กณพ เกตุชาติ เขต 1 นายปิติ เทพภักดี เขต 4 ดร.วีรวรรณ จงศิริจิรกาล เขต 5 นายเร็วจริง รัตนวิชา เขต 10 มาเป็นกำลังใจให้ น.พ.อิสระ กันอย่างคึกคัก แม้ว่าจะมีชาวบ้านมาให้กำลังใจน้อยมาก คงมีเฉพาะทีมงาน น.พ.อิสระราว 20 คนเท่านั้นที่มาถือป้ายเชียร์ โดยในรอบที่ 3 นี้ผู้สมัครทรท.ไม่ต้องแข่งกับเกณฑ์ร้อยละ 20 แล้ว เมื่อนายกนก ชิตมาลย์ จากพรรคประชากรไทย นายวันชัย จินดานุ จากพรรคคนขอปลดหนี้ นายเดชา เมืองสุวรรณ จากพรรคเกษตรกรไทย และนายนพรุจ ลิ้มประสิทธิ์วงศ์ จากพรรคไทยช่วยไทย ลงสมัครเป็นคู่แข่งด้วย
ส่วนอีกเขตที่มีการเลือกตั้งรอบ 3 เดิมมีนายประกอบ แต้มสีทอง เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวจากพรรคทรท.และไม่สามารถฝ่าด่านเกณฑ์ร้อยละ 20 ได้ ในรอบ 3 นี้ พรรค ทรท.จึงเปลี่ยนตัวให้นายอาคม สุวรรณนพ อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัครพรรค ทรท.เมื่อปี 2544 ลงสมัครแทน เพราะเกรงว่าหากมีคู่แข่งประกบอาจจะแพ้ได้เนื่องจากในรอบที่ 2 ได้คะแนนมาเพียง 3 พันเศษเท่านั้น โดยมีนายวีระศักดิ์ ท่องวิถี จากพรรคคนขอปลดหนี้ นายอนันต์ พรหมอินทร์ จากพรรคประชากรไทย และ น.ส.วันดี เงินคีรี จากพรรคไทยช่วยไทย ลงสมัครแล้ว
สงขลารอบ 3 มีเวียนเทียนสมัคร
ส่วนที่ จ.สงขลา ตั้งแต่เวลา 08.30 น.วันที่ 26 เมษายน กกต.สงขลา เปิดรับสมัครส.ส.ใหม่เป็นรอบที่ 3 ของเขตเลือกตั้งที่ 2 ที่ห้องยุทธการ ศูนย์ปฏิบัติการ ตชด.43 ค่ายรามคำแหง สงขลา มีผู้มาสมัครแล้ว 3 คน ผู้ที่มาเป็นคนแรก คือ นายสุวิทย์ มุเส็มสะเดา ผู้สมัครพรรคชีวิตที่ดีกว่า ต่อมาในเวลา 09.19 น.นายอ้วน เจียรบุตร ผู้สมัครพรรคเพื่อนเกษตรไทย มาสมัคร ถัดมาในเวลาประมาณ 10.00 น.นายนิติธรรมวัฒน์ รัตนสุวรรณ ผู้สมัครพรรคคนขอปลดหนี้ มาลงสมัคร และเมื่อเวลา 14.05 น. นายภูมิเดช ประทุมมาศ พรรคธรรมาธิปไตย ได้มาสมัครเพิ่มอีก ส่วนผู้สมัครพรรค ทรท. คงเป็น นายอรรถชาญ เชาวน์วาณิชย์ ผู้สมัครคนเดิม ซึ่ง กกต.สงขลาจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของ กกต.เร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทุกราย
นายไพฑูรย์ เจ๊ะแฮ ผอ.กกต.สงขลา คาดว่า ภายในวันที่ 27 เมษายน จะสามารถประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สมัครหลายรายยังเป็นผู้สมัครที่มีลักษณะเวียนเทียนลงสมัคร เช่น กรณีนายอ้วน ผู้สมัครพรรคเพื่อนเกษตรกรไทย ที่เคยลงสมัครในรอบที่ 2 ที่ จ.ยะลา มาแล้ว ผอ.กกต.สงขลา กล่าวว่า สามารถทำได้ เพราะไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่เลือกตั้งของ จ.ยะลา ได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว และถือว่า นายอ้วนไม่ได้อยู่ในบทบาทของผู้สมัคร ส.ส.ที่มีพื้นที่สังกัด แต่ในส่วนคุณสมบัติด้านอื่นๆ นั้น คงต้องตรวจสอบกันอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อความถูกต้องและโปร่งใส
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายนิติธรรมวัฒน์ ก็เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ในเขตเลือกตั้งที่ 5 จ.สงขลา มาแล้วเช่นกัน
พัทลุง พัฒนาชาติไทยสมัครไม่กลัวยุบ
การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.พัทลุง รอบที่ 3 ในเขตเลือกตั้งที่ 2 ที่สำนักงาน กกต.พัทลุง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีเพียงผู้สมัครพร้อมผู้ติดตาม 1-2 คน เดินทางมาให้กำลังใจ ในช่วงเช้ามีผู้มาสมัครแล้วเพียง 2 คน คนแรกคือ นายณรงค์ ไชยทอง อายุ 40 ปี ผู้สมัครพรรคประชากรไทย และนายคณนาถ หมื่นหนู ผู้สมัครพรรคทรท. ซึ่งมาสมัครเป็นคนที่ 2 โดยตัวนายคณนาถ ลงสมัครเป็นครั้งที่ 3 แล้ว หลังจากครั้งแรก ได้คะแนนเพียงร้อยละ 15 และครั้งที่ 2 ได้คะแนนร้อยละ 18
นายศิริ ชูขำ ผอ.กกต.พัทลุง กล่าวว่า การเลือกตั้งรอบที่ 3 นี้ ประชาชนส่วนใหญ่ทราบเรื่องอยู่แล้ว เพียงแต่ตัดสินใจว่า จะออกหรือไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งคราวที่แล้ว มีผู้มาใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งที่ 2 ถึงร้อยละ 51 ครั้งนี้ กกต.ตั้งเป้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 40 ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครครั้งนี้ ผู้สมัครเองมีความรอบคอบ ตรวจคุณสมบัติของตนเองมาก่อน และรู้กฎหมายดีอยู่แล้ว คิดว่าคงไม่มีปัญหา
"ผมอยากให้พี่น้องออกมาใช้สิทธิมากๆ เพื่อรักษาสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 8 ประการ และเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ครั้งนี้ คงเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย" ผอ.กกต.พัทลุง กล่าว
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเขมาวุฒิ สุวรรณ์ ผู้สมัครจากพรรคพัฒนาชาติไทย ได้มาสมัครเป็นรายที่ 3 และการสมัครครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยก่อนหน้านี้ นายเขมาวุฒิ เคยลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 1 แล้วย้ายไปสมัครที่เขต 2 ในการเลือกตั้งรอบ 2 แต่ถูกตัดสิทธิ เนื่องจาก กกต.ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในเขต 1
นายเขมาวุฒิ กล่าวว่า แม้ว่าพรรคพัฒนาชาติไทยจะอยู่ระหว่างถูกเสนอให้ยุบพรรค แต่ล่าสุดยังไม่มีการตัดสินว่าจะต้องยุบพรรคหรือไม่ ตนจึงยังสามารถลงสมัครได้ หากพรรคจะต้องถูกยุบระหว่างนี้ตนก็สามารถย้ายพรรคได้ตามกฎหมายภายใน 30 วัน ส่วนกรณีที่ กกต.ตัดสิทธิการสมัครครั้งที่แล้ว ถือว่าไม่ใช่ความผิดของตน เพราะผู้รับสมัครย่อมรู้ดีว่าควรจะรับหรือไม่รับ
พังงา ทรท.ได้พลัง ปชช.ประกบ
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พังงา ว่า เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 26 เมษายน ที่ห้องประชุมสำนักงาน กกต.จ.พังงา นางบุปผา จิ้วสกุล ผู้สมัครพรรคพลังประชาชน ได้เดินทางมาลงรับสมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 1 รอบ 3 เป็นคนแรก หลังเจ้าหน้าที่ใช้เวลาตรวจสอบเอกสารไม่นานและเห็นว่าครบถ้วนจึงรับสมัคร ซึ่งเมื่อสมัครเรียบร้อย นางบุปผารีบเดินทางกลับทันที
ต่อมาในเวลา 09.09 น.นายปราโมทย์ แหล่ทองคำ ผู้สมัครพรรค ทรท.เดินทางมาลงรับสมัครเป็นคนที่ 2 โดยลงสมัครเป็นครั้งที่ 3 แล้ว นายปราโมทย์ กล่าวว่า ตั้งใจจริงที่จะเป็นตัวแทนชาวพังงา ซึ่งครั้งนี้มั่นใจว่า ชาวพังงาคงจะเห็นใจในความพยายามของตน
ต่อมาในเวลา 13.00 น. น.ส.วาสนา โกมล ผู้สมัครจากพรรคสยาม ได้เดินทางมาลงสมัครเป็นรายที่สาม
ภูเก็ตรอบ 3 คน ทรท.ยังคึกคัก
ส่วนที่ จ.ภูเก็ต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 08.30 น. วันที่ 26 เมษายน ที่ศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้งส.ส.เขต 2 จ.ภูเก็ต เป็นไปด้วยความคึกคัก เวลา 08.36 น.นายวิสุทธิ์ สันติกุล ผู้สมัครพรรค ทรท. เดินทางมายื่นเอกสารเพื่อสมัครเป็นครั้งที่ 3 มีกลุ่มผู้สนับสนุนมาให้กำลังใจกว่า 100 คน พร้อมชูป้ายผ้าเขียนข้อความว่า วิสุทธิ์ สันติกุล ขวัญใจคนจน วิสุทธิ์ สันติกุล สู้...สู้... ขอสนับสนุน วิสุทธิ์ สันติกุล เป็นส.ส.เขต 2 ภูเก็ต เป็นต้น
ขณะที่นางศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ส.ส.ทรท.เขต 1 ที่ได้รับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ก็ได้นำผู้สนับสนุนมาให้กำลังใจ ประมาณ 50 คน ภายใต้การรักษาความปลอดภัยของตำรวจ และ อส.ภูเก็ต ประมาณ 80 คน ในช่วงเช้าก่อนที่จะมีการเปิดรับสมัครนั้น นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าฯ ภูเก็ต มาตรวจสอบความเรียบร้อยด้วย
ต่อมาเมื่อเวลา 09.25 น.นายประยูร พูลจันทร์ ผู้สมัครจากพรรคพัฒนาชาติไทย เดินทางมาสมัคร พร้อมผู้สนับสนุน 20 คน และรถแห่ 7 คัน นายประยูร กล่าวว่า มั่นใจว่าจะได้รับเลือกจึงลงสมัครครั้งนี้ ส่วนการที่พรรคพัฒนาชาติไทยอยู่ระหว่างดำเนินการถูกยุบพรรคนั้น หากตนได้รับสมัครก็ไม่มีปัญหา เพราะสามารถย้ายพรรคได้
ขณะที่นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า การมาสมัครครั้งนี้ เพื่อสู้ตามกฎ และระบอบประชาธิปไตย วันนี้อยากให้ภูเก็ตมีโอกาสดี ไม่อยากให้เสียโอกาสเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต 2 ที่ยังมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินมากกว่าเขต 1 จึงขอโอกาสให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน ต.รัษฎา และหลายพื้นที่ที่ อ.ถลาง ส่วนเรื่องการต่อสู้กับคะแนนโนโหวตนั้น พยายามทำความเข้าใจ และคะแนนโนโหวตเริ่มลดลง จากครั้งแรกมาครั้งที่ 2 นั้น สัดส่วนนี้หายไปกว่า 1.4 หมื่นคนทีเดียว
อย่างไรก็ดี สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มสหพันธ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.ภูเก็ต ซึ่งเดิมมีกระแสข่าวว่า จะมาเปิดเวทีปราศรัยในสถานที่รับสมัครนั้น ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลา ไม่ได้จัดเวทีปราศรัยแต่อย่างใด มีเพียงแกนนำและสมาชิกประมาณ 50 คน เดินทางมาในช่วงเช้าเพื่อขอคำชี้แจงจากผู้สมัครพรรคเล็กซึ่งมาลงสมัครทำให้ไม่ต้องใช้เกณฑ์ร้อยละ 20 ก่อนจะสลายตัวไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 13.45 น. นายวิสุทธิ์ จันทร์จิรา อายุ 56 ปี ผู้สมัครจากพรรคประชากรไทย เคยเป็นศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาภูเก็ต ซึ่งเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ก็ได้มาลงสมัครเพิ่มอีก 1 ราย
ทรท.ปัตตานีไม่เหนื่อยได้คู่แข่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปัตตานี ว่าบรรยากาศการเลือกตั้งรอบ 3 เป็นไปอย่างคึกคักผิดกับสองครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 08.00 น. วันที่ 26 เมษายน ผู้สมัครจากหลายพรรคได้เดินทางมาที่สถานที่รับสมัคร ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี แม้ว่าพรรค ทรท.ยังคงส่งผู้สมัครชุดเดิมลงรับสมัครทั้ง 2 เขต คือ เขต 1 ยังคงเป็น นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี และ เขต 2 คือ พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอ เจ๊ะโมง และทั้งสองคนในสองครั้งที่ผ่านมายังไม่สามารถจะผ่านเกณฑ์ร้อยละ 20 ได้ แต่การรับสมัครเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะไม่ยากลำบากเหมือนสองครั้งก่อนแล้ว เมื่อมีผู้สมัครจากหลายพรรคมาลงรับสมัครแข่งขันชิงชัยด้วย โดยพรรคประชากรไทยส่งผู้สมัครลงทั้ง 2 เขต คือ เขต 1 นายอาหมาด อิจิ และ นายมะรอพี สาแม ลงสมัครที่เขต 2 ส่วนพรรคชีวิตที่ดีกว่า ส่งนายพันธการ มะลี ลงสมัครเขต 1 และนายมูฮัมหมัด ซูไฮมี แลเมาะ ลงรับสมัครเขต 2 ล่าสุดมีผู้สมัครจากพรรคสยามมาลงสมัครเพิ่มอีกพรรคหนึ่งด้วย
นายเสถียร มณีโรจน์ ผอ.กกต.จ.ปัตตานี กล่าวว่า ในวันที่ 27 เมษายน เจ้าหน้าที่จะประกาศรับรองสิทธิผู้สมัครได้ทันการเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลา 11.00 น. น.ส.กุสุมา เด่นอุดม ผู้สมัครจากพรรคคนขอปลดหนี้ เดินทางมาลงสมัครในเขต 1 เพิ่มเติมอีกหนึ่งคน แต่ปรากฏว่า ขณะที่กำลังยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่นั้น มีโทรศัพท์จากพรรคโทรเข้ามาแจ้งให้นางกุสุมายกเลิกการสมัครก่อน และนางกุสุมาก็รีบเดินทางกลับทันที โดยไม่แจ้งเหตุผลว่าเพราะอะไร
ตรัง "ศุภชัย" ข้ามเขตแทน "ไกรสิน"
ด้าน จ.ตรัง ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 เมษายน นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผู้ว่าฯตรัง นายธรรมศักดิ์ ตันวโรภาส ประธาน กกต.จ.ตรัง และ กกต.เขต 1 มาร่วมกันอำนวยความสะดวก ที่ห้องประชุมเล็กชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นสถานที่เปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ตรัง รอบ 3 อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า จะมีกลุ่มผู้คัดค้านการเลือกตั้งเคลื่อนไหวจึงต้องย้ายมาเปิดรับสมัครบนศาลากลาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามีผู้มายื่นสมัครทั้งสิ้น 3 ราย คือ นายวิญาสิษฐ์ สุนทรนนท์ จากพรรคประชากรไทย ตามมาด้วยนายศุภชัย ใจสมุทร จากพรรค ทรท. ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ทรท. ภาคใต้ และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ตรัง เขต 3 เมื่อปี 2544 และปี 2548 ซึ่งมาลงสมัครแทนนายไกรสิน โตทับเที่ยง ซึ่งขอถอนตัวไปหลังลงสมัครใน 2 ครั้งที่ผ่านมาและไม่สามารถฝ่าด่านเกณฑ์ร้อยละ 20 ได้ ส่วนรายที่ 3 คือ นางอรสา สวัสดิพันธ์ จากพรรคชีวิตที่ดีกว่า
ก่อนหน้านั้น มีผู้สมัครจากพรรคสยาม เดินทางเข้ามายังภายในสถานที่รับสมัครด้วย และแจ้งความประสงค์ว่า จะลงสมัคร ส.ส. แต่เนื่องจากขาดหลักฐานสำคัญ คือ รูปถ่าย จำนวน 200 รูป จึงได้ขอเดินทางกลับไปเตรียมเอกสารมายื่นใหม่
นายศุภชัย ผู้สมัคร จากพรรค ทรท.ให้เหตุผลถึงการย้ายจากเขต 3 ซึ่งเคยลงสมัครถึง 2 ครั้งมาลงในเขต 1 ว่า เนื่องจากพรรคได้มีมติในฐานะสมาชิกที่ดีจึงต้องปฏิบัติตาม เพราะการลงสมัคร 2 ครั้งล่าสุด นายไกรสินอยู่ในอาการที่บอบช้ำเกินไป และในการออกมาใช้สิทธิของประชาชน ก็ใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสิน ไม่ยอมใช้สติพิจารณาตัวผู้สมัคร ครั้งนี้ ตนขอวิงวอนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิอีกครั้ง
ส่วนผู้สมัครเพิ่มเติมอีก 2 คน ซึ่งมาสมัครก่อนปิดรับสมัคร 5 นาทีสุดท้าย คือ นายวิรัตน์ ซุ่นสั้น จากพรรคพลังธรรม และนางสุภาภรณ์ รัตนกิจ จากพรรคเกษตรกรไทย ทำให้มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 6 คน
ขณะเดียวกันในเวลา 13.00 น. ที่หน้าสำนักงาน กกต.จ.ตรัง ข้างศาลากลางหลังใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีกลุ่มสมัชชาประชนภาคใต้ จ.ตรัง นำโดยนายพิเชฐ ศรีประศาสตร์ นายณัฐพงศ์ เนียมสม รองนายก อบต.นาตาล่วง และชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางมามอบสลากซึ่งมีข้อความว่า "สลากมอบให้ กกต.ใช้เพื่อจับให้ได้ ส.ส.ครบ แทนการบังคับขืนใจให้ ปชป.ไปเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" โดยมีนายกำธร ทองขุนดำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพรรคการเมือง เป็นตัวแทน กกต.ออกมารับ
ทั้งนี้ แกนนำสมัชชาประชาชนฯ ประกาศจะเผาโลงศพ "กกต.กลาง ศรีธนญชัย" ในวันที่ 27 เมษายน ที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังใหม่ โดยได้ขับรถแห่ไปรอบเขตเทศบาลนครตรัง เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมงานด้วย
ชุมพร กกต.ผวาต้านพรรคเล็ก
ส่วนที่ จ.ชุมพร ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. รอบ 3 ของเขต 1 และเขต 3 ว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 เมษายน บรรยากาศทั่วไปยังเต็มไปด้วยความอึมครึม ในสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง มีชาวบ้านหลาย 100 คน มาจอดรถยนต์และจักรยานยนต์ ดูลาดเลา จน พล.ต.ต.วิสาร เปล่งขำ ประธาน กกต.จ.ชุมพร กลัวชาวบ้านจะมาชุมนุมประท้วงพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่ให้เข้าสมัคร ส.ส.เหมือนที่ จ.สงขลา จึงได้ร้องขอกำลังตำรวจกว่า 200 นาย มาช่วยดูแลความสงบ ทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย
กระทั่งเวลา 10.30 น. นายประวิทย์ สายโอภาศ พรรคไทยช่วยไทย ชึ่งเคยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.เมื่อปี 2544 มายื่นขอลงสมัคร แต่ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากโดนฟ้องล้มละลาย และได้รับการยกฟ้องโดยการยินยอมหนี้ ตามคำสั่งศาลธนบุรี ลงวันที่ 25 เมษายน 2549
ส่วนนายอาคม หณีตน้อย ผู้สมัครจากพรรคเพื่อนเกษตรไทย ซึ่งได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในเขต 2 แข่งกับนายสมชาย คุณวุฒิ ผู้สมัครพรรค ทรท. เมื่อการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน ทำให้นายสมชายได้เป็น ส.ส.ชุมพร เขต 2 นายอาคมก็ได้เดินทางมาลงสมัครในพื้นที่เขต 1 และ กกต.ได้รับรองคุณสมบัติแล้วในวันเดียวกัน คาดกันว่า การที่หลายพรรคเล็กส่งคนลงสมัคร เนื่องจากหวังจะได้ตัวแปรจากฐานเสียงผู้ใช้สิทธิโนโหวตในครั้งที่ผ่านมา ที่สูงถึงเขตละกว่า 30,000 เสียง ซึ่งอาจจะต่อต้านพรรคใหญ่หันมาเทเสียงให้
สุราษฎร์น้องเมียคนปชป.ลงทรท.
ผู้สื่อข่าวรายงานการเปิดรับสมัครเลือกตั้งรอบสามที่ จ.สุราษฎร์ธานี ใน 3 เขตเลือกตั้งว่า แต่ละเขตมีผู้สมัครลงแข่งขันกันมากกว่า 1 คน ทำให้ไม่ต้องใช้เกณฑ์คะแนนเสียงร้อยละ 20 แล้ว โดยเขต 3 มีผู้สมัคร 2 คนคือ นายประเสริฐ บุญประสพ พรรค ทรท. ซึ่งเป็นน้องภรรยาของนายชุมพล กาญจนะ อดีต ส.ส.เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครแทนนายชูชัย ทองขาว ที่ลงสมัครเลือกตั้ง 2 ครั้งไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 20 อีกรายเป็นผู้สมัครของพรรคคนขอปลดหนี้ คือนายสุพร จันทร์แก้ว
ส่วนเขต 4 มีผู้สมัคร 2 คนเช่นกันคือ นายสมชาย หิรัญรัตนธรรม พรรคทรท. และนายวรพจ วิชัยดิษฐ์ พรรคประชากรไทย เขต 6 มีผู้สมัคร 3 คน ได้แก่ นายประกิจ เพชรรัตน์ พรรคไทยรักไทย นางสุมิตรา แก้วอินทร์ พรรคคนขอปลดหนี้ และนายฐากูรศิลป์ สิทธิสุราษฎร์ พรรคพลังธรรม บิดานายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ อดีตรองผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ส่วนเขต 6 นายประกิจ เพชรรัตน์ พรรคทรท.ลงสมัคร