สรุปจบ 4 ทางเลือกสุดท้าย!! ‘ธรรมนัส’ ในวันที่ไร้เก้าอี้ รมต.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พยายามลบภาพความแตกแยกภายในพรรคโดยนัดประชุม ส.ส.พปชร. ที่ห้องประชุมชั้น 6 อาคารรัฐสภา พร้อมควงคู่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิพรรค เข้าร่วมประชุมด้วย
ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาคือหลังจากนี้ ผู้กองธรรมนัส จะเลือกอนาคตเส้นทางการเมืองของตัวเองแบบไหนภายหลังถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หักหาญน้ำใจถึงขั้นใช้ช่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 ปลดพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีแบบไม่ไว้หน้า เพื่อเขี่ยให้พ้นกระดานการเมือง
นาทีนี้เส้นทางการเมืองของ ผู้กองธรรมนัส ถูกบีบเหลือเพียง 4 ตัวเลือกเท่านั้น1.ตัวเลือกแรก "ลาออก" จากสมาชิกพรรคแต่จะส่งผลให้ สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ไปด้วยตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (8) นำไปสู่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.พะเยา เขต 1
2.ตัวเลือกที่สองขอให้พรรค "ไล่ออก" จากสมาชิกใช้คะแนน เสียง 3 ใน 4 จากที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรค และ ส.ส.พปชร. ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9) มีกระแสข่าวผู้กองธรรมนัสเลือกทางนี้เพื่อไปตั้งพรรคการเมืองใหม่แต่ พล.อ.ประวิตรไม่ยอม
3.ตัวเลือกที่สาม "ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค" ถอยฉากออกไปอยู่ในฐานะสมาชิก เปิดทางให้แกนนำกลุ่มอื่นเข้าบริหารพรรคแทนซึ่งเริ่มมีการปล่อยข่าวนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง อาจขึ้นมาเป็นเลขาฯ พรรคคนใหม่ เพราะก่อนหน้านี้นายสันติ ได้แยกตัวออกจากกลุ่ม 4 ช. และประกาศสนับสนุนนายกฯ อย่างชัดเจน ช่วงก่อนลงมติไม่ไว้วางใจ
4.ตัวเลือกที่สี่ "ไม่ลาออกตำแหน่งเลขาธิการพรรค" ทำหน้าที่คุมพรรค พปชร. ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลเหมือนเดิม โดยมีซุ้ม ส.ส.ภาคเหนือ-อีสาน นับสิบคนเป็นกองหนุนกลายเป็น "หนามแทงใจ" นายกฯ ที่ต้องการเขี่ยให้พ้นกระดานการเมือง ขณะที่ พล.อ.ประวิตร พยายามปรับแผน โดยดึง "บิ๊กน้อย" พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ทหารใกล้ชิดเข้ามานั่งเก้าอี้ ประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. เพื่อหวังลดแรงกระเพื่อมที่จะส่งผลไปถึงเสถียรภาพรัฐบาล
ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหนแต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กองธรรมนัสกับ พล.อ.ประยุทธ์ และสถานภาพภายในพรรค พปชร. จะร้าวลึก ไม่มีวันเหมือนเดิม