น้อมรับพระราชดำรัส ทุกฝ่ายร่วมมือแก้ไขวิกฤตการเมือง
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกา ทรงชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การเมืองที่อยู่ในช่วงวิกฤต และให้คณะศาลได้ร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศนั้น
นายจรัล ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมศาลฎีกา สนามหลวง จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้พิพากษาต่าง ๆ ที่หลากหลาย คณะกรรมการ ข้าราชการศาลยุติธรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะรวบรวมข้อสรุป ข้อเสนอ และข้อแนะนำ หารือกับประธานศาลปกครองสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 28 เมษายนนี้ เวลาประมาณ 12.00 น. ที่ศาลอาญารัชดา และหาทางออกร่วมกันว่าจะปฏิบัติให้เป็นไปตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้อย่างไร ส่วนแนวโน้มจะออกมาอย่างไรนั้น เชื่อว่า ความของข้อกฎหมายนั้นไม่น่าจะมีปัญหา แต่ที่มีปัญหาและเป็นเรื่องยากคือต้องกำหนดทิศทางให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนให้มากที่สุด และเกิดการยอมรับร่วมมือร่วมใจ เพื่อพาประเทศชาติให้พ้นวิกฤติ หากมองในด้านใดด้านหนึ่ง อาจไม่รอบคอบจึงต้องรับฟังจากทุกฝ่ายที่มีใจเป็นกลาง ส่วนจะสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลการหารือในวันที่ 28 เมษายนนี้
ในระหว่างการหารือปัญหาทางออกในเรื่องนี้ทุกฝ่ายควรยุติความเคลื่อนไหวของตนเองหรือไม่นั้น นายจรัล ภักดีธนากุล กล่าวว่า คงให้ความคิดเห็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลไม่ได้แต่อะไรที่จะเกิดปัญหาใช้ความรุนแรงหรือการโต้แย้งมากขึ้นควรจะมีการพิจารณาบ้าง
ด้าน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดความสงบสุขขึ้นในบ้านเมืองว่า ทุกคนควรน้อมรับกระแสพระราชดำรัสใส่เกล้าใส่กระหม่อม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามทำให้เกิดความปรองดองมาโดยตลอด และในวันนี้จะประสานไปยังกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เพื่อประชุมหารือและกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกันให้เกิดความสมานฉันท์ แต่มองว่ายังไม่ถึงขั้นต้องหารือกับฝ่ายค้านหรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ส่วนกรณีที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังยืนยันจะชุมนุมใหญ่ในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า เป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ตามระบอบประชาธิปไตยแต่ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่
พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวต่อว่า ยังไม่มีการนำพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ซึ่งในระหว่างนี้ได้ให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาในข้อกฎหมาย ซึ่งต้องรอดูผลการเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อน และจะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวร่วมกันอีกครั้ง
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา กล่าวว่า ทางเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมาใส่เกล้าใส่กระหม่อมและต้องมีการทบทวนเรื่องการเสนอขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ตามมาตรา 7 เนื่องจากทรงเห็นว่า การมีนายกรัฐมนตรีพระราชทานไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเบื้องต้นคงต้องมีการประชุมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้เชื่อว่ากระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในเรื่องการเลือกตั้งที่ได้คะแนนไม่ถึง ร้อยละ 20 และมีสมาชิกสภาผู้แทนไม่ครบ 500 คนเป็นสาระสำคัญที่ทรงห่วงใย ซึ่งทางรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกลับไปทบทวนว่าควรจะจัดให้มีการเลือกตั้งต่อไปอีกหรือไม่
นายสุริยะใส กล่าวถึงช่องทางที่น่าจะนำไปสู่ทางออกในเรื่องนี้ว่า ทางเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยยื่นคำร้องไปที่ศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โดยเสนอให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะเนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะก็เชื่อว่าวิกฤติทางการเมืองในขณะนี้จะสามารถคลี่คลายได้ในที่สุด.