เปิด 3 สิ่ง รัฐบาลไม่ได้บอกประชาชนใน พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน
1.ครม.มีมติเห็นชอบให้นับรวมรายจ่ายลงทุนตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 7 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขภาวะงบลงทุนน้อยกว่างบขาดดุลของงบปี 65 ซึ่งเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้ระบบการคลังของประเทศ นัยว่าเรากำลังบัญญัติศัพท์ใหม่คำว่า "การกู้นอกงบประมาณเพื่อชดเชยกรณีงบลงทุนน้อยกว่าการขาดดุล" ว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ ในวิธีการงบประมาณ ต่อจากนี้ สามารถอ้างว่ากู้เพื่อนำมาลงทุน แล้วนำมาโปะช่องโหว่ความล้มเหลวในการจัดงบประมาณได้เสมอ ซึ่งในอนาคตจะมั่วได้อีกเยอะ จากบรรทัดฐานนี้
2.สิ้นเดือนก.ย. 64 หนี้สาธารณะคาดว่าจะอยู่ที่ 9,381,428 ล้านบาท (58.56% ต่อ GDP) และมีช่องว่างเหลือเพียง 230,691 ล้านบาท ก่อนที่หนี้สาธารณะต่อ GDP จะชน 60% ซึ่งหมายถึงช่องว่างนี้ไม่พอสำหรับการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 700,000 ล้านบาทในงบ 65 ทันที อีกทั้ง GDP นี้ยังไม่ได้นับรวมความเสียหายทั้งหมดจากโควิดระลอก 3 ที่ยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ แต่ละเดือนที่ยืดออกไป GDP จะหายไปเดือนละราว 100,000 ล้านบาท หากรวมตัวเลขนี้ หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ทะลุเพดานไปเรียบร้อยแล้วก่อนจะเริ่ม งบ 65 เสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เรื่องหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย พอขยับกันได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าขยับให้ใครและเอาไปใช้อย่างไร หากขยับให้รัฐบาลปัจจุบันและเอาใช้แบบที่ผ่านๆมา ก็น่าห่วง
3.งบ 3 ส่วน ได้แก่ งบสาธารณสุข งบเยียวยา และงบฟื้นฟู สามารถโอนโยกย้ายกันไปมาได้ตามสะดวก ตรงนี้คือปัญหาตั้งแต่ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฉบับแรกแล้ว ที่โอนงบฟื้นฟูซึ่งลงทุนเพื่ออนาคตมาในงบเยียวยาเกือบหมด แทบไม่ได้ลงทุนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย มาร่างพ.ร.ก. ฉบับนี้ เปิดอิสระ โยกได้หมด ยิ่งกว่า พ.ร.ก. 1 ล้านล้านเสียอีก