ทั้งนี้ในท้ายคำร้องของป.ป.ช. ได้ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่า 1.ให้ น.ส.ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีกาประทับรับฟ้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา 2.ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี
ขณะที่ น.ส.ปารีณา ได้ส่งคำคัดค้านขอความเมตตาจากศาลฎีกา ขอให้มีคำสั่งไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 มีนาคม ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ได้นัดพิจารณาว่าจะประทับรับฟ้องคดีกล่าวหา น.ส.ปารีณา ดังกล่าวหรือไม่ โดยองค์คณะผู้พิพากษา พิจารณาคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่า ...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่า น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 11ระบุว่า ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม, ข้อ 17 ระบุว่า ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง, ข้อ 27 ระบุว่า การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
ทั้งนี้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาวินิจฉัย โดยในวรรคสาม ระบุว่า ให้นำความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยอนุโลม
มาตรา 81 ระบุว่า กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับฟ้องตามมาตรา 77 ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาฯมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยวรรคสองระบุใจความสำคัญว่า หากถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองอีกตลอดไป
มาตรา 86 ระบุว่า กรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา