โรมซัดบิ๊กตู่-บิ๊กป้อมล้มเหลว ปมตั๋วช้าง ปัญหาโยกย้ายตำรวจ
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อเป็นวันที่ 4 โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า
สาเหตุที่ต้องอภิปรายทั้งสองคนเนื่องจากบริหารราชแผ่นดินล้มเหลว และไม่โปร่งใสที่มีต่อการบริหารราชการตำรวจจนกลายเป็นที่ซ่องสุม กลุ่มที่จะกอบโกยยศและตำแหน่งไว้กับตนเองและพวกพ้อง
ตั้งแต่สมัยพล.อ.ประวิตร กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ปี 2557 มีการปล่อยปละละเลยให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาบงการการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง จนก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ และการใช้เส้นสายในวงการตำรวจ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามากำกับดูแลด้วยตนเองก็ยังปล่อยให้คนเหล่านั้นลอยนวลต่อไป ทำให้วงการตำรวจเพิกเฉยต่ออาชญากรรม กระทำกับผู้บริสุทธิ์ เปิดบ่อนไม่ว่า ค้ายาไม่สอบ เจอเจ้าพ่อน้อมนอบแต่เจอม็อบสู้ตาย
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทำให้เป็นเวทีของคนฝั่งรัฐบาลและตำรวจมาพูดคุยและตัดสินใจในงานของตำรวจและการโยกย้าย แต่กลับละเลยการดูแลปัญหา จนเกิดปัญหาเรื่องตั๋วตำรวจ
ตั๋วที่มีแล้วจะได้ทุกอย่าง ซื้อตำแหน่งได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม และมีการทำหนังสือราชการ เป็นตั๋วจากคนที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอสนับสนุนการขอรับตำแหน่งให้กับนายตำรวจบางนายข้ามหน่วยงาน ถามว่าอาศัยกฎหมายอะไร เพราะการแต่งตั้งมีขั้นตอนตามกฎระเบียบและกฎหมายอยู่แล้ว
ถามว่าพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร รับทราบเรื่องนี้หรือไม่ รวมทั้งการเลื่อนขั้นนายตำรวจบางนายที่เติบโตอย่างรวดเร็วและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ก.ตร. ทำให้คนทำงานเสียกำลังใจและทำลายระบบคุณธรรมของตำรวจ
ในช่วงท้าย นายรังสิมันต์ กล่าวว่า "ในการทำหน้าที่ส.ส. ผมรู้ว่าครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่อันตรายที่สุดในชีวิต แต่เมื่อประชาชนเลือกมาแล้วก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ผมไม่รู้ว่าผลจากการทำหน้าที่ในวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ไม่รู้ว่า 3 วันข้างหน้ามีอะไรรออยู่ ไม่รู่ว่า 3 เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น จะยังพูดแทนประชาชนได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมก็ไม่เสียใจที่ได้ทำหน้าที่ของผมในวันนี้" รังสิมันต์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายของนายรังสิมันต์ ปรากฏว่ามีการประท้วงขัดขวางจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ เป็นจำนวนมาก ทั้ง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.
เนื่องจากนายรังสิมันต์ ได้พาดพิงถึงบุคคลภายนอก โดยเฉพาะบิ๊กข้าราชการตำรวจระดับสูงหลายนาย จนทำให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ทำหน้าที่สลับกันเป็นประธานประชุม ต้องกำชับว่าห้ามพาดพิงบุคคลภายนอก
หากยังพูดพาดพิงอีกจะไม่อนุญาตให้อภิปรายต่อ ซึ่งระหว่างนั้นมี ส.ส.พปชร.หลายคนลุกขึ้นประท้วงขอให้อภิปรายในประเด็น ขณะที่ ส.ส.ฝั่งฝ่ายค้านหลายคนก็ประท้วงการทำหน้าที่ของประธานที่ประชุมเช่นกันพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงว่า ในห้วงที่ผมนั่งเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)อยู่นั้น ได้ทำตามระเบียบของกรมตำรวจและ ก.ตร. รวมถึงระเบียบและข้อกฎหมายทุกประการ ขอบคุณที่ท่านได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าใครไม่ได้อะไร ซึ่งเป็นเรื่องของรายละเอียดที่กรมตำรวจจะต้องพิจารณาคนของเขา ว่าใครมีความสามารถอย่างไร เราทำทุกอย่างตามขั้นตอน ตามระเบียบ ทำตามกฎข้อบังคับของก.ตร. และตามครม.ที่ได้รับมอบหมายให้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธาน ก.ตร. ลุกขึ้นชี้แจงว่า การทำงานใดก็ต้องต้องรู้ขั้นตอน รู้กฎหมาย รู้วิธีการ รู้แนวปฏิบัติในการทำงาน หลายคนในที่นี้ก็เป็นตำรวจ แต่ไม่เคยได้รับการเข้าไปพิจารณาในชั้น ก.ตร. เรื่องหนังสือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นั้น เป็นเพียงหนังสือสนับสนุนการขอรับการแต่งตั้ง ซึ่งจะมาจากหน่วยใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจจะรับไว้พิจารณาก็ได้หรือไม่ก็ได้
พล.อ.ประยุทธ์อภิปรายชี้แจงกรณีแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่มีการยกเว้นหลักเกณฑ์การแต่งตั้งนั้น จะเป็นการเสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นขึ้นมา โดยจะต้องพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ ประสบการณ์การรับราชการประกอบด้วย รวมทั้งมีเหตุผลสมควรและความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่ง ที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถพิเศษเฉพาะทาง ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
และเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจต่อผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาที่มีตำแหน่งเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดพลาดไม่ได้ โดยพิจารณาจากผลงานที่ปรากฏด้วย ในเรื่องการแต่งตั้งที่ผ่านมานั้นก็เป็นไปตาม หลักเกณฑ์และพ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2547 และกฎของก.ตร.ซึ่งให้อำนาจไว้ทุกประการพล.อ.ประยุทธ์อภิปรายว่า สำหรับตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้ให้โอกาสสามารถร้องเรียน ร้องทุกข์ต่อผู้บัญชาการชั้นเหนือขึ้นไปได้ หรือ อนุกรรมการก.ต.ร.ร้องทุกข์ รวมถึงศาลปกครอง หรือกระบวนการยุติธรรมทางอื่นได้ ซึ่งได้ดำเนินการมาโดยตลอดในการประชุมก.ต.ร.ได้เสนอรายชื่อผู้ร้องเรียนเข้ามาในคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่พอใจการทำงานของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร) และนายกรัฐมนตรี
"ไม่ใช่ใช้อำนาจและไม่ให้โอกาสเขาร้องเรียน ชี้แจง แต่เป็นเรื่องของคณะอนุกรรมการพิจารณา ผมสั่งเองไม่ได้ทั้งหมด ไม่ใช่ผมนั่งหัวโต๊ะแล้วสั่งอะไรได้ทั้งหมด เพราะทุกอย่างเป็นไปตามมติ"
พล.อ.ประยุทธ์อภิปรายต่อว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้องในก.ต.ร. หรือ การแต่งตั้งชั้นนายพล แต่การเห็นชอบต้องออกมาเป็นมติ การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจมีอยู่ 3 ระดับ โดยสัดส่วนในการแต่งตั้งแบ่งออกเป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะอาวุโสอย่างเดียวไม่พอ ต้องเอาความเหมาะสมมาด้วย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ใครที่บอกว่า ไปเสียเงินเสียทอง ขอให้มาร้องเรียนที่ตนเลยก็ได้ แต่ไม่เห็นมีใครเข้ามาร้องเรียน มีแต่มีการพูดจาเผยนอก ตนเกรงว่าจะเป็นการหลอกเอาเงิน แอบอ้าง
"บอกมาเลย ใครเสียเงิน ผมประกาศไปแล้วหลายที หลายปีที่ผ่านมา บอกว่า ใครจะมีใบเสร็จ การจะทุจริตต้องมีทั้งสองฝ่าย มีผู้รับ ผู้ให้ ผู้เรียก ผู้เสนอ แต่การจะอ้างว่า ผมกับรองนายกฯ (พล.อ.ประวิตร) ได้ประโยชน์ ผมได้ประโยชน์จากที่ไหน มีหลักฐานหรือยัง ถ้าบอกว่าใครจะหาหลักฐานได้ อย่างนี้มันก็ลอยลมไปมากันอยู่อย่างนี้
พล.อ.ประยุทธ์ชี้เรื่องแจงรายชื่อ ว่า รายชื่อสุดท้ายเป็นรายชื่อที่เปิดเผย ต้องเปิดเผยให้รับทราบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มที่มีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ ทุกรายชื่อต้องเข้ามาก่อนจะนำเข้ามาในระดับคัดกรองอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องลับ
"บัญชีแรกคือบัญชีความเหมาะสม เรื่องของความอาวุโส เพราะฉะนั้นจะหัวตารางหรือท้ายตารางทั้งหมดเป็นรายชื่อความเหมาะสมที่ถูกเสนอเข้ามา แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณาได้หรือไม่ได้ ตำแหน่งไหนสำคัญสมควรได้รับการยกเว้นหรือไม่ ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นเรื่องของท่าน"
พล.อ.ประยุทธ์อภิปรายต่อไปว่า ประเด็นการแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ เรื่องซื้อขายตำแหน่ง ร้องเรียนเข้ามา หลายครั้งมีการพิจารณาในคณะกรรมการอุทธรณ์ แต่ไม่มีคนรับสารภาพว่าจ่ายเงินให้ใคร แล้วมาบอกว่ามาส่งที่ตน ส่งที่รองนายกฯ (พล.อ.ประวิตร)
"ผมยืนยันว่าไม่มี ด้วยความสุจริตของผม ด้วยความบริสุทธิ์ใจของผม ผมยืนยันได้ว่า ผมไม่เคยรับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ อะไรก็แล้วแต่"
พล.อ.ประยุทธ์ อภิปรายว่า เรื่องกลุ่มนายพล. ตนได้ชี้แจงไปแล้วจะอยู่ท้ายตารางหรือต้นตาราง ก็อยู่ในบัญชีความเหมาะสมเพื่อพิจารณาต่อไปในระดับก.ต.ร.หรือ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในแต่ละชั้นยศ เมื่อเสนอมาแล้วก็จะนำมาพิจารณาว่าจะยกเว้นหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ และด้วยเหตุผลใด
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การคัดเลือกตัวบุคคลเหล่านี้ เป็นการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เรียกว่า หน่วยงานในพระองค์ เรียกว่าตำรวจมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นการปรับย้าย ปรับโอนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาปฏิบัติงานในหน่วยงานนี้ ซึ่งจัดตั้งมาเพื่อถวายงานใกล้ชิด
เรื่องการถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติด้วย จึงจำเป็นต้องคัดเลือก คัดสรรและสอบถามทัศนคติ ถ้าไม่ผ่าน ไม่เหมาะสม ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม ไม่มีการลงโทษอย่างใดทั้งสิ้น มีความจำเป็น เพื่อความสง่างาม เป็นการแสดงออกต่อสังคมภายนอกในการถวายงาน มีหลักเกณฑ์พิจารณาที่เข้มงวดพอสมควร
"ผมไม่อยากให้การพูดจาในวันนี้เสียหาย และหลายอย่าง สังคม ประชาชนทราบดีว่า ความมุ่งหมายที่กล่าวมาทั้งหมด มุ่งหมายไปเพื่ออะไรและท้ายที่สุด ก็มีการพูดถึง ว่า อีก 3 เดือนข้างหน้า จะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้แบบนี้ ผมว่า ไม่ใช่แล้วมั้ง เพราะคนที่ทำผิดหลาย ๆ คดี เขาก็ไม่ได้พูดแบบนี้ เขาไม่ได้ประกาศว่าจะโดนจับอีก 3 เดือนข้างหน้า ผมก็ยังไม่รู้ว่าท่าน (นายรังสิมันต์ โรม ผู้อภิปราย) จะโดนจับหรือเปล่า ผมยังไม่รู้เลย มันอยู่ที่การกระทำของท่าน แต่การที่ท่านพูดวันนี้จุดหมายประสงค์อย่างอื่นหรือเปล่า"