นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรยายเป็นคนแรกเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมาซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยรัฐบาลได้มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมได้แสดงออกตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีกลไกในการนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในวันที่ 13 ตุลาคม เกิดการเผชิญหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่ในวันที่ 14 ตุลาคม สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของสาธารณะในภาพรวม ในบางช่วงยังมีการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อขบวนเสด็จ เป็นการข้ามเส้นแบ่งที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง
ขณะเดียวกันประเทศไทยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ก่อนหน้านี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาด จึงทำให้รัฐบาลได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 15 ตุลาคมตามมา
ด้านพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้และป้องกันเหตุกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมกันเอง ทั้งยังเฝ้าระวังไม่ให้ผู้หวังดีสร้างสถานการณ์ และควบคุมเรื่องการนำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม
โดยตำรวจยืนยันว่าการใช้อำนาจหน้าที่เป็นไปตามกฏหมาย ขณะที่สื่อต่างๆ สามารถมีสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ตามหลักสากล และดำเนินการอย่างมีขั้นตอนด้วยความอดทนอดกลั้นมาโดยตลอด เป็นไปตามกฎหมายไทยและตามพันธกรณีที่ไทยมีอยู่กับกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายกระบวนการดำเนินการในขั้นต่อไปของรัฐบาลในการรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องจากประชาชนทุกฝ่าย รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับประชาชน
นอกจากนี้ยังได้แจ้งให้ทราบถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเช้าวันนี้ที่ได้มีมติให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกและพิจารณาข้อเสนอของผู้ชุมนุมในประเด็นต่างๆ ซึ่งถือเป็นทางออกที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม