เอแบคโพลล์ชี้คนกรุง เสื่อมศรัทธาส.ว.-ส.ส.
เอแบคโพลล์ พบชาว กทม.-ปริมณฑล เกิดวิฤติศรัทธา ส.ว.-ส.ส. เชื่อ ส.ว. อิงพรรคการเมือง ส.ส. ทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกันไม่เชื่อมั่นองค์กรอิสระ โดยเฉพาะ กกต. ชี้ต้องเร่งปฏิรูปการเมือง ยอมรับ ปุระชัย เป็นคนกลางปฏิรูปการเมือง นพดล กรรณิกา แนะปฏิรูปการเมือง ต้อง ปลอดจากพวกล็อบบี้ยิสต์ ดุสิตโพลระบุปชช.สนใจเลือกส.ส.มากกว่าส.ว.
วันที่ 23 เม.ย. สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,846 ตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองวิกฤติศรัทธาต่อ ส.ว. ส.ส. และการปฏิรูปการเมืองในสายตาของสาธารณชน ระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2549
พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80 ให้ความสนใจติดตามข่าวสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด แต่แนวโน้มความรู้สึกและอารมณ์ของสาธารณชนในพื้นที่เป้าหมายต่อสถานการณ์การเมืองพบว่ามีความวิตกกังวลต่อปัญหาการเมืองสูงขึ้นจากร้อยละ 46.1 ในการสำรวจวันที่ 5 เมษายน (หลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศไม่รับตำแหน่ง) มาอยู่ที่ร้อยละ 71.7 เป็นผลมาจากปัจจัยของความไม่แน่นอนทางการเมืองขณะนี้ ทั้งความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ วิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อคุณภาพของ ส.ส. และ ส.ว. จะมีมากน้อยเพียงใด และการทำงานขององค์กรอิสระจะไม่เอนเอียงเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่
ส่วนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานขององค์กรอิสระด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น พบว่าศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนเกินร้อยละ 50 ขณะที่ ป.ป.ช. วุฒิสภา และ กกต. มีประชาชนไม่ถึงร้อยละ 50 ที่ให้ความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการทำงานของ กกต. พบว่าแนวโน้มของประชาชนเชื่อมั่นลดต่ำลงมากที่สุดจากการสำรวจทุกครั้งที่ผ่านมา จากร้อยละ 44.9 ช่วงปลายเดือนมีนาคม เหลือเพียงร้อยละ 31.7
สำหรับปัจจัยแห่งวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อสมาชิกวุฒิสภานั้น พบว่าประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 51.5 ระบุว่าการฝักใฝ่เอื้อประโยชน์ให้นักการเมือง รองลงมาคือร้อยละ 49.9 ระบุความไม่เป็นกลางของ ส.ว. ร้อยละ 47.7 ระบุความขัดแย้งและการแบ่งพรรคแบ่งพวก ร้อยละ 42.9 ระบุการทุจริตคอร์รัปชั่นและความไม่โปร่งใสการทำงาน ร้อยละ 40.8 ระบุการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าของประเทศชาติ และร้อยละ 39.7 ระบุมีระบบเครือญาติ ตามลำดับ
ขณะที่เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อ ส.ส. พบว่าร้อยละ 65.6 ระบุเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นและความไม่โปร่งใส รองลงมาคือร้อยละ 60 ระบุเป็นความขัดแย้งและการแบ่งพรรคแบ่งพวก ร้อยละ 53.9 ระบุการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าของประเทศชาติ ร้อยละ 51.7 ระบุเป็นการเลือกปฏิบัติของ ส.ส. และร้อยละ 50 ระบุการผูกขาดทางการเมืองของพรรคการเมืองใหญ่เป็นเหตุปัจจัยแห่งวิกฤติศรัทธา
ส่วนการยอมรับของประชาชนต่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ในการเป็นคนกลางเพื่อการปฏิรูปการเมืองนั้น พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.1 ยอมรับได้ ขณะที่ร้อยละ 13.9 ไม่ยอมรับ และร้อยละ 32 ไม่มีความเห็น สำหรับเหตุผลที่ประชาชนยอมรับ ร.ต.อ.ปุระชัย ได้คือ การเป็นคนดี ซื่อสัตย์ โปร่งใส ทำงานดี มีผลงาน เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ประเทศจะได้สงบ และความชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ยอมรับให้เหตุผลว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นคนตรงเกินไป แข็งกร้าว และเคยอยู่พรรคไทยรักไทย
สำหรับความเห็นของประชาชนต่อประเด็นต่าง ๆ ในการปฏิรูปการเมืองนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 ต้องการให้ขจัดเครือข่ายของขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ รองลงมาคือร้อยละ 82.3 ส่งเสริมการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ร้อยละ 79.4 ส่งเสริมสื่อภาคประชาชน ร้อยละ 74.8 เพิ่มบทบาทอำนาจองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ร้อยละ 72 จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการพัฒนาการเมือง ร้อยละ 71.8 ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้มแข็งตรวจสอบรัฐบาลได้มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 67.2 แก้ไขกระบวนการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระ ร้อยละ 66.7 แยกกลุ่มนายทุนที่ทำธุรกิจออกจากพรรคการเมือง ร้อยละ 64.6 ป้องกันไม่ให้รัฐบาลแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน และร้อยละ 57 ให้กระบวนการงบประมาณขององค์กรอิสระปลอดจากการควบคุมโดยรัฐบาล ตามลำดับ
ส่วนประเด็นที่เหลือที่ประชาชนเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย ได้แก่ การลดอำนาจนายกรัฐมนตรี ลดจำนวน ส.ส. ที่จะสามารถเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ ปลดล็อก 90 วัน ให้ ส.ส. ย้ายพรรคได้ก่อนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ประชาชนมีจำนวนก้ำกึ่งกันระหว่างเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย คือ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองคือ ร้อยละ 40 เห็นด้วย แต่ร้อยละ 41.9 ไม่เห็นด้วย
เมื่อสอบถามถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในสายตาของสาธารณชนเรื่องการปฏิรูปการเมืองให้แล้วเสร็จ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74 เห็นว่าไม่ควรเกิน 6 เดือน ขณะที่ร้อยละ 20.3 เห็นว่าน่าจะอยู่ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี และร้อยละ 5.7 ที่เห็นว่าควรมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือประชาชนในพื้นที่ที่ถูกศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.8 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย ถ้ารัฐบาลจะเป็นผู้นำในการปฏิรูปการเมือง ขณะที่ร้อยละ 13.8 ค่อนข้างเชื่อมั่น และร้อยละ 13.2 เชื่อมั่น ส่วนที่เหลือร้อยละ 22.2 ไม่มีความเห็น
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนกำลังตีกลับมาสู่สภาวะเดิมที่มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การเมือง แต่อยู่ในบริบททางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือบรรยากาศของความอึมครึมในการปฏิรูปการเมือง ปัจจัยหลายอย่างที่กำลังซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชนคือความไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์กรอิสระ และความไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการยอมรับได้หรือไม่ได้ของประชาชนต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สภาวะเช่นนี้อาจส่งผลทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองอีกได้ ดังนั้น ต้องสร้างบรรยากาศของความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในประเทศก่อน ซึ่งการชูเป้าหมายของการปฏิรูปการเมือง น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างกระแสให้สังคมเป็นหนึ่งเดียวกันก่อนเข้าสู่การเปลี่ยนถ่ายอนาคตการเมืองไทย
การปฏิรูปการเมืองจะต้องทำให้สาธารณชนทั่วไปเชื่อมั่นศรัทธาได้ว่า การเลือกตั้งระดับต่าง ๆ ของประเทศเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและตรวจสอบได้ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อมูล และหลักฐานต่าง ๆ ที่เพียงบ่งชี้ถึงพฤติการณ์ของฝ่ายการเมืองที่เข้าไปแทรกแซงหรือทำให้ความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้งของประชาชนผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติและแก่นแท้ของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เช่น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ้างพรรคการเมืองเล็ก ๆ เพื่อทำให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองใหญ่พ้นจากการแข่งขันกับตัวเองที่ให้ได้ความเป็นตัวแทนของประชาชนถึงร้อยละ 20 น่าจะถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ของอาชญากรทางการเมืองที่กำลังบั่นทอนความมั่นคงทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนของศาลยุติธรรม เพื่อไต่สวนพรรคการเมืองขนาดใหญ่มากกว่าการใช้ดุลพินิจของ กกต.ที่สาธารณชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในความเป็นอิสระจากการเมือง นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวต่อว่า การปฏิรูปการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควรทำให้กระบวนการไต่สวนเข้มแข็งและโปร่งใสสามารถถูกตรวจสอบได้โดยสาธารณชนทั่วไป การไต่สวนและความโปร่งใสโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมต้องได้รับการปกป้องอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือมาตรการและพลังขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังการปฏิรูปการเมืองจะต้องมีหลักประกันได้ว่า ปลอดจากพวกล็อบบี้ยิสต์ และความฝักใฝ่ส่วนตัวของคณะทำงานในองค์กรอิสระที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมือง นอกจากนี้ การปฏิรูปทางการเมืองต้องปฏิรูประบบงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กรอิสระด้วย เพื่อจะไม่ทำให้องค์กรอิสระตกอยู่ภายใต้อาณัติทางการเมืองของผู้มีอำนาจในรัฐบาล
ดุสิตโพลระบุปชช.สนใจเลือกส.ส.มากกว่าส.ว.
สวนดุสิต โพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,137 คน เรื่อง การเลือก ส.ส. กับ ส.ว. ในทัศนะของประชาชน สำรวจระหว่างวันที่ 19-22 เมษายน 2549
พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.35 ให้ความสนใจต่อการเลือก ส.ส. มากกว่า ส.ว. เพราะ ส.ส. ใกล้ชิดประชาชนมากกว่า ส.ว. และ ส.ส. เข้าไปทำหน้ที่เพื่อประชาชนโดยตรง ขณะที่ร้อยละ 25.07 ให้ความสนใจพอ ๆ กัน เพราะเป็นหน้าที่ของประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร้อยละ 10.54 ให้ความสนใจ ส.ว.มากกว่า เพราะได้เลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ มีเพียงร้อยละ 3.04 ที่ไม่ให้ความสนใจทั้งการเลือก ส.ส. และ ส.ว. เพราะเบื่อการเมือง ไม่ชอบนักการเมือง และเบื่อการเลือกตั้ง
ส่วนการตัดสินใจเลือกระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. อะไรตัดสินใจยากกว่ากันนั้น อันดับ 1 ร้อยละ 38.55 เห็นว่าการเลือก ส.ว. ตัดสินใจยากกว่าการเลือก ส.ส. เพราะมีคนสมัครมาก ต้องเลือกเพียงคนเดียว และไม่มีการหาเสียงจึงไม่ค่อยรู้ข้อมูล อันดับ 2 ร้อยละ 29.32 เห็นว่าตัดสินใจยากพอ ๆ กัน อันดับ 3 ร้อยละ 24.44 เห็นว่าการเลือก ส.ส. ตัดสินใจยากกว่า ส.ว. เพราะต้องดูตัวคนและพรรคที่สังกัด อันดับ 4 ร้อยละ 7.69 เห็นว่าตัดสินใจง่ายทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เพราะใช้เกณฑ์เลือกคนดีและคนที่ชอบ
สำหรับการเลือก ส.ส. และ ส.ว. การเลือกอะไรที่ซื้อเสียงมากกว่ากัน อันดับ 1 ร้อยละ 48.66 เห็นว่าการเลือก ส.ส. ซื้อเสียงมากกว่า ร้อยละ 38.84 เห็นว่าซื้อเสียงพอ ๆ กัน และร้อยละ 12.50 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่อยากไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อันดับ 1 ร้อยละ 51.41 เห็นว่ามีการเลือกตั้งบ่อยเกินไป อันดับ 2 ร้อยละ 26.47 เบื่อการเมืองมีแต่เรื่องขัดแย้ง และเหตุผลอันดับรอง ๆ ลงไปคือเลือกตั้งไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น นักการเมืองมีแต่กอบโกยผลประโยชน์