Thaiflix ไม่ได้ลอกใคร รัฐบาลเป็นเจ้าภาพทำแพลตฟอร์ม
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง Thaiflix ไม่ได้ลอกใคร รัฐบาลเป็นเจ้าภาพทำแพลตฟอร์ม
รมว.ดีอีเอส แจง Thaiflix เป็นเพียงแนวคิดตั้งแพลตฟอร์มไทย ช่วยให้อุตสาหกรรมบังเทิงไทยมีรายได้ “ปัด”ไม่ได้ลอกเลียนแบบ Netflix เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ยังไม่มีชื่อทางการ “เผย”ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมภาพยนต์ ยังมีเรื่องธุรกิจการขนส่งและอาหหารด้วย
วันที่ 4 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสแนวคิดสร้าง แพลตฟอร์มไทย Thaiflix เป็นช่องทางขึ้นมาแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศว่า เป็นแนวคิดที่ตนแนะนำในระหว่างจัดประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน "How to Empower Digital Citizenship in COVID-19 Era" เพื่อให้อุตสาหกรรมธุรกิจในหลายๆ ประเภท ได้มีทางเลือกในการแข่งขันและหาโอกาสเติบโตของธุรกิจ
แพลตฟอร์มของไทยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากคนไทยคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ ทำให้รายได้จากการใช้แพลตฟอร์มไหลออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้น หากมีแพลตฟอร์มของไทยไว้ใช้เองก็จะมีข้อดี จึงยกตัวอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เห็นภาพได้ชัดเจน ไม่ว่าละคร ภาพยนตร์ เกมโชว์ และสารคดีของไทยที่ดีๆ มีมากมาย
เรามีของดีในมือมาก ละคร หนัง เกมโชว์ต่างๆ แต่โดยปกติเราใช้ประโยชน์ครั้งเดียว เสร็จแล้วก็จบไป จึงยกตัวอย่างแพลตฟอร์มในลักษณะนี้อย่าง Netflix ที่รวบรวมเอาหนัง-ละครจากหลายๆ ประเทศมารวมกัน
ไม่ว่าเกาหลี จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สเปน ให้คนเข้าถึงสะดวกในการใช้งาน จึงคิดว่าคอนเทนต์หนัง-ละคร ไทยมีเยอะ ถ้ามีศูนย์รวมทำแบบนี้ ช่อง 3 5 7 9 11 ช่องวัน ช่องดิจิทัลก็มีคนทำ ถ้ามี เราก็ควรส่งเสริมให้เกิดการรวบรวม
โดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพทำแพลตฟอร์มกลางให้เอกชนเอาคอนเทนต์มาใส่ ไม่ว่าคนจะอยู่ที่ไหนก็ตามสามารถดูได้ ตอนนี้คนไปดูในยูทูบ ซึ่งก็เป็นคอนเทนต์หนึ่ง โดยบางทีเจ้าของหนัง-ละครไม่ได้อะไรเลย เม็ดเงินโฆษณาก็หายไปมาก
ซึ่งการนำมารวมกันตรงนี้ก็คล้ายๆ กับ Netflix ซึ่งนอกจากจะให้คนไทยได้ชมแล้ว เนื้อหารายการบางอย่าง หรือที่มีคอนเทนต์ดีๆ ก็สามารถนำไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย เพราะขณะนี้ตลาดทั้งอาเซียนก็สนใจดูหนัง-ละครไทย
Thaiflix คือแนวคิด
"คำว่า Thaiflix ยังไม่มีใครตั้ง เป็นเรื่องของแนวคิดและการพูดเปรียบเทียบให้คนเห็นภาพและเข้าใจง่าย ว่าหากประเทศไทยมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน
ตอนนี้เป็นแค่แนวคิด การที่จะผลักดันให้แนวคิดเกิดขึ้นได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้ประกอบการของธุรกิจนั้นๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้า หรือผู้ที่จะมาใช้บริการ " ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว
นายพุทธิพงศ์ กล่าวว่า การทำแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่นอกจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ผ่านมารัฐบาลพูดคุยกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านั้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ภาพยนตร์ แต่ยังมีธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ การซื้อขายของออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านๆ มาพบปัญหาการเก็บค่าบริการที่สูง บางเจ้าเก็บค่าบริการสูงถึง 30% และยังมีค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนร้านเล็กๆ สูงขึ้น และส่งผลให้ขาดทุน
รัฐบาลก็มีแนวคิดที่จะทำแพลตฟอร์มนี้ด้วย โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมาดำเนินการ ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีราคาถูกลง ไม่ไปปิดกั้นตลาดอื่นๆ ที่เป็นของเอกชน แต่จะมีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ให้ได้รับประโยชน์ โดยหัวใจหลักยังอยู่ที่ภาคเอกชน ที่สนใจเข้ามาร่วม และหากยังคงใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ คนไทยก็จะเสียผลประโยชน์ไปเยอะ
ดังนั้น ทุกคนก็ควรที่จะปรับแก้ธุรกิจ ส่วนกระแสตำหนิต่างๆ ตนคิดว่าการที่จะทำสิ่งใดควรต้องมีแผนรองรับ ดูยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่รับฟัง เพียงแต่หากยุคสมัยเปลี่ยน หากเราไม่คิดจะทำอะไรเลย เมื่อถึงเวลาแล้วเราจะปรับไม่ทัน ตนเลยโยนแนวคิดนี้ออกมา ถ้ามีคนสนับสนุน และมีคนสนใจก็จะดำเนินการต่อ เพราะเราก็รับฟังทุกคน
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น